ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ กลายเป็นหนังหน้าไฟและสายล่อฟ้า
ในฐานะเลขาธิการพรรค เขาต้องเป็นผู้ประสานผลประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งใน-นอกพรรค
ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล เขาต้องเป็นคนกลางกับทั้ง 7 พรรคร่วมรัฐบาล
ในฐานะนักการเมืองที่มีความฝัน ปั้น "อภิสิทธิ์" ให้เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เขาจึงเป็นทั้งลมใต้ปีก และเป็น "เงา" ที่มีแสงของ "อภิสิทธิ์" ทอดทับ
ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เขาเดินสายเจรจากับนายพลทุก เหล่าทัพ ตำรวจทั่วประเทศหลายหมื่นนาย อยู่ภายใต้การกำกับของเขา
ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี บางทีเขาลงนามในเอกสารว่า "รักษาการนายกรัฐมนตรี"
ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 รหัส "สร.2" รองจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เกือบ 2 ปี มีการปรับคณะรัฐมนตรี 5 ครั้ง แต่ชื่อ "สุเทพ" ยังอยู่ที่เดิมในฐานะศูนย์กลางขององคาพยพอำนาจใหม่
แต่ในคราว "อภิสิทธิ์ 6" ชื่อ "สุเทพ" จะกลายเป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
ด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า 5 ข้อ อาทิ 1.ระยะเวลาหาเสียงจำกัดเพียง 30 วัน ต้องใช้คนระดับเอ่ยชื่อมีคนรู้จักทั้งจังหวัด ครอบคลุมเขตเลือกตั้ง
2.วาระของสภาผู้แทนฯเหลือเพียง 15 เดือน ต้องใช้ตัวแทนพรรคที่มีบารมีในพื้นที่ ทดแทนบารมี "ชุมพล กาญจนะ"
3.หากต้องใช้ผู้สมัครหน้าใหม่ อาจไม่มีความพร้อมทั้งกระแส กระสุน
4.การว่างเว้นจากตำแหน่ง ส.ส.ไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี ส.ส.ในพรรค "อ้าง" ว่าขาดการประสานระหว่างสาขาพรรค
เหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด คือ "มติพรรค" ที่เป็นเอกฉันท์ตามสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแต่ต้องยอมรับด้วยข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธ
"สุเทพ" ปิดปาก-งดสัมภาษณ์ทั้ง หน้าไมค์-หลังไมค์ ในและนอกทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะถึงวันรับสมัครรับเลือกตั้ง เขาจะเปิดปากอีกครั้งวันที่ 9 ตุลาคม 2553 เพื่อปราศรัยหาเสียง
"ประชาชาติธุรกิจ" นำคำสัมภาษณ์-สนทนาพิเศษกับ "สุเทพ" ทั้งใน-นอก ชั่วโมงทำงาน หลายสถานที่ มาเรียบเรียง
เริ่มที่เรื่อง "สุเทพ" วิพากษ์พรรคตัวเอง และวิเคราะห์พรรคคู่แข่ง
เขาบอกว่า จุดแข็งของพรรค ประชาธิปัตย์ต่างไปจากพรรคของ "ทักษิณ ชินวัตร"
"พรรคนั้นอยู่ที่คุณทักษิณคนเดียว คิด ทำ และสั่งการคนเดียว แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของทุกคน ทุกคนคิดผ่านกระบวนการมา หน้าที่ของผมคือ ทำอย่างไรให้พรรคคิดเร็วกว่านี้ ทำเร็วกว่านี้ ให้ใกล้เคียงกับที่คนเดียวคิด แต่ประสิทธิภาพ ความฉับไวและแม่นยำต้องมี"
ดังนั้นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน "สุเทพ" จึงเป็นคนต้นเรื่อง-ค้นคิดเรื่อง "สมัชชาประชาธิปัตย์"
"สมัชชาประชาชนครั้งนั้นเราจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Appreciative Inquiry ที่แปลว่า กระบวนการสืบค้นพลังชื่นชม ชื่ออาจจะโรแมนติกนิดหน่อย เป็นวิธีการระดมความคิดเห็นที่จะนำพลังทางบวกด้านความคิดสร้างสรรค์มาหลอมรวมกัน มาสร้างความฝันแชร์กับคนอื่น ๆ"
หลักการกล่อมเกลาคนการเมือง "สุเทพ" ใช้กระบวนการแนว "ปฏิรูป-ปฏิวัติความคิด" ที่ "อ้างถึง" ป๋วย อึ๊งภากรณ์
"การจัดประชุมสมัชชาพรรค จะทำเหมือนครั้งหนึ่งที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนจดหมายถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง หรือจอมพลถนอม กิตติขจร ว่าผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร บอกมาเลยไม่มีการตีกรอบ"
เมื่อพรรคก้าวข้ามถนนราชดำเนินใน- ไปถึงทำเนียบรัฐบาล พรรคส่อแตก-ร้าว "สุเทพ" เป็นทั้งรอยร้าวและเป็นคนร่วมประสานให้แผลสมานสนิท
"ผมยืนยันว่าไม่มี เราหลอมรวมกันเป็นอันหนึ่งเดียวกัน และต้องหลอมรวมกับประชาชนด้วย นี่คือความคิดร่วมกันของ คนทั้งพรรค น่ามหัศจรรย์มาก" สุเทพ-บอกวัฒนธรรมพรรค
รัฐบาล "อภิสิทธิ์" ผ่าน "เส้นแดง" ผ่านความเสี่ยงเป็น-เสี่ยงตายหลายรอบ ในช่วง 2 ปี
แต่ทั้ง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ยังหล่อ-หลอมเป็นเนื้อเดียว
แม้มีเหตุปัจจัย-เงื่อนไขจากกลุ่มการเมืองภายในพรรค จะผลักให้ "สุเทพ" พ้นทาง "อภิสิทธิ์"
ด้วยการริบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 คืนชั่วคราว
ด้วยการริบงาน-เงิน และริบอำนาจ ในการครอบครองของ "สุเทพ" กลับสู่มือ "อภิสิทธิ์"
อย่างน้อยช่วงรณรงค์เลือกตั้งซ่อม 30 วัน คณะกรรมการระดับชาติที่ "สุเทพ" เคยนั่งเป็นประธานก็ต้องยุติ
อย่างน้อยตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และตำแหน่งในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ต้องถูก ปล่อยมือจาก "สุเทพ"
และทันทีที่กรรมการบริหารพรรคมีมติเป็นเอกฉันท์ "สุเทพ" จึงประกาศ "วางมือ-วางไมค์" กลับไปสู่สามัญ
"คนเป็นนักการเมือง จุดเริ่มต้นคือ การเป็น ส.ส. ทำหน้าที่ในสภา ถ้าจะปฏิเสธการลงสมัคร ส.ส.คงรู้สึกว่าไม่จริงใจ ดัดจริต" สุเทพบอก
ข้อโต้-แย้งเสียดสีกระทบกระเทียบว่าเขาเคยเป็น ส.ส.แล้วลาออกไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี "สุเทพ" อธิบายใหม่-ด้วยข้อมูลเก่าว่า
"คนอาจจะลืมเร็วไป ผมลาออกเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินว่ามีความผิดจากหุ้นที่ซื้อไว้ในปี 2536 โดยใช้กฎหมายที่ออกในปี 2550 ซึ่งผม ไม่เห็นด้วยจึงต้องลาออก แต่ถ้าไป เถียงกับ กกต.ก็ต้องไปสู้ในศาล ก็ไม่อยากไป"
แต่ภารกิจติดตัวของ "สุเทพ" ทั้งก่อน ลงรับสมัครเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งที่ยังคงต้องรับผิดชอบคือเรื่อง "สถาบัน" ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายพิธีงาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554
ยามเผชิญหน้าปัญหาการเมือง ภายใน-นอกพรรค "สุเทพ" ยึด พระราชดำรัสเป็นแนวทาง
"เวลาได้ยินพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใส่ใจไว้ตลอด คือ ที่พระองค์ท่านรับสั่งให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ผมจำใส่เกล้าฯไว้เสมอ และยึดเป็นแนวในการดำรงชีวิต ไม่มีอะไรที่เป็นอารมณ์ การเมืองก็มีธรรมชาติของการเมือง ดังนั้นต้องทำใจ"
แม้ยามถูกเสี้ยมจากฝ่ายตรงข้าม เรื่องความหมาง-เมิน กินใจกับ "อภิสิทธิ์" แต่ "สุเทพ" ไม่เคยหวั่นไหว ยังแสดงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข และปรารถนาดีกับ "อภิสิทธิ์" ทั้งต่อหน้า-ลับหลัง
"ผมมีความเชื่อมั่นว่า อภิสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดี และเขาเหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนี้ ดังนั้นผมจะต้องให้การสนับสนุนเขาทุกด้าน ทุกเรื่อง"
แม้ "ชวน" คือ "สัญลักษณ์" ความคิด "ฝ่ายนำ" ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้พิมพ์นิยมทางการเมืองของ "อภิสิทธิ์" จะมีแต่ "ชวน หลีกภัย" คนเดียว
แม้ "อภิสิทธิ์" จำลองแบบ "สัญลักษณ์" ของ "ชวน" มาเป็นสไตล์ตัวเอง
แต่ทั้ง "ชวน" และ "อภิสิทธิ์" มีมิตรแท้-ตลอดกาลชื่อ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" นักเลง-ลูกกำนันจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เพราะในทุกวิกฤตการเมืองของ "ชวน" มี "สุเทพ" เคียงข้าง
ทุกวิกฤตการเมืองของ "อภิสิทธิ์" มี "สุเทพ" เคียงข้าง
"พรรคประชาธิปัตย์มีวัฒนธรรมทางการเมือง ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี นี่คือประชาธิปไตย...นี่คือ ต้นแบบ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใครมาหักใคร"
สุดท้าย "สุเทพ" บอกว่า "ผมต้องพยายามชี้แจงให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจวัฒนธรรมแบบประชาธิปัตย์ และหากเป็นงานที่ง่ายเขาก็คงให้คนอื่นทำไปแล้ว เพราะเป็นงานที่ยากจึงเป็นงานที่เรา ต้องทำ"
และการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสุราษฎรŒ ธานี คืออีก 1 งานยากที่พรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้เป็นภาระ-พันธะของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น