--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณี : เปปทีน !!??

เนื่องจากมีสมาชิกแพทยสภาจำนวนมากมายังแพทยสภา เกี่ยวกับโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงสมองผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ เปปทีน ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ในโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบ PEPTIEN GENIUS (PEPTIEN GENIUS GENERATION) และอีกหลายโครงการโดยมีการกล่าวถึงความต้องการของผู้ที่จะเข้าเรียนและแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งแพทยสภา อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 7(6) กำหนดให้เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือปรึกษาหารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวิชาชีพแพทย์ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน

ซึ่งต่อมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา จำกัด (คุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว จากการที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์รับหน้าที่เป็นตัวแทนโฆษณาให้แก่ผลิตภัณฑ์เปปทีนผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย และต่อสถาบันแพทย์ในสังกัดของนิสิตนักศึกษาดังกล่าว ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย ในหมวดข้อพึงปฏิบัติของนิสิตนักศึกษาแพทย์โดยทั่วไป ข้อที่ 1.6 ว่า “ละเว้นการรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือนำไปสู่ความไม่เหมาะสมต่อความเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ องค์กรนิสิตนักศึกษาแพทย์ สถาบันแพทย์ และต่อวิชาชีพเวชกรรมหรือจรรยาบรรณแพทย์” โดยขอให้งดเว้นการนำนิสิตนักศึกษาแพทย์ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเครื่องดื่มดังกล่าว

ต่อมาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทำหนังสือถึงบริษัท โอสถสภาฯ เพื่อขอความร่วมมือให้งดแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน”  โดยระบุว่า โฆษณาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคได้ ทาง สคบ. จึงได้หารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันแพทยสภาและสำนักงาน อย. โดยพบประเด็นการโฆษณาที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คือ

1.การโฆษณาเกี่ยวกับสรรพคุณของเครื่องดื่มที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมอง เช่น ทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยจัดระบบความจำ เติมความรู้ที่ขาด รวมทั้งการสื่อให้เข้าใจว่าเมื่อดื่มแล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์

2.การโฆษณาที่สื่อให้เข้าใจว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะสอบติดทั่วประเทศ

3.ความเหมาะสมของการนำนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

4.การสื่อให้เข้าใจว่าหากเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะทำให้ได้เป็นแพทย์เกี่ยวกับสมองหรือแพทย์เกี่ยวกับตา ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นเพียงสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเท่านั้น การที่จะเป็นแพทย์ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมองหรือตา หรืออื่นๆ จะต้องเรียนต่อโดยสอบเข้าเฉพาะด้านที่สูงกว่าปริญญาตรี และการเข้ามหาวิทยาลัยตามปกติ

ต่อมา บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่านายประธาน ไชยประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท โอสถสภาฯ ระบุว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและระงับแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน” ที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์อยู่ในโฆษณาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแล้วนั้น ในนามของแพทยสภาขอขอบคุณ บริษัท โอสถสภา จำกัด ที่ได้ถอนโฆษณาเครื่องดื่มเปปทีนออกจากสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาของบริษัท

ในขณะนี้แพทยสภาได้ตั้งอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวยและการโฆษณา โดยมอบให้เลขาธิการแพทยสภาเป็นประธาน โดยมีหน้าที่เตือนประชาชน ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ให้ข้อสังเกตและทางเลือกแก่ประชาชน ตลอดจนควบคุมการประกอบวิชาชีพที่มีความเสี่ยงไม่น่าเชื่อถือ ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยผ่านการประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ออกประกาศ ข้อบังคับของแพทยสภา เห็นเนื้องานแล้วเหนื่อยแน่คงต้องมีองค์ประกอบของอนุกรรมการที่เหมาะสม ต้องมีดุลพินิจที่แม่นยำมากและไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่จำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชน ผมยินดีรับงานนี้ครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์

เลขาธิการแพทยสภา

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น