--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นายกฯ ชูยุทธศาสตร์ ชาติเหนือพรรค ต้านเกมป่วนในสภา !!??

โดย. นพคุณ ศิลาเณร

เอาเป็นว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ผู้ถูกปรามาสว่า มีอายุสมองและขนาดจิตใจ ทางการเมืองเพียง 49 วัน ได้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ย่างเข้าปีที่ 3 แล้ว โดยพรรค ประชาธิปัตย์ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองเขี้ยวลากดินยังโค่นเธอไม่ได้

ภาพลักษณ์รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยามนี้ ถูกมองผ่านความมุ่งมั่นทำงานของ "นายกรัฐมนตรี" ว่า สดใส น่ารัก ขยันทำงาน และต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบด้วยแนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาแบบ "ชาติเหนือพรรค" ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กับฝ่ายแค้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้ความร่วมมือ เอาแต่เดินเกมป่วน ตีรวนรัฐบาลทุกรูปแบบทั้งในสภาและเตรียมก่อหวอดข้างถนน

จุดเด่นของยิ่งลักษณ์อยู่ที่ "กลยุทธ์" ทำงาน เธอเน้นภารกิจแบบ "ชาติเหนือพรรค" มากกว่าเอาใจฐานเสียงจากแนวร่วมประชาธิปไตยไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่เปิดจุดอ่อนให้พรรคประชาธิปัตย์นำมาล่อเป้าเล่นงานได้ถนัดนัก การโจมตีส่วนมากก่ออาการ "ตีรวนแบบนักเลงคุมซอย" โดยวนเวียนอยู่กับการป่วนแนวทางปฏิรูปการเมือง, การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท ในวาระสอง ต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ในขั้น "คณะกรรมาธิการ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา และกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ประเด็นทั้งหมดนั้น ยังไม่ร้อนแรงพอโค่นรัฐบาลได้ เพราะการโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในระดับอ่อน ไร้สาระ ทำได้อย่างมากแค่แสดงอารมณ์ชิงชัง ส่วนกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่ปักหลักชุมนุมอยู่สวนลุมพีนี แม้มีกองทัพธรรมจากสำนักสันติอโศกเข้าร่วมด้วย แต่แทบไร้ความสนใจ ไม่มีข่าว มีผู้ชุมนุมค่อนข้างเบาบาง แค่หลักร้อยคนต่อวัน

รวมความแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยัง ได้เปรียบทางการเมืองเหนือพรรคประชาธิปัตย์อยู่หลายขุม เพราะพลังต่อต้านรัฐบาลเปิดฉากเล่นกันในสภามากกว่าข้างถนน พรรคประชาธิปัตย์ใช้ยุทธวิธีเดิมๆ คือ ตีรวนทุกรูปแบบจึงขาดความสนใจจาก "กลุ่มกลางๆ" มาเป็นพลังหนุนช่วยการเชื่อมประสานพลังชุมนุมนอกสภาเป็นเพียงสะท้อนอาการ "เกาะเกี่ยวแนวร่วม" มากกว่าผนึกกำลังเพื่อรุกไล่ครั้งใหญ่

+ ความขัดแย้งเริ่มผ่อนคลาย

พลังกดดันนอกสภาทั้งกองทัพประชาชนฯ กลุ่มหน้ากากขาว และพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาล ได้ ทำได้เพียงเสียงขู่ เพราะกลุ่มคนชั้นกลางใน กทม.ยังนิ่งเฉย ประกอบกับเหตุการณ์จลาจลในอียิปต์มีส่วนสำคัญทำให้ "คนชั้นกลาง" หวาดหวั่นกับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในไทย

เป้าหมายการต่อต้านข้างถนน ยังผูกปมอยู่ที่ "ทักษิณ-กฎหมายนิรโทษกรรม" แต่คนชั้นกลาง และนักธุรกิจสนับสนุนกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ ส่วนปัญหาคอร์รัปชั่นยังพยายามงมเอาจากโครงการรับจำนำข้าว โดยฝ่ายต่อต้านพยายามลากความสัมพันธ์ว่า "ขาดทุน=การโกง" ซึ่งอยู่ในขั้นตรวจสอบของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

เหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศอียิปต์ ประชาชนถูกปราบและเสียชีวิตกว่า 800 ศพ มีส่วน "ลดทอน" อารมณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทยได้อยู่ไม่น้อย เงื่อนไขการปะทะกันทางการเมืองในไทยมีความแตกต่างจากอียิปต์อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ปัจจัยความขัดแย้งคล้ายกัน

ไทยในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งที่ก่อหวอดขึ้นระหว่างพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้มวลชนนอกสภามากดดันให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง แต่พลังเหล่านั้นกลับมีพื้นฐานอำนาจจากกลุ่ม "อำนาจเก่า" ที่ไม่พอใจ "ทักษิณ"

พรรคประชาธิปัตย์พยายามลากปัญหาการเมืองให้เป็นปัญหาทักษิณ แต่ดุลอำนาจทางทหารยังไม่ขานรับถึงที่สุดดุลอำนาจทาง "ทหาร" อยู่ในอาการ "นิ่ง" ไร้การเลือกข้าง นั่นเป็นเพราะเงื่อนไข "อำนาจนำในสังคม" อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

ส่วนอียิปต์ ปัญหาทางการเมืองเป็นความขัดแย้งกันระหว่างพรรคการเมืองร่วมมือประชาชนเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจทหารที่สนับสนุนรัฐบาลชั่วคราว ด้วยเงื่อนไขของทหารจึงทำให้เกิดการชี้ขาดทางอำนาจ แล้วนำไปสู่การปะทะกับประชาชนอย่างนองเลือด

สรุปแล้ว ปัจจัยอำนาจทหารทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดความแตกต่างกันระหว่างไทยกับอียิปต์ และเหตุการณ์ความรุนแรงในอียิปต์ย่อมเป็นบทเรียนการเผชิญหน้าทางการเมืองของไทย พร้อมๆ กัน "เหนี่ยวรั้ง" ชนชั้นกลางให้เกิด "สติ" ในปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น

สิ่งน่าสนใจคือ ดุลอำนาจในสังคมได้ส่อสัญญาณแปลกๆ ขึ้น และมีความหมายถึง "มิติหยุดสู้รบ" แม้เป็นเพียงมิติ "สลัวๆ" ก็ตาม แต่สะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งของสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านอำนาจเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

ภาพสะท้อนนี้เริ่มปรากฏขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่สัมพันธ์กับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต โดยการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หลายคดีมีคำวินิจฉัยออกมาแบบให้แล้วๆ กันไป เสื้อแดงและเสื้อเหลืองได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

แปลความอีกนัยยะว่า ดุลอำนาจสังคมเกิดการเปลี่ยนขึ้น ย่อมทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียเปรียบราวกับถูก "ปล่อยเกาะ" การประสานแนวร่วมนอกสภาก่อหวอดข้างถนน มีแนวโน้มไร้การสนับสนุนจากดุลอำนาจในสังคม

สรุปคือ สถานการณ์รัฐบาลได้เปรียบในเวทีรัฐสภา แม้พรรคประชาธิปัตย์เดินเกมตีรวน ป่วนรัฐบาลอย่างขาดสติ เท่ากับเพิ่มให้ภาพลักษณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีดูดี มีภาพด้านบวกทางการเมืองมากขึ้น

+ องค์กรอิสระที่พึ่งอำนาจสุดท้าย

เบื้องหน้าความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ เมื่อพิจารณาภาพปรากฏ เท่ากับรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย -นปช.ขัดแย้ง เผชิญ หน้ากับพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลข้างถนน แต่เนื้อแท้ความขัดแย้งยังเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง "ทักษิณกับเครือข่ายอำนาจล้าหลังในสังคม" ดังนั้น รัฐบาล-พรรคเพื่อไทยจึงเป็น ภาพสะท้อนการต่อสู้ของฝ่ายทักษิณ และพรรคประชาธิปัตย์คือตัวแทนของเครือข่ายอำนาจนำล้าหลังที่ถูกเบียดไล่ออกจากการเมืองไปทุกขณะ

ในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ "อำนาจทหาร" ในปัจจุบันอยู่ในภาวะ "นิ่ง" ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการทำงานภาย ใต้นโยบาย โดยรัฐบาลพยายามประนีประนอมกับทหาร เหตุการณ์พฤษภา 2553 ที่เกิดกระแส "เอาผิด" กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มากกว่าการเร่งรัดกระทำต่อ "ทหาร" ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติของ ศอฉ. ย่อมบอกท่าทีทหารได้ชัดเจน

แม้ดุลอำนาจทหารอยู่ในภาวะนิ่ง แต่การประนีประนอมที่เกิดขึ้นนั้น ทหาร "สบายใจ" กับยิ่งลักษณ์ เป็นการเฉพาะ โดยไม่ได้เอียงเข้าสู่พรรคเพื่อไทยหรือทักษิณ ดังนั้น ดุลอำนาจทางทหารภายใต้ การนำของยิ่งลักษณ์แล้ว รัฐบาลมีความได้เปรียบเหนือเครือข่ายอำนาจนำและพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจนำมีดุลอำนาจสนับสนุนลดน้อยลง การปลุกพลังมวลชนนอกสภามีความหมายเพียงให้เกิด "การเผชิญหน้ารุนแรงแล้วไปวัดผลกันในวันข้างหน้า" ปัจจัยกดดันข้างถนนเพื่อเร่งใช้ "สถานการณ์รุนแรง" ให้เกิดพลังบีบอำนาจทหารให้เลือกข้าง รวมทั้งรองรับอำนาจกระบวน การยุติธรรมได้มีทางออกกับแนวทางสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เกิดมรรคผลดังหวังไว้

ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์กับแนวร่วมด้านมวลชน รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรฯและ กองทัพประชาชนยังอ่อนแรง พลังที่มีน้ำหนักมากสุดคือ กระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่น ดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง พลังเหล่านี้ล้วนเป็นที่พึ่งทางอำนาจ "สุดท้าย" ที่เหลืออยู่ของพรรคประชาธิปัตย์

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตจึงเป็นการพยายามสร้างแนวร่วมใน "องค์กรอิสระ" ของแต่ละฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มุ่งหวังแรงกดดันจากเครือข่ายอำนาจเก่าช่วยบีบองค์กรอิสระให้มาเป็นพวก แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับพยายามใช้เงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนผ่านอำนาจและการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ "สมาชิกวุฒิสภา" ให้เกิดประโยชน์ เพื่อปลดปล่อยองค์กรอิสระออกจากฐานทางการเมือง แล้วอยู่ในภาวะนิ่งเหมือนทหาร

อุปสรรคของรัฐบาลอยู่ที่องค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.มีภารกิจชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ หากนายกรัฐมนตรีพลาดถูก ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญเล่นงาน นั่นหมายถึง ดุลอำนาจทหารมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ แม้มีนายกรัฐมนตรีใหม่เข้าแทนที่ยิ่งลักษณ์ แต่การสร้างมิตรภาพและประนีประนอมกับทหารย่อมเริ่มต้นใหม่ด้วยเช่นกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจะประคับประคองภาพลักษณ์ที่ได้เปรียบในการทำงานแบบ "ชาติเหนือพรรค" เพื่อเผชิญหน้ากับการตีรวน ป่วนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีความ "อดทน" ในระดับที่มากด้วยวุฒิภาวะทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

+ ทำได้แค่ป่วนและตีรวน

พรรคประชาธิปัตย์ยังโหมแรงแบบ "บ้า-เพี้ยน" ตีรวน ป่วน ในสภามากขึ้น โดยใช้เงื่อนไขของการแปรญัตติกฎหมายนิรโทษกรรมขั้นคณะกรรมาธิการ แล้วตอกย้ำเชื่อมโยงไปสู่การช่วยทักษิณเพื่อทำลายความชอบธรรมของการช่วยเหลือประชาชน

ประเด็นของสภาปฏิรูปการเมืองจะเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งแรกในช่วงต้นกันยายนเป็นอย่างช้า เวทีนี้ขาด ความร่วมมือจากพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้น การโจมตีสภาปฏิรูปการเมืองด้วยวิธีการลากไปผูกกับ "เวทีช่วยทักษิณกลับบ้าน" จะถูกนำมาป่วน และทำลายความน่าเชื่อถือ

การสร้างเวทีปฏิรูปการเมือง รหัสการทำลายของพรรคประชาธิปัตย์ยังเน้น การโฆษณาว่า เป็น "เวทีละครการเมือง" หรือสภาปาหี่ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในภารกิจ "ชาติเหนือพรรค" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แนวโน้มพรรคประชาธิปัตย์จะใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯเพื่อขยายผลการเดินเกมพลังมวลชนข้างถนน สถานการณ์กลุ่มมวลชน ต่อต้านที่สวนลุมพีนียังไร้เป้าหมาย ขาดพลังสนับสนุน กลุ่มนี้ชุมนุมกันไปเป็นวันๆ เพราะคาดหวังจะมีความเติบใหญ่จากปัจจัยกลุ่มพันธมิตรฯมาสมทบ แต่เงื่อนไขให้ "ส.ส.ลาออกยกพรรค" ยังเป็นขวากหนามการจับมือกับประชาธิปัตย์เพื่อออกมาร่วมต่อสู้ข้างถนน

สิ่งสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของกลุ่มพันธมิตรฯว่า จะลดทอนเงื่อนไขในการเคลื่อนมวลชนหรือไม่ เพราะเมื่อไร้กลุ่มพันธมิตรฯแล้ว แนวโน้มบ่งบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำได้แค่โวยวาย ตีรวน ป่วนในสภา พยายามใช้ปากลากโยง ผูกปมการเมืองทำลาย "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ" จนพันรอบตัวเองราวกับลิงแก้แหยากจะดิ้นหลุด

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น