--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ไขคำตอบเรื่องดอกเบี้ยที่ดินรัชดา

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการกฎหมายเป็นอย่างมาก เมื่อศาลแพ่งสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คืนเงินจำนวน 772 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าซื้อที่ดินจากกองทุนฯ ถนนรัชดาภิเษก ให้แก่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี (เป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท) หลังจากมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องจาก กองทุนฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน เรื่องโมฆะกรรมขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะ เบียนขายโฉนดที่ดิน 4 แปลงจำนวน 33 ไร่เศษมูลค่า 772 ล้านบาท และให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินคืน

ขณะที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องแย้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กองทุนฯคืนเงินซื้อขายที่ดิน 772 ล้านบาท พร้อมค่าเสียหาย ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างจำนวน 39 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ศาลแพ่งพิจารณาคดีนี้ไว้ 2 ประเด็น

หนึ่ง นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท วินิจฉัยว่า การที่คุณหญิงพจมาน เป็นภรรยาโดยชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการดังกล่าวของคุณหญิงพจมาน ถือเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องห้ามมิให้กระทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องการและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) คุณหญิงพจมาน จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นคู่สัญญาทำนิติกรรมกับกองทุนฯ(คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง)

โดยผลของกฎหมาย นิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 (การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ...การนั้นเป็นโมฆะ)

สอง เมื่อฟังว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ กองทุนฯมีสิทธิ์เรียกที่ดินคืนจากคุณหญิงพจมาน หรือไม่ และกองทุนฯจะต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่คุณหญิงพจมานหรือไม่

คำวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ถือว่า เสียเปล่าใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์และหน้าที่ของคู่กรณี การที่กองทุนฯโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินให้คุณหญิงพจ มาน หรือการที่คุณหญิงพจมานชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่กองทุนฯเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทรัพย์สินเพราะการที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ทั้งสองฝ่ายจึงมีหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ได้รับไปจากอีกฝ่ายหนึ่ง

คุณหญิงพจมาน มีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินคืนให้แก่กองทุนฯ ส่วนกองทุนฯมีหน้าที่คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้ทั้งหมด และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่คุณหญิงพจมาน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับตั้งแต่วันที่ คุณหญิงพจมานยื่นคำให้การ และฟ้องแย้งเป็นต้นไป(วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552)

แน่นอนว่า การคิดฐานดอกเบี้ยของศาลมาจากประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 7 ที่ระบุว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละ7.5 ต่อปี

แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ย่อมหมายถึงมิได้มีการทำนิติกรรมหรือสัญญาใดๆต่อกัน

นอกจากนั้นจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาว่าคุณหญิงพจมานมิได้มีความผิดทางอาญา แม้จะเป็นสัญญาที่ต้องห้ามตามกฎหมายโดยแจ้งชัดก็ตาม ถือได้ว่า ทั้งสองฝ่ายทำสัญญากันโดยสุจริต

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องนำหลักกฎหมายเรื่อง"ลาภมิควรได้"มาใช้ในกรณีดังกล่าว

หมายถึง เมื่อได้ทรัพย์มาหรือมีการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ รวมการไม่มีสัญญาต่อกัน(ประมวลแพ่ง มาตรา 406) ต้องมีการคืนทรัพย์

ปัญหาต่อมาคือ เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย ต้องคืนทรัพย์ต่อกันจะคืนกันอย่างไร

เรื่องนี้กฎหมายระบุไว้ชัดว่า ต้องคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าเป็นการรับมาโดยสุจริตก็ต้องคืนเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะที่เรียกคืน(ประมวลแพ่งฯมาตรา 412,413)ซึ่งหมายความว่า ถ้าเงินหรือที่ดินที่ได้รับมาเหลืออยู่เท่าไหร่ก็คืนเท่านั้นซึ่งในกรณีนี้ยังมีอยู่เต็มจำนวนทั้งสองฝ่าย

ปัญหาต่อมา ดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ที่รับมานั้น ใครจะเป็นผู้ได้รับ

เรื่องนี้กฎหมายระบุไว้ชัดเช่นเดียวกันว่า บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ (ประมวลแพ่งฯมาตรา 415วรรคแรก )ซึ่งหมายความว่า ดอกผลจากเงินที่กองทุนฯได้รับมา 772 ล้านบาทย่อมตกเป็นของกองทุนฯ เช่นเดียวกัน ถ้าคุณหญิงพจมานนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า รายได้จากค่าเช่าย่อมตกเป็นของคุณหญิง

ดอกผลที่ว่านี้ หมายถึงดอกผลที่เกิดขึ้นจริง เช่น กองทุนฯนำเงินไปฝากธนาคารได้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ไม่ใช่ร้อยละ 7.5

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ มีการนำหลักกฎหมายเรื่อง"ลาภมิควรได้"มาใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ และการนำ เรื่องอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 มาใช้นั้น ควรเป็นเรื่องที่มีสัญญาต่อกันและมีการทำผิดสัญญารวมถึงการทำละเมิดซึ่งคู่กรณีจะถูกลงโทษให้จ่ายอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูง

ดังนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแลคณะกรรมการกองทุนฯควรพิจารณาในการอุทธรณ์เรื่องนี้อย่างรอบคอบ

ที่มา.มติชน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น