--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เงินร้อนไหลออก !!??

คลัง.ชี้เงินไหลออกช่วงสั้น เป็นสถานการณ์"ม้วนกลับ"ของเงินทุน ด้าน"กิตติรัตน์"มั่นใจความผันผวนลดลง "เงินร้อน"ไหลออกเกือบหมด

ภาครัฐมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน เนื่องมาจากเงินทุนไหลออก ยังมั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะสั้น แต่ต้องชี้แจงให้นักลงทุนเข้าใจถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรทติ้ง) เหมือนกับที่ อินโดนีเซียและอินเดีย เผชิญนั้น สิ่งสำคัญสุด คือ เราต้องชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติทราบว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเวลานี้มีความแตกต่างกัน

ค่าเงินบาท,เงินทุนไหลกลับ,หุ้น,ตลาดหลักทรัพย์ฯ

กระแสเงินไหลออกจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้ของไทย เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และส่งผลให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวม 116,464.46 ล้านบาท และ ณ วันที่ 23 ส.ค. 2556 ถือครองตราสารหนี้สุทธิลดลงเหลือ 727,000 ล้านบาท จากที่มียอดคงค้างสูงถึง 870,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ร่วงลงอ่อนสุดในรอบกว่า 3 ปี ที่ระดับ 32.28 และดัชนีตลาดหุ้นร่วงจากระดับ 1,600 สู่ระดับ 1,275.76 จุด

"พื้นฐานถือว่ายังอยู่ในระดับดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนมาก ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง และดุลบัญชีเดินสะพัดก็ไม่ได้มีปัญหา ภาพรวมจึงถือว่ามีความแข็งแกร่ง" นายประสาร ย้ำ

สำหรับการส่งออกนั้น นายประสาร กล่าวว่า ธปท.คาดไว้อยู่แล้วว่าปีนี้การเติบโตคงไม่มาก แต่ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาล่าสุดอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ เพียงแต่การนำเข้าเองก็ลดลงตามไปด้วย และยิ่งถ้าหักการนำเข้าทองคำออก ระดับการนำเข้าก็ลดลง ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจึงค่อนไปทางสมดุล หรือ หากจะขาดดุลก็คงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลต่อพื้นฐานของอัตราแลกเปลี่ยน

"ที่เราอยากเห็น คือ อยากให้เขาได้วิเคราะห์และแยกแยะว่า เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ไม่อยากให้มีการเหมารวม และเชื่อว่าแต่ละประเทศในตลาดเกิดใหม่ก็คงกำลังเฝ้าติดตาม ดูว่าจะมีมาตรการอะไรในการจัดการบ้าง"นายประสาร กล่าว

ชี้ผันผวนช่วงสั้นจากเงินทุน 'ม้วนกลับ'

นายประสาร กล่าวว่า ช่วงนี้ยังมีเงินไหลออกอยู่บ้าง แต่การไหลออกไม่ได้มากนักและไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ โดยอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ถือว่ามีความยืดหยุ่นพอควร ซึ่ง ธปท.พยายามติดตามว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไปจนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจหรือไม่ หากเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป ทาง ธปท.เองก็มีเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลให้มีเสถียรภาพ

"เงินที่ไหลออกคงเป็นเงินระยะสั้น และเชื่อว่าเมื่อนักลงทุนหายแตกตื่นก็คงจะดีขึ้น สถานการณ์ในช่วงนี้เป็นเพียงการม้วนกลับของเงินทุนต่างประเทศ เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นมีปัญหา แต่พอเศรษฐกิจเขาเริ่มฟื้น เงินที่เคยเข้ามาก็กลับออกไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดา"นายประสาร กล่าว

'กิตติรัตน์'ระบุเงินร้อนไหลกลับเกือบหมด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า เท่าที่ติดตามดูสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ พบว่า หลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี 3) ลง ทำให้มีเงินร้อนที่เคยเข้ามาลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มไหลกลับออกไป

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้เงินได้ไหลกลับออกไปจนเกือบหมดแล้ว ดังนั้นเงินทุนที่เหลืออยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นเงินของนักลงทุนระยะยาว ซึ่งทำให้ตลาดมีแนวโน้มว่าจะผันผวนน้อยลง

"การที่ราคาหุ้นปรับลดลงในช่วงนี้ น่าจะเป็นจังหวะของผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม นักลงทุนระยะยาวก็คงสนใจลงทุน และเท่าที่ติดตามการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ก็พบว่า ยอดขายสุทธิของนักลงทุนกลุ่มนี้เริ่มลดลง และคงจะกลับมาเป็นบวกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า"นายกิตติรัตน์ กล่าว

มั่นใจอาเซียนรับมือเงินไหลออกได้

นายประสาร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับเงินไหลออกนั้น ว่าไม่มีความเป็นห่วง เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละประเทศในภูมิภาคได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันขึ้น เช่น การจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ หรือ CMIM ซึ่งมีวงเงินในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ รวมกว่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์ รวมทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ยืนยันว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง หากเกิดปัญหาขึ้น

ทั้งนี้ กองทุน CMIM ถือเป็นข้อตกลงระหว่างสมาชิก 13 ประเทศ ที่เรียกสั้นๆ ว่า ASEAN+3 ประกอบไปด้วย ASEAN+10 คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม รวมกับอีก 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพื่อสร้างระบบความร่วมมือทางการเงินให้ประเทศสมาชิกสามารถช่วยกันบรรเทาปัญหาวิกฤติทางการเงินได้ ในเบื้องต้นหากสมาชิกประสบปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น โดยเป็นการช่วยกันเองในระดับภูมิภาค นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือจากภายนอก หรือ องค์กรการเงินระหว่างประเทศอย่าง IMF

ก.ล.ต.ไม่ห่วงทุนไหลออก

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ไม่ได้กังวลใจกับภาวการณ์เงินทุนไหลออกมากนัก เพราะที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดว่า มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็ไม่พบว่ามีประเด็นใดที่น่าเป็นห่วง

สำหรับการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นเงินร้อนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ตั้งแต่ช่วงที่เฟดเริ่มดำเนินมาตรการคิวอี โดยเป็นการเข้ามาตั้งแต่ช่วงปี 2554 พอมาปีนี้จึงมีการไหลออกไปบ้าง ส่วนการปรับลดลงของราคาหุ้นนั้น ก็ควรต้องดูพื้นฐานของตัวบริษัทด้วย ซึ่งเวลานี้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 143 ราย ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี (บุ๊คแวลู)

"บุ๊คแวลู คือ มูลค่าตามบัญชี ซึ่งเป็นราคาตั้งแต่สมัยที่เขาสร้างโรงงานขึ้นมา ดังนั้นการที่ราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊คแวลู ก็หมายความว่า ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาตอนที่สร้างโรงงาน ซึ่งมักจะไม่ค่อยปรากฏ เมื่อไรที่ราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊คแวลู จึงถือเป็นโอกาสของการลงทุน"นายวรพล กล่าว

นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านระดับหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ไม่ได้ขาดดุลมาก รวมทั้งยังมีภาคธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม

"หาก เฟด ยกเลิกมาตรการคิวอีจริง ก็สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเพราะทำให้การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น และการส่งออกไทย ก็มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพี"

ต่างชาติแห่ร่วม 'ไทยแลนด์โฟกัส'

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมการจัดงาน ไทยแลนด์ โฟกัส 2013 วานนี้ (28 ส.ค.) ว่า มีนักลงทุนเข้าร่วมงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกเข้าร่วม 186 ราย และมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลถึง 112 แห่ง มีการประชุมในงานมากกว่าสองพันครั้ง แสดงให้เห็นว่าตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจไทยอยู่ในความสนใจของทั่วโลก

นายกฤติยา วีรบุรุษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.ภัทร กล่าวว่า เชื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ได้รับคำตอบที่เพียงพอในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยืนยันทำแน่ หลังจากนี้นักลงทุนต้องไปคำนวณดูว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลต่อบริษัทที่จะลงทุนมากน้อยเพียงใด และช่วงไหน เพราะแต่ละบริษัท และแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลไม่เท่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของนักลงทุน

"เชื่อว่าเงินลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทย แม้ในระยะสั้นอาจมีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่บ้าง แต่เงินที่ไหลออกไปในระดับแสนล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินต่างชาติที่ยังถือครองหุ้นไทยอยู่ปัจจุบันประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมการถือหุ้นแบบพันธมิตรลงทุน หรือการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการ ซึ่งถือมานานแล้ว ดัชนีที่ปรับลดลงหลายคนก็มองเป็นโอกาสในการลงทุน"

ด้าน นางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม หัวหน้าประเทศ และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า ผู้ลงทุนต่างชาติที่มาร่วมงาน ให้ความสนใจอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และบทบาทของไทยในการเชื่อมโยงการเติบโตของภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยมีภาคธุรกิจที่หลากหลาย พื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลังที่ระมัดระวังและมีความต่อเนื่อง ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นเศรษฐกิจชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตสูงในปัจจุบัน

ซีเรียและคิวอี กดบาททะลุ 32.20 ต่อดอลล์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้เปิดตลาดที่ระดับ 32.18-32.20 บาทต่อดอลลาร์ และได้อ่อนค่าไปถึงระดับ 32.22 บาทต่อดอลลาร์ แต่มีแรงซื้อเงินบาทกลับเข้ามา ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดของวัน อย่างไรก็ตาม มีแรงขายเงินบาทเพื่อซื้อดอลลาร์สหรัฐกลับเข้ามาอีกครั้ง ทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าไปแตะระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำสถิติใหม่ในรอบ 3 ปีอีกครั้ง ท่ามกลางปริมาณซื้อขายที่เบาบาง และปิดตลาดที่ระดับ 32.25-32.27 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทวานนี้ มาจากทิศทางของค่าเงินภูมิภาคที่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ นำโดยค่าเงินอินเดียที่มีความผันผวนค่อนข้างมากและทำสถิติใหม่อีกครั้ง ซึ่งความกังวลของตลาดวานนี้ ยังมาจากการชะลอมาตรการคิวอีของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความไม่สงบในซีเรีย ที่ตลาดห่วงว่า หากมีสงครามเกิดขึ้นจะทำให้ความต้องการดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทในระยะสั้น ยังคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนระยะถัดไปต้องติดตามการชะลอมาตรการคิวอี ทั้งระยะเวลาและวงเงินที่ลดลงด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น