--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ไอโอดีนและการปฏิรูป

ที่มา. มติชนออนไลน์
โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตามสถิติขององค์การอนามัยโลกใน พ.ศ.2550 มีประชากรเกือบ 2 พันล้านคนทั่วโลก ได้รับไอโอดีนน้อยเกินไป หนึ่งในสามของจำนวนนี้เป็นเด็กในวัยเรียน ทั้งๆ ที่สภาพการขาดสารไอโอดีนจนทำให้สมองบกพร่องนี้ เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ง่ายมาก

คุณอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีซึ่งพ้นตำแหน่งได้กล่าวในปาฐกถาอารี วัลยะเสวีในวันที่ 10 กันยายนว่า "ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า หญิงมีครรภ์กว่าร้อยละ 70 ในประเทศไทยไม่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ... ยิ่งไปกว่านั้น... เด็กแรกเกิดทุกจังหวัดในประเทศไทยมีภาวะขาดสารไอโอดีนในจำนวนที่สูงกว่าเกณฑ์"

การขาดสารไอโอดีนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคคอพอกดังที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากการขาดสารดังกล่าวและจากโรคคอพอกก็คือ เด็กที่ขาดสาร อาจมีตัวแกร็นและ/หรือมีความบกพร่องด้านสมอง คุณอานันท์ได้ชี้ให้เห็นสถิติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนบ่งบอกให้รู้ว่า ภาวะขาดสารไอโอดีนอย่างกว้างขวางในประเทศไทยนำมาซึ่งผลลัพธ์อะไร

จากสถิติของกรมอนามัย เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีระดับพัฒนาการต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา งานวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ค่าเฉลี่ยของเด็กไทยลดลงจาก 91 จุดใน พ.ศ.2540 เหลือ 88 จุดใน พ.ศ.2545 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเหลือเพียง 85.9 จุดเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ 90-110 จุด

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โลกได้พบความสำคัญของไอโอดีนในการเจริญเติบโตของเด็กมากว่า 100 ปีแล้ว ในประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 60 หรือ 70 ปี และกว่า 30 ปีมาแล้วที่ได้มีการย้ำให้เห็นถึงภยันตรายด้านสมรรถภาพทางสมองของการขาดสารไอโอดีน แม้แต่หนทางแก้ไขก็ได้ริเริ่มและดำเนินการไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้บังคับกันอย่างถ้วนทั่วเท่านั้น

หนทางแก้ไขที่ใช้ได้ผลมาในทุกสังคมคือการผสมโซเดียมไอโอไดต์, โปแตสเซียมไอโอไดต์ หรือไอโอเดตลงไปในเกลือที่ใช้บริโภค เรียกว่าเกลือไอโอดีน เกลือเป็นธาตุอาหารที่ขาดไม่ได้ แม้ในบางสังคมไม่ได้บริโภคเกลือในรูปของเกลือโดยตรง แต่ก็ต้องผสมไปในเครื่องปรุงชนิดต่างๆ ในประเทศที่ภาวะขาดไอโอดีนมีสูงมาก อาจต้องผสมลงในอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น แป้งสาลี, น้ำ และนม เป็นต้น

การผสมสารไอโอดีนลงในเกลือจึงเป็นวิธีที่ถูกที่สุด (ประมาณกันว่าจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ "ไม่กี่เซ็นต์ต่อเกลือ 1 ตัน") และเป็นวิธีที่ให้ผลคุ้มต่อการลงทุนที่สุด

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว เพราะต้องให้การศึกษาแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเกลือ หรือต้องเข้าไปกำกับควบคุมการผลิตและจำหน่าย ต้องมีการรณรงค์กับสาธารณะ กลุ่มพ่อค้า นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายต่างๆ หากคิดจะลงทุนเพียงการผลิตเกลือไอโอดีนเพียงอย่างเดียว ผลก็จะได้เพียงน้อยนิด ดังกรณีประเทศไทยซึ่งได้ชักจูงการผสมสารไอโอดีนลงในเกลือมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ใน พ.ศ.2548-9 ครัวเรือนไทยเพียง 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บริโภคเกลือผสมไอโอดีน ในภาคอีสานกลับน้อยกว่านี้เกินครึ่ง

(และซ้ำยังต้องเตือนด้วยว่า อาหารไทยใช้เกลือในรูปของเกลือโดยตรงน้อยมาก แต่ใช้เกลือผสมลงในเครื่องปรุงซึ่งมักซื้อหาที่ผลิตสำเร็จรูปมาแล้ว ฉะนั้นแม้แต่ครอบครัวที่ใช้เกลือไอโอดีนแล้ว ก็อาจไม่ได้บริโภคเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอ เพราะน้ำปลาไม่ได้ผสมไอโอดีน)

ควรกล่าวด้วยว่า สภาพขาดสารไอโอดีนที่เพียงพอนี้ นอกจากเกิดในประเทศโลกที่สามเป็นส่วนใหญ่แล้ว แม้ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็เริ่มมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะคำแนะนำของแพทย์ด้านโรคหัวใจให้ลดการบริโภคเกลือลง ทำให้ได้รับสารไอโอดีนจากอาหาร (ที่ไม่ใช่อาหารทะเล) น้อยลง ในขณะที่ความนิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูปซึ่งจำนวนมากนำเข้าจากต่างประเทศ ก็เป็นอาหารที่เครื่องปรุงไม่ได้ผสมไอโอดีนเช่นกัน

ประเทศไทยซึ่งนับถือศาสนาส่งออก จึงควรคิดเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ ด้วย เพราะหลังจากข้อเท็จจริงนี้ปรากฏในประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ก็คงมีกฎหมายที่บังคับให้ต้องผสมไอโอดีนในอาหารนำเข้าอยู่ดี ถึงตอนนั้นไทยก็จะตื่นตัวและหันมาออกกฎหมายบังคับให้เกลือที่ขายในประเทศต้องผสมไอโอดีน แต่กว่าจะได้ผลจนสามารถส่งออกได้อีก ก็ต้องเสียเวลาในการสักการบูชาศาสนาส่งออกไประยะหนึ่ง

นับเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน ที่หน่วยงานบางแห่งของไทยได้พยายามผลักดันให้ออกกฎหมายบังคับให้ต้องผสมไอโอดีนลงในเกลือที่ขายในท้องตลาด รวมทั้งสร้างสมรรถนะในการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ความพยายามนี้ไม่เคยบังเกิดผลเลย

น่าอัศจรรย์ที่อนาคตของประเทศที่มีความสำคัญเช่นนี้ กลับถูกละเลยตลอดมา ทั้งๆ ที่เกลือไอโอดีนไม่ได้เพิ่มต้นทุนการผลิตอีกกี่มากน้อย ซ้ำกระบวนการยังทำได้ง่ายจนกระทั่งผู้ผลิตเกลือรายย่อยก็สามารถทำเองได้ (หรืออย่างน้อยก็ลงทุนร่วมกันในราคาที่ไม่แพงนัก)

ต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือการผลิตเครื่องปรุงต่างๆ ซึ่งใช้ในครัวไทยเป็นอันมาก เช่น น้ำปลา การใช้เกลือไอโอดีนไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นนักก็จริง แต่ผู้ผลิตเชื่อว่าเกลือไอโอดีนจะทำให้กลิ่นของเครื่องปรุงเปลี่ยนไป การลงทุนจึงไปอยู่ที่ต้องแต่งกลิ่นให้กลับมาเหมือนเดิม แม้กระนั้นทุนที่ต้องลงตรงนี้ก็คงไม่มากนัก ที่มากกว่าก็คือการโฆษณาเพื่อสร้างความเชื่อถือในหมู่ผู้บริโภค

แม้กระนั้น เมื่อดูโรงน้ำปลาซีอิ๊ว ในเมืองไทยแล้ว ก็ให้น่าสงสัยว่า การผลักดันล้มเหลวลงไม่น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลทางการเมืองของนายทุนเจ้าของโรงน้ำปลา-ซีอิ๊ว เพราะคนเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองมากนัก (ผู้นำเข้าเครื่องปรุงจากต่างประเทศหรือซื้อสิทธิการผลิตเข้ามาผลิตเองในเมืองไทย แม้มีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่า แต่ผลกำไรจากส่วนนี้ไม่สู้จะมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์นม หรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ผลกำไรหลักน่าจะมาจากเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเสริมเกลือแร่ของนักกีฬา ซึ่งส่วนหนึ่งต้องผสมเกลือลงด้วย

เหตุใดความรู้ที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วในเมืองไทยจึงเป็นหมัน แม้ว่าการไม่ใช้ความรู้ทำให้บ้านเมืองไร้อนาคต เพราะเรากำลังทำให้เกือบครึ่งของลูกหลานของเราไร้สติปัญญาที่จะเรียนรู้อะไรได้ ทั้งๆ ที่หนทางจะแก้ไขเรื่องนี้ทำได้ง่ายมาก คือการออกกฎหมายบังคับให้เกลือที่ผลิตหรือนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย ต้องเป็นเกลือผสมไอโอดีนทั้งหมด

แต่การกระทำง่ายเพียงเท่านี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่แรงต่อต้านทางการเมืองไม่ได้มีมากเท่าไรนัก

ในระบบการเมืองซึ่งนโยบายระดับชาติมักไม่ได้เกิดจากการผลักดันในสังคม แต่เกิดขึ้นจากการผลักดันของหน่วยราชการ หรือการผลักดันของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น นโยบายที่ไม่ให้ผลประโยชน์แก่ข้าราชการและนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางอำนาจ, ทางธุรกิจ หรือทางคะแนนเสียงมักถูกละเลย แม้ว่านโยบายสาธารณะเช่นนั้นมีความสำคัญอย่างไรก็ตาม

การผลักดันของผู้ที่ห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ทำกันมาเป็นเวลานาน ก็อาจไม่บังเกิดผลเป็นพลังเพียงพอ ที่จะทำให้สังคมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันร่วมด้วย จนกระทั่งนักการเมืองต้องตอบสนองเพื่อหาเสียง โดยเฉพาะหากประเด็นที่ผลักดันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าตื่นเต้น เช่นภาวะขาดสารไอโอดีนดังที่กล่าวแล้วนี้ เพราะสื่อไม่สนใจนำเสนอต่อสังคม จึงไม่เป็นที่สนใจกว้างขวางนัก และพลังขับเคลื่อนสังคมก็ยิ่งน้อยลง

ความรู้ใดๆ ก็เป็นเพียงรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนสังคมได้

เช่นเดียวกับความสำเร็จในการปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ไม่ได้อยู่ที่จะผลักดันรัฐบาลชุดใดๆ รับภารกิจการปฏิรูปไปดำเนินการ แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถสื่อสารกับสังคมได้มากน้อยและต่อเนื่องเพียงไร และอยู่ที่ว่าแนวทางการปฏิรูปนั้น จะมีพลังพอขับเคลื่อนให้สังคมร่วมเคลื่อนไหวเป็นพลังทางการเมืองได้หรือไม่

หากทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าแนวทางการปฏิรูปจะดีวิเศษอย่างไร ก็จะเป็นความรู้ที่เป็นหมัน อย่างเดียวกับความรู้อีกมากที่เป็นหมันในสังคมไทยตลอดมา

เรื่องที่แก้ได้ง่ายๆ อย่างภาวะขาดสารไอโอดีนในหมู่ประชากร จึงเป็นตัวอย่างอันดีของการแก้ปัญหาด้วยความรู้ แต่ขาดพลังของสังคมหนุนหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น