ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวประวัติบุคคลเขียนยากเหลือเกิน ถ้ามีใครทำงาน ยาก ๆ สำเร็จ แค่นี้ผมก็ดีใจปลาบปลื้ม"
หนังสือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" เล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ใช่หนังสือพระราชประวัติ ไม่ใช่พระราชกรณียกิจ แต่ก็เป็นงานที่ยากทีเดียว ที่ "วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย" ทำได้สำเร็จ
"วิมลพรรณ" เป็นนักหนังสือพิมพ์ ถ่ายทอดในลักษณะรายงานของนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่รายงานข่าว มีข้อวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ตำราหม้อใหญ่ ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์
บ่ายแก่ ๆ จันทร์ที่ 27 กันยายน 2553 ห้องพิมานแมน โรงแรมโฟร์ซีซั่น ดูแคบไปถนัดตา เมื่อหนอนหนังสือเกือบ 500 ชีวิต เดินทางไปร่วมเป็นเกียรติงานแนะนำหนังสือ "เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ" โดย "วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย" กันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่, คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสามี พล.อ.ปฐมพงศ์ เกษรศุกร์, คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช, หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล และบุตรชาย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล เป็นต้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เขียนคำนำไว้ว่า คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เขียนหนังสือชีวประวัติของบุคคล 3 คน ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อันได้แก่คุณพจน์ สารสิน, ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตามลำดับ ปรากฏว่าหนังสือชีวประวัติบุคคลทั้ง 3 เล่ม เป็นที่นิยมของผู้อ่านอย่างมาก เนื่องจากคุณวิมลพรรณสามารถจับจุดที่น่าสนใจในแต่ละช่วงชีวิตมาเล่าได้อย่างน่าประทับใจ ในความดีงาม ความกล้า และความสามารถในแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยให้รายละเอียดประกอบจนเห็นผลงาน ความสามารถ และคุณความดีตลอดช่วงชีวิตของบุคคลนั้นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีวิธีการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านสนุกกับเรื่องได้ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีผู้ใหญ่ที่น่านับถือร้องขอให้คุณวิมลพรรณศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองและพัฒนาการทางการเมืองตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
การที่จะเข้าใจบทบาทตลอดจนความยากลำบากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการรับมือพัฒนาการต่าง ๆ ทางการเมือง และแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่เรื่อยมานั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในสภาวะแวดล้อมทางการเมืองเรื่องใหญ่ ๆ ที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วย ดังนั้น คุณวิมลพรรณจึงได้ค้นคว้าศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ซึ่งปรากฏว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ภายใต้การปกครองในรูปแบบใหม่ระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้าม และระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นพวกเดียวกันในบางเรื่อง อันมีผลต่อเนื่อง มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทำให้เข้าใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องเผชิญ ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ หนังสือเล่มนี้จึงมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและพัฒนาการทางการเมืองตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) จนถึงปัจจุบัน เป็นเสมือนหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในส่วนที่ปฏิสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างละเอียดตลอดรัชกาล
"หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่นำเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเรียบเรียงไว้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด และอย่างที่ทำให้เห็นความต่อเนื่องจากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่งได้เป็นอย่างดี มีข้อมูลที่เป็น เบื้องหลังของเหตุการณ์ที่น่าสนใจ และทำให้เข้าใจถึงความยากลำบากในการปฏิบัติพระองค์ ในฐานะพระประมุขของประเทศ"
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คงจะช่วยให้ผู้อ่านหลายท่านที่เคยหลงเชื่อความเห็นของ นักเขียนต่างชาติดังกล่าว ได้รับความกระจ่างและเข้าใจในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างถูกต้อง
จากหนังสือตอนที่ 21 "โศกนาฏกรรมของชาติ" ตอนหนึ่งที่เขียนว่า...มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระบรมศพพระเชษฐาธิราชในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้มีประชาชนคนหนึ่งที่มารอเฝ้าฯอยู่ ได้กราบบังคมทูลขึ้นมาว่า
"ต่อไปนี้ไม่มีในหลวงแล้ว"
พระองค์จึงทรงมีรับสั่งตอบปลอบใจประชาชนไปว่า
"ในหลวงยังอยู่ พระอนุชาต่างหากไม่มีแล้ว"
ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เมื่อ 17 มิถุนายน 2489 ว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสัตมวารถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน แม้จะมีพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรักษาพระอารมณ์และปฏิบัติพระองค์อย่างสง่างาม...."
ขณะที่ผู้เขียน "วิมลพรรณ" เปิดใจว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการให้คนไทยเห็นข้อเท็จจริงของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย แต่ผู้อ่านจะต้องพิจารณาเอาเองว่า เรื่องราวต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพราะไม่อยากจะใช้คำว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ แต่หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยของบ้านเมือง เล่าถึงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นผู้กำหนดบทบาทพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
"สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราอ่านทั้งหมดจะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง หรือใครก็ตามที่กระทำต่อบ้านเมือง มีบางคนที่เราอาจจะให้อภัยได้ มีบางคนเราไม่อาจให้อภัยได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับ วิจารณญาณของคนอ่าน เพราะพี่มีหน้าที่ให้ข้อมูลกับคน พี่ไม่ไปวิเคราะห์ หรือตัดสินคุณ"
วิมลพรรณบอกว่า ข้อมูลบางส่วนในหนังสือเล่มนี้ อาจไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เพียงแต่นำมาเรียงร้อยให้คนอ่านได้เห็นว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองบ้าง แล้วพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ถูกต้อง และรักษาบ้านรักษาเมืองมาอย่างไร ซึ่งอยากให้อ่าน และพิจารณากันเอาเอง
"อยากจะบอกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือเฉลิมพระเกียรติ แต่เป็นหนังสือบอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยว่า ท่ามกลางความเป็นไป การอยู่รอดของบ้านเมือง มีใครบ้าง ที่ได้ทำอะไรไว้ ที่เราควรจะให้อภัย หรือไม่ให้อภัย
วิมลพรรณเล่าถึงเบื้องหลังการเขียนของหนังสือเล่มนี้ว่า ใช้เวลากว่า 3 ปี ก่อนจะออกมาเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ แต่การค้นคว้าทำแค่ปีเดียว แล้วลงมือเขียนอีกหนึ่งปีครึ่ง เนื่องจากระหว่างค้นคว้ารวบรวมข้อมูล เกิดอาการป่วย ไม่สบาย ขณะที่เพื่อนสนิทที่ไปช่วยค้นคว้าก็เป็นมะเร็ง ฉะนั้น ก็ต้องรักษาเนื้อรักษาตัวกันก่อน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็เขียนจนจบ นับตั้งแต่ปี 2549
เธอยังเล่าว่า ได้ค้นคว้าเอกสาร หลักฐานจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายดำเนินการที่สูงมาก แต่ที่โชคดี คือมีโอกาสเข้าไปค้นคว้าข้อมูลในห้องสมุด State of Congress ของสหรัฐอเมริกา เรียกว่าเป็นคนไทยคณะแรกที่ได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารบันทึกต่าง ๆ ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายใน นำมาสู่การสอบทานความถูกต้องของเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8
"วิมลพรรณ" กล่าวว่า มีนักวิชาการสมัยใหม่พยายามใช้เอกสารต่างประเทศ เท่าที่อ่านเป็นการใช้เอกสารจากการเอาจากคนอื่นมาใช้ต่อ แต่ไม่ได้เข้าถึง source ของเอกสารอันนั้น ว่าจริง ๆ แล้ว นอกเหนือจากนั้นมันมีอะไร สิ่งที่พบจากการค้นเอกสาร พบว่ามีบางตอนที่เขาอยากจะหยิบมาเท่านั้น ก็หยิบมาใช้ และมีความคลาดเคลื่อนของเอกสารจากความเข้าใจผิดของ ผู้รายงาน มันมีอยู่ และเขามาแก้ตัวทีหลัง ว่ารายงานทีแรกคลาดเคลื่อน แต่ความจริงคืออะไร เขาไม่ได้เอามาใช้ เพราะจริง ๆ แล้ว การค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ ใคร ๆ ก็ค้นคว้าได้ไม่ยาก
"หากอ่านทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง บอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ท่ามกลางความเป็นไปของการอยู่รอดของบ้านเมือง มีใครบ้างที่ได้ทำอะไรไว้บ้าง เราอย่าไปเชื่อการรายงานของฝรั่ง ต้องมาสอบทานกับเอกสารของไทย หากดูรายงานสถานทูต เป็นการเอาเรื่องที่ไฮโซพูดกัน หรือหากจะทำเรื่องประวัติ มหาเศรษฐีไทย พี่มีข้อมูลเพียบเลย คนนี้นิสัยเป็นอย่างไร มีเมียกี่คน มีลูกกี่คน สถานทูตเขารายงานหมด"
"วิมลพรรณ" ยังเล่าว่า มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในลักษณะเฉลิมพระเกียรติมากกว่าเขียนถึงบริบททางประวัติศาสตร์ แต่หนังสือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" เล่มนี้ อยากให้เห็นถึงรัชสมัยของพระองค์ท่านว่า ทรงครองราชย์อย่างไร ทรงพระราชกรณียกิจในฐานะกษัตริย์อย่างไร โดยเน้นย้ำถึงการทำงานของพระองค์ท่านภายใต้รัฐธรรมนูญ
ถามว่า กังวลใจหรือไม่ หากมีการนำเนื้อหาในหนังสือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ไปอ้างอิง หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ?
"วิมลพรรณ" ตอบทันทีว่า "...ไม่กลัวเลย เนื่องจากเจตนาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีเจตนาทำลายเกียรติของผู้ใด แต่ความแน่วแน่อยู่ที่การค้นคว้าข้อมูล และร้อยเรียงให้ถูกต้องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับใคร หวังใจว่าผู้อ่านสามารถไตร่ตรองและใช้วิจารณญาณได้ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายเกียรติยศของใคร เขียนตามข้อมูลที่พบที่เห็น"
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น