โดย : วรุณรัตน์ คัทมาตย์
วันนี้คราบน้ำมันที่อ่าวพร้าวอาจจะเริ่มจางหายไปพร้อมคราบน้ำตาของชาวเสม็ด การท่องเที่ยวส่อแววดีขึ้นตามลำดับ
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น สิ่งที่น่าห่วงกว่าน่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของ 'เจ้าบ้าน' ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับกลิ่นน้ำมันหรืออาจจะมีปรอทร่วมด้วย
"ตั้งแต่มีคราบน้ำมันมาวันแรก รู้กันเลยว่าตรงนี้หาปลาไม่ได้ เราต้องขับเรือออกไปไกลกว่าเดิม ชาวบ้านก็ไม่มีใครไปทอดแหจับปลาแถบนี้เลย เขาก็กลัว(ปรอท)เหมือนกันแหละ"
นี่เป็นเสียงเล็กๆ ของ มนตรี มาพึ่ง หนึ่งในชาวประมงท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นว่าผลพวงจากคราบน้ำมันยังคงตามมารบกวนบ้านหลังใหญ่ของพวกเขา
มนตรีบอกว่าวันนี้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในอาหารทะเลของพวกเขาอีกต่อไป ชาวประมงต้องปรับแผนใหม่ในการออกหาปลา เขาเล่าให้ฟังท่ามกลางเพื่อนชาวประมงอีกหลายคนที่กำลังง่วนกับการแกะปลาตัวน้อยออกจากแหอวน
ไม่ใช่แค่คนหาปลาในกลุ่มของมนตรีกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่กับชาวประมงที่อ่าวอื่นๆ ของเกาะเสม็ดก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำมาหากินเช่นกัน
น้ำมันไป ปรอทมา
ปรากฏการณ์ 'กลัวปรอท' นี้เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์อื้อฉาวที่เพิ่งเกิดขึ้นกับท้องทะเลไทยฝั่งตะวันออกเมื่อเดือนที่ผ่านมา กับกรณีที่เกิดน้ำมันดิบรั่วไหลออกจากเรือขนส่งน้ำมัน คราบน้ำมันได้ไหล ทะลัก แผ่กระจาย เข้ามาสู่อ่าวพร้าวเกือบทั่วบริเวณ เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นวิกฤตหนักอีกครั้งหนึ่งของท้องทะเลไทยเลยทีเดียว
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีแถลงการณ์จากกรมควบคุมมลพิษออกมาว่าที่อ่าวพร้าวตรวจพบสารปรอทมากกว่ามาตรฐานถึง 29 เท่า แต่อ่าวอื่นๆ ตรวจสอบแล้วพบว่า ส่วนใหญ่มีปรอทไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้คือ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ต่อมาไม่นานก็ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปรอทที่พบในอ่าวพร้าวนั้นลดลงและไม่เป็นอันตรายแล้ว ทางฝ่ายของบริษัทต้นเหตุเองก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บกวาดคราบน้ำมันเหล่านั้นออกไปจนเกือบหมด มองผิวเผินหน้าหาดของอ่าวพร้าวตอนนี้แทบจะมองไม่เห็นคราบสีดำมันเงาสะท้อนตามผิวน้ำอีกแล้ว
แม้ว่าทางการจะออกมาให้ข้อมูลแล้วว่าปรอทที่พบนั้นไม่เกินค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวหลายคนยังคงกลัวว่ามันจะยังคงปนเปื้อนในน้ำทะเลที่ลงเล่น หรืออยู่ในอาหารทะเลที่รับประทานเข้าไป จึงมีความพยายามจากทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต่างก็ออกมาแถลงถึงความปลอดภัยของเกาะเสม็ด และทำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการเดินทางมาเที่ยวที่เสม็ดอีกครั้ง
บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออก ททท. ออกโรงให้ความมั่นใจว่า เกาะเสม็ดยังคงมีความสวยงาม มีเกาะเล็กเกาะน้อยรายรอบที่น่าสนใจ มีหาดอื่นๆ ที่ยังลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เมื่อเทียบดูแล้วเป็นเพียงผลกระทบเล็กๆ ที่กินพื้นที่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่อีก 95 เปอร์เซ็นต์ของเกาะ นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาเที่ยวและพักผ่อนได้
"เกาะเสม็ดยังไม่ได้เสร็จทั้งเกาะ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แถมยังมีสารปรอทแถมมาให้กับทะเลไทยอีก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะมามองว่าเราจะฟื้นมันยังไงให้มันกลับมาเป็นเพชรเม็ดงามดังเดิม"
นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐมองเห็นปัญหาแล้วไม่นิ่งเฉย ทั้งยังลงมือแก้ปัญหาได้อย่างกระชับฉับไว ในอนาคตอันใกล้การท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดน่าจะกลับมาคึกคักดังเดิม แต่ภายใต้การแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวที่กำลังดีขึ้น ในมุมหนึ่งประชาชนและนักวิชาการอีกกลุ่มยังมองว่าสถานการณ์นี้ยังคงต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องสารปรอทด้วย เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า สารปรอทเป็นองค์ประกอบทั่วไปของน้ำมันดิบ ในกรณีนี้สิ่งที่ยังไม่เห็นคือน้ำมันที่รั่วครั้งนี้มีปรอทอยู่เท่าไหร่ ซึ่งทางบริษัทที่รับผิดชอบควรจะต้องชี้แจงออกมา จะมีมากมีน้อยแค่ไหนก็ต้องมีตัวเลขมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ
"ถ้าบอกว่ามันไม่มีเลยเนี่ย เขาต้องมาแสดงหลักฐานให้เห็นชัดๆ หรือต้องออกมาบอกถึงแหล่งต้นตอของน้ำมันว่านำมาจากประเทศไหน รวมไปถึงสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันด้วย คือตัวซิลิคกอนเอ็นเอส(Slickgone NS) ตรงนี้ก็เหมือนกันเขาต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทราบ คือมองว่าสังคมเราทุกวันนี้เป็นสังคมที่ต้องเปิดเผยข้อมูล และเราก็เรียกร้องให้ทางบริษัทที่ประกาศตัวว่ามีธรรมมาภิบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้โปร่งใสให้มากที่สุด และข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องแสดงหลักฐานประกอบด้วย ไม่ใช่แค่พูด"
ความสุ่มเสี่ยงของเจ้าบ้าน
เกาะเสม็ดสำหรับคนทั่วไปอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม น่าเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด ไม่น่าแปลกใจเลยที่ในแต่ละปีเกาะเสม็ดจะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนกว่า 700,000 คนมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 1,500 ล้านบาท แต่สำหรับชาวเสม็ดแล้ว ที่นี่คือบ้าน คือที่ทำมาหากิน คือที่อยู่อาศัย คือสถานที่ที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ไปอีกนาน
การที่เกิดเหตุอันไม่คาดฝันเช่นนี้ขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชาวบ้านบนเกาะเสม็ด ซึ่งผลกระทบโดยตรงอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือความสุ่มเสี่ยงของชาวบ้านในเรื่องของอันตรายจากพิษปรอทไม่ว่าจะมีปรอทหรือไม่ หรือมีมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดีการที่ชาวบ้านบนเกาะจะได้รับพิษปรอท ถือเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เนื่องจากชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่บนเกาะทุกวัน ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แค่ชั่วคราวเหมือนคนต่างถิ่นที่เข้ามา ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังคงอยู่ต่อไป และต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้ ซึ่งถ้าหากไม่ระวังก็อาจจะได้รับสารปรอทเข้าไปแบบไม่ทันตั้งตัว
เมื่อได้รับเข้าไปแล้วก็อาจทำให้มีอาการผิดปกติของร่างกาย มีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ระบุว่า หากมีสารปรอทสะสมในร่างกายมากเกินไปจะส่งผลอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การเคลื่อนไหวของแขนขาและการพูดลดลง ระบบประสาทส่วนรับความรู้สึก,การได้ยิน,การมองเห็นบกพร่อง หายใจลำบากและปอดอักเสบ เป็นต้น พิษจากสารปรอทจะมีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับทางที่พิษเข้าสู่ร่างกาย ปริมาณที่ได้รับ และชนิดของสารปรอทที่ได้รับด้วย ดังนั้นไม่ว่าเกาะเสม็ดจะมีปรอทหรือไม่ สิ่งที่ชาวบ้านควรได้รับจากภาครัฐในตอนนี้คือการเยียวยาด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากสารพิษอันตราย
นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค อธิบายว่าในกรณีนี้ทางกรมควบคุมโรคได้มีการวางแผนเตรียมรับมือเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยในเบื้องต้นได้มีการร่างแบบแผนการดูแลตัวเองให้กับชาวบ้าน และเตรียมที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านต่อไป โดยอยากให้ชาวบ้านนำน้ำดื่มสะอาดไปจากฝั่งข้ามไปใช้บนเกาะ ส่วนน้ำสำหรับอุปโภคควรนำมาผ่านการกรองให้สะอาดก่อนใช้
ส่วนกลุ่มประมงท้องถิ่นที่ต้องออกไปหาหอยตามโขดหิน ช่วงนี้อาจพบคราบน้ำมันอยู่ ไม่แนะนำให้ไปสัมผัสกับคราบน้ำมันโดยตรง ส่วนเรื่องกลิ่นน้ำมันที่อ่าวพร้าวตอนนี้ทราบว่ากลิ่นเบาบางลงไปมากแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากออกเรือหาปลา แล้วปลาหรือสัตว์น้ำที่จับได้มีกลิ่นน้ำมันให้หลีกเลี่ยงทันที
"ตอนนี้ทางสาธารณสุขได้เตรียมแผนเรื่องนี้กันเต็มที่ เราวางระบบไว้กับทางโรงพยาบาลระยองเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราจัดเจ้าหน้าที่ลงไปสุ่มตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคัดกรองทุกอย่าง หรือหากใครมีอาการป่วย เราจะพามาตรวจเช็คให้ละเอียดเพื่อหาว่าอาการป่วยนั้นเกิดจากการได้รับสารพิษอันตรายหรือไม่ เบื้องต้นเราให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านเกาะเสม็ด เป็นด่านแรกในการตรวจคัดกรอง หากพบความผิดปกติก็ให้ส่งตัวมาที่โรงพยาบาลระยองได้ทันที"
เยียวยาทุกมิติ
นอกจากเรื่องการเยี่ยวยาด้านสุขภาพ ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งข้อคงไม่พ้นเรื่องปากท้องหรือรายได้ของคนเสม็ด ก่อนหน้าที่จะมีการจัดทำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดของภาครัฐนั้น ชาวเสม็ดได้ออกมาพูดผ่านสื่อว่าพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
กล้วย ทองมณี ชาวประมงท้องถิ่นที่อ่าวทับทิม ยึดอาชีพออกเรือหาหมึกมากว่า 40 ปี บอกว่า ผลกระทบเกิดกับคนทั้งเกาะ ตอนนี้ก็กำลังรอเงินชดเชยรายได้อยู่
ไม่ต่างกับ ไพศาล โชติการ เจ้าของแผงหาบเร่ขายอาหารบนเกาะเสม็ด บอกว่า รายได้ตอนนี้ลดลงไปครึ่งต่อครึ่ง รายจ่ายเท่าเดิมแต่รายได้ลดลง ลำบาก ตอนนี้ก็ปรับตัวโดยการเอาของมาขายน้อยลงกว่าเดิม และเขามองว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกอาชีพบนเกาะ และเห็นว่าเงินชดเชยที่ให้มาเพียงเดือนเดียวไม่น่าจะเพียงพอ เขาอยากให้ทางการเข้ามาดูแลในระยะ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย
ส่วน สุพัชญา แสงแก้ว พนักงานนวดแผนไทยของสวัสดีโคโค่ รีสอร์ท เกาะเสม็ด ก็สะท้อนความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รายได้ลดลงไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ยังรอเงินชดเชยอยู่ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอต่อไป หากนักท่องเที่ยวยังเงียบแบบนี้ ค่าชดเชยเดือนเดียวอาจไม่เพียงพอ
ทัศนะเหล่านี้สะท้อนได้ชัดเจนว่าชาวบ้านกำลังรอคอยความช่วยเหลือจากผู้รับผิดชอบอยู่อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ดร.อาภา หวังเกียรติ ก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า หากมองในแง่ท่องเที่ยว ตอนนี้ผลกระทบมันกว้าง ไม่ใช่แค่อ่าวพร้าว นักท่องเที่ยวที่มุ่งหมายว่าจะไปเที่ยวระยองส่วนใหญ่ก็มักจะไปที่เกาะเสม็ด แต่พอนักท่องเที่ยวเลิกเดินทางไปเสม็ด จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
"พอคนไม่ไปเสม็ดปุ๊บมันก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งหมดในภาพรวมของจังหวัด ไม่ต้องมองถึงเกาะเสม็ด ดูแค่ที่บ้านเพหรือหาดแม่รำพึงก็มีคนเห็นว่ามีปลาลอยขึ้นมาตายบ้าง เกยตื้นบ้าง หรือ มีเต่าตายเกยตื้น มันก็ทำให้เห็นว่าผลกระทบมันมาถึงแล้ว คนก็ไม่ไป กลายเป็นว่าระยองตอนนี้เหมือนโดน Delete ออกจากจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว"
เมื่อถามว่าผลกระทบนี้จะยาวนานแค่ไหน ดร.อาภา บอกว่าต้องติดตามดูต่อไป แต่ที่แน่ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทต้นเหตุ ต้องออกมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและเปิดเผยข้อมูลแบบโปร่งใส จริงใจ สิ่งนี้ก็จะเรียกความเชื่อมั่นได้มากขึ้น
ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ที่สุดแล้วหวังว่าคนที่จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกๆ มิติควรต้องเป็นเจ้าบ้านที่ผูกพันกับเกาะแห่งนี้มาตราบชั่วชีวิต
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น