ผมมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ China Three Gorges Museum ที่มหานครฉงชิ่ง ไปเห็นแล้วน่าตกใจถึงความยิ่งใหญ่ที่ได้พบถึงกระบวนการของการก่อสร้างอภิมหาโครงการของโลก คือเขื่อนสามโตรก หรือ Three Gorges Dam ซึ่งมีการประเมินกันไปต่าง ๆ นานา ว่าเขื่อนดังกล่าวจะกั้นน้ำปริมาณมหาศาลซึ่งอาจจะทำให้แกนโลกเอียงไป และอาจจะมีส่วนทำให้โลกร้อนตามสถานการณ์ได้ นอกจากนั้นก็มีการโจมตีถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคมที่ต้องอพยพคนนับล้าน กระทบต่อชุมชน โบราณวัตถุ วัฒนธรรม วิถีชีวิตมากมาย ซึ่งก็ว่ากันไป
แต่ที่น่าสนใจคือแนวคิด นโยบายและวิสัยทัศน์ของจีนที่สร้างโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งนอกจากนัยยะทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ว่ากันว่าจีนทำโครงการนี้ด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองด้วย นั่นคือแสดงให้โลกเห็นถึงพลังอำนาจของจีน ซึ่งชาติตะวันตกคงไม่สามารถทำโครงการที่ต้องอพยพผู้คนนับล้านเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน และยังเป็นการสำแดงฝีมือด้านวิศวกรรมของประเทศด้วย ซึ่งก็ตอกย้ำได้ดีว่าขณะนี้จีนก็ส่งยานอวกาศเสิ้นโจวประสบความสำเร็จและมีแผนที่จะบุกดาวอังคารและดวงจันทร์อีก ซึ่งก็คงจะจริง
แต่ในทางกลับกันก็มีการมองกันว่าแบบนี้จีนก็สุ่มเสี่ยงเกินไป เพราะเขื่อนดังกล่าวจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศหากมีการก่อวินาศกรรม หรือภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำที่มหาศาลจะโถมทับไปยังมหานครของจีนที่เป็นศูนย์กลางและหัวใจของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ พูดง่าย ๆ ว่าเพียงมีประเทศใดอุตริตั้งขีปนาวุธโดยมีเป้าหมายที่เขื่อนสามโตรกก็หนาวแล้ว
มิติที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งของการสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ได้ผ่านภาพยนตร์เรื่อง Still Life หรือ ซันเสียห่าว เหริน ที่คว้ารางวัลใหญ่ "สิงโตทองคำ" ซึ่งเป็นผลงานของ เจี่ยจางเคอ ผู้กำกับชาวจีนไฟแรงวัย 36 ที่มีเรื่องราวต่อต้านการสร้าง The Three Gorges Dam หรือ เขื่อนสามโตรกของทางการจีน ที่ใช้เวลาก่อสร้างมาแล้วถึง 12 ปี และเขือนนี้จะกลายเป็นงานวิศวกรรมโยธาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อมันเปิดใช้ในปี 2009 แต่ผลของการสร้างเขื่อนดังกล่าวยังผลให้ชาวบ้านรอบๆ บริเวณดังกล่าวตั้งเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมและต้องย้ายถิ่นฐานกันถึง 1.3 ล้านคน โดยในเรื่องกล่าวถึงคนงานสองคนที่กลับไปตามหาภรรยาในหมู่บ้านที่กลายเป็นเมืองบาดาลอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขือนยักษ์ดังกล่าว ซึ่งก็น่าหดหู่เช่นกัน แต่ที่ผมได้ไปดูแผนการย้ายคนของเขาก็ทำเป็นขั้นเป็นตอนในการย้ายเมือง ย้ายคนแถมสวัสดการเพียบ แต่ก็คงไม่คุ้มกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือความผูกพันบ้านเกิด ความรู้สึกในใจที่ยากจะหาอะไรมาทดแทนได้
ทั้งนี้ The Three Gorges Dam (เขื่อนสามโตรก) มีชื่อที่ชาวจีนเรียกว่า ‘ซานเซี้ยต้าป้า’ เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยการก่อสร้างของรัฐบาลจีน กั้นแม่น้ำแยงซี เมืองอี้ชาง มณฑลหูเบ่ย ประเทศจีน มีมูลค่างานก่อสร้างกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท ตัวเขื่อนมีความกว้าง 2,309 เมตร ความสูง 185 เมตร โดยมีเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้า (generators) จำนวน 26 ตัว เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้ามากกว่า18,000 เมกะวัตต์ วัสดุที่ใช้งานก่อสร้าง ประกอบด้วย ซีเมนต์ 10.8 ล้าน ตัน เหล็กเส้น 1.9 ล้านต้น และไม้แบบ 1.6 ล้านตัน เริ่มก่อสร้างปี1993 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2009 และต้องอพยพพลเมือง 1.3 ล้านจะต้องอพยพโยกย้ายออกไปจากพื้นที่นํ้าท่วม เป็นเขื่อนจีนใหญ่กว่าเขื่อนพลังไฟฟ้าฮูเวอร์ (Hoover Dam) ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเกือบ 10 เท่า
นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้จากดวงจันทร์ นับตั้งแต่กำแพงเมืองจีนเป็นต้นมา โครงการสร้างเขื่อนใช้คนงานทั้งสิ้น 25,000คน รัฐบาลจีนมีแผนการก่อสร้างเขื่อนสามโตรกนี้มาตั้งแต่ปี 1919 ในสมัยของ ดร.ซุนยัทเซ็นเพื่อป้องกันน้ำท่วมแต่ยังไม่สามารถเริ่มได้ เนื่องจากต้องอพยพประชาชนริมฝั่งแม่น้ำกว่า 3 ล้านคนออกจากถิ่นที่อยู่ ไม่เช่นนั้นบ้านเรือนของประชาชนต้องจมอยู่หลังเขื่อน ภายหลังจึงเริ่มก่อสร้างในปี 1994 (โดยไม่มีรายงานว่าอพยพคนไปไว้ที่ไหน) และเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา The Three Gorges Dam จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นที่ไม่เคยหยุดพักของจีนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก
วันที่ 21 ธันวาคม 2001 รัฐบาลจีนได้ประกาศ "มาตรการมุ่งสู่ภาคตะวันตก" (Imple-mentation Measures of the Go-West Policy)ครอบคลุมการให้สิทธิพิเศษภาษีทั้งจากภายในและต่างประเทศ และเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านทรัพยากรและพลังงาน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของภูมิภาคนี้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆ ตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ การสร้าง "เขื่อนสามโตรก" (Three Gorges Dam) ซึ่งจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนสามช่องแคบของแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)
หากเขื่อนขนาดยักษ์นี้สร้างได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้จะช่วยก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับมณฑลใกล้เคียงหลายแห่ง รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในด้านการขนส่ง ทำให้เรือเดินทะเลขนาด 10,000 ตันสามารถเดินทางถึงมหานครฉงชิ่ง (ปัจจุบันนี้ เรือขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดที่จะผ่านไปฉงชิ่งได้มีขนาดเพียง 1,500 ตัน) ช่วยเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากฉงชิ่ง เพื่อออกสู่ทะเลบริเวณมหานครเซี่ยงไฮ้
มีการประเมินและวิเคราะห์กันว่าวันใดที่เขื่อนสามโตรกสร้างเสร็จ ราคาสินค้าของจีนที่ผลิตจากทางภาคตะวันตก จะราคาถูกกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัวเนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลงมาก นอกจากนั้นค่าขนส่งยังจะถูกกว่าและรวดเร็วกว่านี้อีกมาก เมื่อเขื่อนสามโตรกเสร็จ จะทำให้เกิดทะเลสาบยาวถึง 600 กม. เรือเดินสมุทรขนาด 10,000 ตัน จะสามารถแล่นเข้าไปในใจกลางของจีน คือ นครฉงชิ่ง ได้อย่างสบายใจเฉิบ ตอนที่ผมตระเวนสำรวจตรวจตราดินแดนต่างๆ ของจีนนั้น รถราวิ่งได้สบาย
ที่สำคัญสินค้าย่อมจะลงมาสู่ทางมณฑลยูนนานผ่านทางแม่น้ำโขงและถนนคุนหมิง – กรุงเทพฯ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงตอนนั้นเขื่อนใหญ่ของสินค้าจีนก็พร้อมทะลักท่วมไทยอีกไม่นานวันแน่นอน
ซันเสียห่าว เหริน!!!!
ที่มา.โอเคเนชั่น
//////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น