โดย : ดวงกมล สจิรวัฒนากุล
อย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งมารับประทาน ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน สัตว์น้ำ ที่มีการปนเปื้อน"นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยองแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ต่างรู้สึกกังวล ทั้งสารปนเปื้อนจากกลิ่นคราบน้ำมันที่ติดอยู่ตามชายหาด การปนเปื้อนในน้ำทะเล และอาหารทะเลที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
ซึ่งจากข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า น้ำมันดิบ ประกอบด้วย สารเคมีหลายชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ละอองน้ำมัน (oil fumes) ฝุ่นละออง (particulate matter from controlled burns) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไอโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) และ โลหะหนัก (Heavy Metals) เช่น สารปรอท (Mercury) สารหนู (Arsenic) และ สารตะกั่ว (Lead)
ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวัง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมประเมินผลกระทบและวางแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทั้งระยะเร่งด่วนและในระยะยาว
เบื้องต้นได้มีการจัดจุดตั้งรับที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกาะเสม็ด เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้หากประเมินพบว่ามีผลกระทบที่เป็นวงกว้าง อาจพิจารณาจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เกาะเสม็ดเพื่อติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยที่ผ่านมาว่า ในการวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนจากผลกระทบของน้ำมันดิบรั่วในทะเล แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขวางระบบไว้ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังผลกระทบเฉียบพลันจากน้ำมันดิบ โดยตั้งจุดตรวจคัดกรองและเก็บปัสสาวะของผู้ปฏิบัติงานกู้ภัยในการตักน้ำมันและกำจัดคราบน้ำมันภายหลังเลิกงานแล้ว
ซึ่งมีทั้งพนักงานของบริษัท ปตท. อาสาสมัคร ทหารเรือและประชาชนทั่วไปที่อาศัยในพื้นที่ เพื่อตรวจหาสารทีที มิวโคนิค แอซิด (t-t muconic Acid) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารเบนซีน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในน้ำมันดิบและเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดม หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจก่อให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง โรงพยาบาลมาบตาพุด โรงพยาบาลระยอง ร่วมดำเนินการ โดยได้เก็บตรวจจำนวน 300 คน ส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลระยอง โดยค่าปกติสารนี้ในปัสสาวะต้องมีไม่เกิน 500 ไมโครกรัมต่อกรัมครีเอตินีน
2.ตั้งหน่วยปฐมพยาบาลที่อ่าวพร้าว ดูแลรักษาอาการป่วย โดยทีมจากโรงพยาบาลระยอง ร่วมกับหน่วยพยาบาลของบริษัท ปตท.ตลอด 24 ชั่วโมง 3.ตั้งจุดดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด
และ 4.การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเล และอาหารทะเล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ได้เก็บตัวอย่างกุ้ง หอยแมลงภู่ ปู ปลา ในพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว รวมทั้งน้ำทะเลเพื่อมาตรวจวิเคราะห์เป็นข้อมูลพื้นฐาน เนื่องจากในช่วง 1-2 วันนี้ คาดว่าผลกระทบจะยังไม่เกิด และอีก 15 วัน จะเก็บมาตรวจซ้ำ เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างหรือสิ่งผิดปกติ เพื่อติดตามการปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งสารพาห์ซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งได้
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด ระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคม จำนวน 102 ราย ส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งมาจากการสูดกลิ่นของน้ำมันดิบเข้าไป
อย่างไรก็ตามปัญหาที่น่าห่วงจากการสอบถามผู้ที่ไปดำเนินทำลายคราบน้ำมันและเก็บปัสสาวะส่งตรวจพบว่า ส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันการสูด จึงต้องมีการติดตามตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมด้านการแพทย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวางแผนจัดระบบโดยให้โรงพยาบาลระยองดูแลอาสาสมัคร อสม. ในกลุ่มทหารเรือได้ประสานโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ติดตาม ส่วนพนักงานบริษัทได้ประสานให้บริษัทติดตาม
"กระทรวงสาธารณสุขล่าสุดได้เก็บปัสสาวะผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สัมผัสคราบน้ำมันดิบจำนวน 604 รายแล้ว เพื่อดำเนินการส่งตรวจเฝ้าระวังและมอบให้โรงพยาบาลระยองซึ่งเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ของกระทรวงเป็นศูนย์ข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการติดตามดูแลผู้สัมผัสสารกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง 2-5 ปี"ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้วางแผนติดตามสุขภาพประชาชน โดยร่วมมือกับกรมประมง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมติดตามประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจากห่วงโซ่อาหาร
จึงขอแนะนำให้ประชาชนอย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาดมารับประทาน หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน สัตว์น้ำ หรือวัสดุต่างๆ ที่มีการปนเปื้อน เช่น ลงเล่นน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ หากสัมผัสคราบน้ำมัน ควรรีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที สำหรับการเข้าไปอยู่อาศัยหรือท่องเที่ยวในบริเวณอ่าวพร้าว ควรงดเว้นจนกว่าการเก็บกวาดคราบน้ำมันจะเสร็จสิ้น
ขณะที่ รศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนี้ว่า คิดว่ากรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ในแง่สุขภาพต่อคนคงมีไม่มากและยังไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งปัญหาขณะนี้น่าจะอยู่ที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยามากกว่า ทั้งสภาพแวดล้อม สัตว์ทะเล
และเท่าที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาน้ำมันรั่วในต่างประเทศ แม้แต่อ่าวเม็กซิโก ประเทศอเมริกาก็เป็นในในทางเดียวกันที่ผลกระทบต่อสุขภาพมีไม่มาก และที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นเฝ้าระวังเฉพาะคนงานหรือประชาชนที่ลงไปสัมผัสและกำจัดน้ำมันดิบเท่านั้น ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ในตัวน้ำมันดิบแม้จะมีสารไฮโดคาร์บอน ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ถือว่าเป็นอันตรายมากนัก ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักนั้น เนื่องจากน้ำมันดิบที่ขนถ่ายมาแต่ละที่จะมีความแตกต่างกัน จึงไม่มีใครบอกได้ถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนนี้ ซึ่งในแง่สุขภาพคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังระยะยาวเท่านั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการดำเนินการเช่นกัน
"ในแง่สุขภาพขณะนี้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศวิทยามากกว่า และเมื่อเปรียบเทียบกับการปนเปื้อนน้ำมันตามท่าเรือหรือตามลำคลองบางแห่งก็มีการปนเปื้อนน้ำมันในน้ำเช่นกัน เพียงแต่กรณีที่เกาะเสม็ดอาจมีมากกว่า"หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น