--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นวิกฤติประเทศ !!??

กลายเป็นเรื่องที่ควรจับตาขึ้นมาทันที สำหรับปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีทั้งนักวิชาการ และหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจมากมาย ออกมาส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่อเค้าความน่าเป็นห่วงขึ้นในสังคมไทยมากขึ้นไปทุกทีๆ เพราะทันทีที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ออกมาชี้แจงถึงสถานการณ์ของปัญหานี้ว่าเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกู้ยืมภาคครัวเรือนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ผ่านมา มียอดการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 8.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.72 ล้านล้านบาท หรือนับเป็นการเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.25 ล้านล้านบาท หรือ 16.24%
   
และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสถาบันรับฝากเงิน ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ ที่มียอดการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี อยู่ที่ 7.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 6.83 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.6% โดยในส่วนนี้นี่เองยังมีการเพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงินอื่นๆ อาทิ บัตรเครดิต, ลีสซิ่ง, สินเชื่อบุคคล, บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต และอื่นๆ ที่มียอดการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 8.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.44 แสนล้านบาท หรือ 27.66%
   
ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พบว่ามีการปล่อยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.72 ล้านล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 2.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1.92 แสนล้านบาท 7.6% ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตา  เพราะพบว่ามีการปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 1.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.77 แสนล้านบาท หรือ 15.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และนี่เองคือตัวเลขการเพิ่มขึ้นในเบื้องต้นจากการปล่อยสินเชื่อของภาคต่างๆ ที่สะท้อนถึงภาวะ “หนี้ครัวเรือน” ที่เริ่มเข้าสู่ระดับอันตราย
   
ขณะที่ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังออกมาชี้แจงอีกว่า  ระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 40% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่น่าเป็นห่วง และใกล้เคียงกับสหรัฐ สิงคโปร์และมาเลเซีย และเรื่องนี้เองถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตหากรัฐบาลยังต้องการพึ่งพาการใช้จ่ายภาคประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
   
แต่ความร้อนแรงของปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุด “เอแบคโพล” ออกมาเปิดเผยถึงผลงานวิจัยเรื่อง ภาระหนี้สินของประชาชน กรณีศึกษา หัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุ 25-60 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1.2 พันตัวอย่าง พบว่ามากกว่า 61% มีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน โดยตัวอย่าง 30.6% ระบุต้องผ่อนชำระ 26-50% ของรายได้ต่อเดือน และ 26.4% ระบุต้องผ่อนชำระหนี้สินไม่เกิน 25% ของรายได้ต่อเดือน รวมถึง 4% ระบุต้องผ่อนชำระมากกว่า 50% ของรายได้ต่อเดือน ในขณะที่ 39% ระบุไม่มีหนี้สินที่ต้องชำระหรือผ่อนชำระ
   
ขณะที่ตัวอย่างกว่า 60% ระบุมีหนี้สินที่เป็นหนี้ในระบบมากที่สุด รองลงมา คือ หนี้นอกระบบ และหนี้ทั้งในและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มตัวอย่างยังได้แสดงความต้องการอยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดย 63.7% อยากให้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจัง รวมถึงอยากให้มีการปรับสมดุลราคาสินค้าให้มีความสอดคล้องกับรายได้และค่าแรงขั้นต่ำ จัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างครอบคลุม
   
“ปภาดา ชินวงศ์” ผู้จัดการโครงการวิจัยดังกล่าวระบุว่า  จากการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีภาระหนี้สิน สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินนอกระบบ รวมถึงภาระการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขนอกจากตัวกฎหมายในการควบคุม ยังรวมไปถึงการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนให้ทั่วถึง นอกจากนี้ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่มีการกู้เงินมาซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันจากนโยบายรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องที่จะนำไปสู่ภาวะหนี้เสีย รัฐบาลควรออกมาปลูกจิตสำนักให้ประชาชนในการนำหลักแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 ต้องการให้รัฐบาลนำหลักการดังกล่าวมาใช้อย่างจริงจังด้วย
   
ขณะที่ “เมธี สุภาพงษ์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาและให้ความสำคัญ  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีสัญญาณที่ชะลอตัวลง ทำให้ประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงอาจเป็นผลทำให้ช่วงนี้ “หนี้ครัวเรือน” ไม่เร่งตัวขึ้นแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมามากนัก แต่จากสัญญาณกลับพบว่ายังมีแรงส่งให้อัตราหนี้ครัวเรือนดังกล่าวเร่งตัวขึ้นได้ จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
   
“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมายืนยันด้วยว่า ขณะนี้แนวโน้มของอัตราหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มมีสัญญาณที่แผ่วลงจากช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา ซึ่งมีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง จากแรงส่งในเรื่องนโยบายประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถคันแรก รวมไปถึงการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคที่มีการเติบโตอย่างสูง โดยเรื่องนี้ สศค.ยังอยู่ระหว่างการติดตามความเคลื่อนไหวของตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด  เนื่องจากเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
   
ด้านภาคเอกชนอย่าง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB” ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยที่เกิดจากระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีขนาด 75% ของจีดีพี ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ 42% สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 30% สหกรณ์ออมทรัพย์ 15% บริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 10% และจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ บริษัทประกัน โรงรับจำนำ เป็นต้น อีกราว 3%
   
โดยโครงสร้างหนี้ครัวเรือนตามการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ แบ่งได้เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ 46% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ 29% รวมถึงสินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภค และอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสินเชื่อเงินสดด้วยที่ 24% เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2551 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ามองข้าม เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อรถยนต์ การใช้เงินผ่านบัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสดต่างๆ หรือคิดง่ายๆ คือในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาการใช้จ่ายด้านการอุปโภค-บริโภคในรายบุคคลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 5.4% ต่อปี
   
นี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายประการสำคัญเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมองข้ามเสียไม่ได้ เพราะการเพิ่มขึ้นของ “หนี้ครัวเรือน” สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ การพยายามจากรัฐบาลในการเร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ผ่าน “โครงการประชานิยม” อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป นั่นเพราะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนดึงเงินในอนาคตออกมาใช้จ่ายก่อนเวลาอันสมควร
   
ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านและต่อต้าน  “โครงการประชานิยม” สุดโต่งของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง และโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ช่วยทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต หรือมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง  เพราะเนื้อในแล้วกลับเต็มไปด้วย “หนี้สิน” ที่ถูกพอกพูนขึ้นจากแรงกระตุ้นของภาครัฐ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะอ้างว่า  “โครงการประชานิยม” จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น แต่นั่นคงเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
   
เพราะเมื่อผ่านมาในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง แรงส่งจากความสามารถในการใช้จ่าย การอุปโภค การบริโภคของประชาชนหมดหรือแผ่วลง ตามภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเป็นหนัก นั่นสะท้อนถึง ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในเนื้อแท้ว่า ไม่ได้มีการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเลย
   
โดยเรื่องนี้ “สมประวิณ มันประเสริฐ” รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งการบริโภคของภาคประชาชน ผ่านโครงการประชานิยม เหมือนเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้ และการบริหารประเทศด้วยนโยบายดังกล่าว ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ประชาชน “รวย” ขึ้นได้ในอนาคต แต่กลับเป็นการสร้างภาระหนี้ภาคครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นเสียมากกว่า
   
ดังนั้น การสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักคำว่า “เพียงพอ พอเพียง” น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด การชี้แจง ทำความเข้าในและกระตุ้นให้คนรู้จักการ “ออม” น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดสำหรับประเทศไทยในภาวะที่ต้องแบกรับหรือได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้
   
นี่ถือเป็นความท้าทายและเป็นความเสี่ยงของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ที่มีทั้งปัญหาภายในและนอกรุมเร้าเช่นนี้  นั่นเพราะปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่เกิดขึ้นนั้น กำลังสะท้อนถึงความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ที่รัฐบาลพยายามหมายหมั้นปั้นมือว่าจะใช้เป็นกลจักรสำคัญตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแทนภาคการส่งออกที่แผ่วแรงลงตามกำลังซื้อของทั่วโลก
   
หากรัฐบาลยังนิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว เชื่อได้เลยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ และในระยะต่อๆ ไปอาจถึงคราว “ติดหล่มหนี้ครัวเรือน” จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายตัวในระยะยาวก็เป็นได้ เนื่องจากแนวโน้ม “หนี้ครัวเรือน” ที่แม้จะทุเลาความร้อนแรงลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไป เพราะหลายฝ่ายยังประเมินว่า “หนี้ครัวเรือน” ยังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวอย่างช้าๆ อีกระยะหนึ่ง.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น