--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โต้ง-อาคม ยืนยัน ศก.ไทยไม่ถดถอย !!??



กิตติรัตน์-อาคม ยืนยันหนักแน่น!!! เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย มั่นใจเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อตัวเลขการส่งออก ลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาต่อยอดสินค้า

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวในรายการ  รัฐบาลยิ่งลักษณ์  พบประชาชน   ยืนยัน  ถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย  มั่นใจ  เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อตัวเลขการส่งออก  เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  ด้านนายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ  เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการปรับสมดุล โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นมาจากการบริโภคในประเทศ  หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว  ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มคุณภาพบุคลากร  การพัฒนาต่อยอดสินค้า

พิธีกร  :  ท่านผู้ชมหลายๆ คนเป็นห่วงว่า  ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย  เป็นห่วงว่าตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาส  ขณะที่สำนักข่าว BBC ก็รายงานว่า  ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ถ้ามองกันจริงๆ ทั้งเรื่องของการส่งออก  การท่องเที่ยว  การบริโภค  การลงทุน  เครื่องยนต์แต่ละตัวเป็นอย่างไร  ต้องเรียนถามท่านรองนายกฯว่า  แท้จริงแล้วเนื้อเศรษฐกิจเป็นอย่างไรบ้างคะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ก็ขอขยายความคำว่า  เศรษฐกิจถดถอย  คำว่า  ถดถอย  แปลว่า  ไม่สามารถรักษาระดับเดิมและก็ลดลง  เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงอัตราการเติบโตก็ต้องบอกว่า  เป็นอัตราที่ติดลบถึงจะบอกว่าถดถอย  ผมเข้าใจว่า  การตีความตรงนี้ไปดูตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  หรือว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 คือหมายถึง  ช่วงเวลาเดือนเม.ย.- มิ.ย.ของปี 2556 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ช่วงเดือนม.ค.- มี.ค. ปี 2556 หรือว่า  อาจจะอ้างถึงตัวเลขไตรมาสที่ 1 ของปีนี้นะครับ  เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

พิธีกร : คือเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่แล้ว

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ใช่ครับ  ซึ่งก็เห็นตัวเลขเป็นลบจริงนะครับ  แต่สำหรับผม  ผมคิดว่า  ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขประกอบตัวเลขที่มีความสำคัญมากกว่า  คือการเทียบกันกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าหากว่าดูไตรมาสที่ 2 ก็คือช่วงเม.ย. -มิ.ย. ปี 2556 เทียบกับเม.ย.- มิ.ย. ปี 2555 แล้วดูว่ายังโตอยู่หรือเปล่า  ถ้าหากว่ายังโตอยู่  แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย  ความจริงการที่เราติดลบลงจากไตรมาสก่อนนั้นมันมีคำอธิบายอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องปกติทั่วๆไปนะครับ  ยกตัวอย่างเช่นในไตรมาสที่ 2 มีเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนสำคัญของการหยุดพัก  เป็นเทศกาลประจำปีของประเทศถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 1 ซึ่งก็เป็นการทำงานค่อนข้างจะเต็มที่  เพราะฉะนั้นไตรมาสที่ 2 เทียบกับไตรมาสที่1 ก็จะมีลักษณะตรงนี้อยู่  แต่ว่าในปีนี้มีลักษณะพิเศษคือว่า  ในเดือนเม.ย. มี 2 เรื่องสำคัญ  เรื่องที่ 1. คือการที่เราหยุดรับแก๊สจากประเทศเมียนมาร์  เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์  ซึ่งก็ต้องประสานให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอการผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวนะครับ  เพื่อที่จะไม่ต้องใช้พลังงานมากจนเกินไป

เรื่องที่ 2. ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้  เป็นช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนหรือว่าค่าเงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นที่สุด  เท่าที่เคยปรากฎมาในช่วงระยะเวลาเป็นทศวรรษ  ซึ่งก็เป็นอัตราที่เคยแข็งที่สุด คือ 28 บาทเศษๆ ในช่วงเดือนเม.ย. ฉะนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกใจที่ภาคส่งออก  จะไม่สามารถทำงานได้ดีนัก ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นการที่เราจะเทียบไตรมาสที่ 2 กับไตรมาสที่ 1 ก็คงจะเป็นข้อมูลแค่ประกอบ  และไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเราถดถอย

พิธีกร  :  พอเห็นตัวเลข 2 ไตรมาสที่ลดน้อยลง  ทำให้คนตกใจว่า  เกิดสัญญาณถดถอยขึ้นหรือเปล่า  ท่านรองนายกฯ เปรียบเทียบว่า  ควรจะไปเทียบปีต่อปีมากกว่าไปเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา  ถ้ามองตัวเลขตรงนี้แล้ว  ดูฟันเฟืองด้านเศรษฐกิจทั้งส่งออก  การท่องเที่ยว  การลงทุน  การบริโภค ทั้ง 4 เครื่องยนต์หลักเป็นอย่างไรบ้างคะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ก็ยังเป็นบวกอยู่  ยกเว้นเรื่องส่งออก  อย่างที่เรียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำนวณเรื่องส่งออกที่แปลงเป็นเงินบาท  เราก็ติดลบลง  แต่เนื่องจากเหตุผลที่ได้เรียนไปว่า  เวลาค่าเงินบาทแข็ง  การจะแข่งขันและการส่งออกก็จะทำยากขึ้น  ความจริงผมเคยส่งสัญญาณมานานแล้วว่า  ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนเกินไป  ตั้งแต่ครั้งที่เรายังอยู่ในระดับประมาณ 32 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ  เมื่อปีก่อน  เสียดายที่มันได้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ค่าเงินบาทก็อ่อนตัว  และกลับไปอยู่ในระดับที่ผมคิดว่า  เหมาะสมและก็สามารถแข่งขันได้  เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจะไม่มีใครมาชี้อีกว่า  เราอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว  เพราะจริงๆ แล้ว  ช่วงที่แข็งค่าไปตรงนั้น  ถ้าจินตนาการว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นได้  ก็จะเป็นเรื่องดีกับเศรษฐกิจ  และจริงๆ มันก็เป็นความราบเรียบของค่าเงินบาทเอง  ที่จะอยู่ในประมาณ 31เศษๆ 32 เศษๆ  ก็เป็นช่วงที่ดีที่มีความสามารถในการแข่งขันได้  หากเรารักษาระดับความเสถียรภาพความต่างระดับไว้ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี  ทั้งในเรื่องการส่งออก  ทั้งเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อที่จะเกิดจากสินค้านำเข้า

พิธีกร  :  ท่านรองนายกฯ กำลังจะบอกว่า  เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาในขณะนี้  น่าจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจ  ส่งผลดีต่อการส่งออกในเร็วๆ นี้  ใช่ไหมคะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ใช่ครับ

พิธีกร  :  ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์คะ  ถ้ามองตัวเลขเศรษฐกิจเจาะลงไปในรายกลุ่ม  ไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา  เป็นอย่างไรบ้างกับการลงทุน  การบริโภค  กับการท่องเที่ยวคะ

อาคม  :  คือในแง่ของไตรมาสที่ 2 ผมย้อนไปนิดหนึ่ง  เมื่อปีที่แล้วหลังน้ำท่วม  การใช้จ่ายภายในประเทศค่อนข้างสูง  เพราะว่าชาวบ้านที่น้ำท่วมต้องใช้เงินไปซ่อมแซมบ้าน  โรงงาน  ก็ต้องสั่งซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ซ่อมแซมโรงงานใหม่  เพราะฉะนั้นปีที่แล้วค่อนข้างสูง  เพราะฉะนั้นปีนี้มันปรับตัวเข้าสู่ในระดับปกติของเรา  หลังจากค่าใช้จ่ายที่เราต้องเพิ่มมาเป็นพิเศษตรงนั้น  เพราะฉะนั้น  อย่างไรก็ตามแล้ว  ในเรื่องการใช้จ่ายของครัวเรือนหรือของประชาชนก็ยังเพิ่มอยู่  อย่างที่ท่านรองนายกฯ ได้พูดเมื่อสักครู่นี้  ถ้ามองเทียบกับปีที่แล้วยังบวกอยู่แน่นอน  เพียงแต่อยู่ในระดับที่ปกติ  เรื่องการลงทุนก็เช่นเดียวกัน  เพราะว่ามาตรการของรัฐ  โดยเฉพาะเรื่องของการเร่งรัดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ  เราก็จะเห็นว่าในช่วงไตรมาสที่1 ที่ 2 นั้น  การใช้จ่ายก็ยังสูงอยู่  ส่วนเรื่องของภาคเอกชนนั้นก็อาจจะมีติดขัดอยู่นิดเดียวตรงช่วงไตรมาสที่ 2 นั้น  การสั่งซื้อเครื่องจักรน้อย  ซึ่งก็น่าเสียดายตรงที่ว่า  ช่วงนั้นเงินบาทพอดีแข็ง  แทนที่จะได้ของถูก  แต่ว่าแน่นอนที่สุดถ้าก่อสร้างโรงงานไม่เสร็จก็ติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้อย่างชัดเจน

พิธีกร  :  ตอนบาทแข็งตรงนั้นจะเร่งนำเข้าสินค้าทุนก็ยังไม่มีมากนักในช่วงเวลานั้น

อาคม  :  ยังไม่มากนักครับตรงนั้น  ส่วนเรื่องส่งออกนั้นผมเรียนว่า  จริงๆ แล้วเราอาจจะเห็นผลของเศรษฐกิจโลก  ถ้าพูดถึงเรื่องถดถอย  ผมเห็นว่า  ยุโรปถดถอยแน่นอน  เพราะว่าปีนี้เขาติดลบ  อันนั้นชัดเจน  แล้วก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย  ซึ่งบวกกับในเรื่องของเรื่องบาทแข็งในช่วงเดือนเม.ย. แล้วก็มีวันหยุดด้วย  ฉะนั้นออเดอร์ส่งออกมาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 พอดีเลย  ฉะนั้นไตรมาสที่ 2 ตัวเลขส่งออกก็ติดลบ อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม 6 เดือนแรกส่งออกของเรายังบวกอยู่นะครับ  เราก็คาดว่าจริงๆ แล้วปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดในประเทศดี  เพราะฉะนั้นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมทั้งหลายก็ชิปสินค้าตัวเองมาขายในประเทศมาก  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถยนต์  ไม่ว่าจัดเป็นวัสดุก่อสร้าง  เพราะขายในประเทศได้ราคาก็ลดในเรื่องของตลาดต่างประเทศในปีนี้กลับมาอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนะครับ

พิธีกร  :  ถ้ามองที่ไตรมาส 3 วันนี้เราอยู่ในไตรมาส 3 คือเดือนก.ค. - ก.ย. ท่านรองนายกฯ มองไตรมาส 3 อย่างไรบ้างคะกับตัวเลขต่างๆ

รองนายกฯกิตติรัตน์   :  ผมก็มองว่า  เราก็ยังมีโอกาสที่จะขยายตัว  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ต้องยอมรับว่า  โลกมีการผันผวนมากจริงๆ หลายสิ่งหลายอย่างสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  แม้กระทั้งหน่วยงานสำคัญๆเศรษฐกิจของประเทศ  ผมจำได้ว่าในช่วงต้นๆ ไตรมาสที่ 2 กับกลางไตรมาสที่ 2 ยังห่วงว่า  เศรษฐกิจจะร้อนแรงไปหรือเปล่า  พอผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ไม่กี่เดือน  กลับกลายมากังวลร่วมกันว่า  เศรษฐกิจจะเติบโตดีพอหรือเปล่า  อย่างไรก็ตามผมคิดว่า  เราเองต้องมองเศรษฐกิจในเรื่องยาวๆ นะครับ  แล้วก็แนวทางในเรื่องการปรับสมดุล  ไม่อยากจะมองในเรื่องรายเดือนรายไตรมาสจนเกินไป  เพียงแต่ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลประกอบ  ทิศทางเดียวกันในทางที่ดี  สิ่งที่ประเทศกำลังต้องการคือ  การอยู่ในเวลานี้  คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้  ลงทุนแล้วก็จะกลายเป็นศักยภาพที่ดีเยี่ยม  เมื่อระบบต่างๆ เสร็จแล้ว  ประสิทธิภาพจะดีขึ้นนะครับ  ในช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนสำคัญก็คือเรื่องการใช้จ่ายผ่านภาครัฐ  เพราะว่าไตรมาสที่ 3 ของปี คือ ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ  การที่จะดูแลให้มีการใช้จ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามแผนยังเป็นส่วนที่รัฐบาลต้องทำงานอย่างจริงจัง  และควบคุมให้ได้นะครับ  อีกส่วนหนึ่งก็คือความสำคัญด้านมั่นใจ  เวลาเราพูดกันไปมากๆ ว่า  เศรษฐกิจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ผมก็เข้าใจ

พิธีกร :  มันเกิดผลทางจิตวิทยา

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  บางท่านอาจจะเตรียมที่จะซื้อสินค้าต่างๆ  เป็นปกตินะครับ  อาจจะกังวลบ้าง  แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ดีพอสมควรในไตรมาสนึงครับ

พิธีกร  :  ค่ะ ถ้ามองไตรมาส 3 แล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรที่จะอัดฉีดเศรษฐกิจออกมาไหมคะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ผมก็เลิกพูดคำว่า  อัดฉีด  เลิกพูดคำว่า  กระตุ้นมาเป็นเวลานานแล้วนะครับ  ความจริงส่วนที่เราต้องทำงานก็คือว่ากลจักรต่างๆ  ทั้งตัวหลักที่เรียกว่า  การส่งออกการลงทุนภาคเอกชน  การอุปโภค  บริโภคในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐ  ก็ต้องทำกันจริงจัง  นอกจากนั้นสามารถแตกแขนงเป็นเรื่องต่างๆ ได้  ขบวนการส่งออกก็หมายถึง  เรื่องการส่งออกสินค้า  การส่งออกบริการก็หมายถึง  การท่องเที่ยว  การใช้จ่ายภาครัฐก็หมายถึง  การใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการทั่วไป  การอบรมสัมมนาก็หมายถึง  การลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่  สิ่งเหล่านี้  เราทำงานกันอย่างจริงจังเต็มที่นะครับ  สร้างบรรยากาศให้ดี  นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสบายใจในการที่จะขยายกำลังการผลิต  ในการที่จะสร้างโรงงานต่างๆ  เศรษฐกิจก็ไปได้  เพราะฉะนั้นผมคิดว่าส่วนที่สำคัญถามว่า  ตอนนี้อยากทำอะไร  อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความยอดเยี่ยมของเศรษฐกิจไทย  แล้วก็ความมั่นใจร่วมกันมีไม่กี่ประเทศในโลกครับที่มีการกระจายตัวดีแบบไทย  แล้วก็มีอัตราการว่างงานต่ำ  คนไทยแทบจะทุกคนถ้าไม่เกี่ยงงาน  ถ้าไม่เลือกจนเกินไปเขาสามารถมีงานทำได้  สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกลจักรสำคัญ  ที่ทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตได้เป็นอย่างดีในช่วงปานกลาง ระยะยาว

พิธีกร  :  ค่ะ  แต่ถ้ามองปัจจัยเสี่ยงในช่วงเวลานี้  ท่านผู้ชมก็จะทราบเองว่า  ถ้าติดตามข่าวสารว่า  ปัจจัยเสี่ยงเรื่องของต่างประเทศ  เศรษฐกิจการขยายตัวของเอเชียเองรวมถึงจีนเป็นหลัก  มันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทยด้วย  วันนี้มองจีน มองเอเชียแล้วกลับมามองเรา  ความเสี่ยงมันเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน  การที่จีนแค่โตขึ้นน้อยลงนิดเดียวมันก็กระทบกับเราแล้วค่ะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ครับ  จริงๆ แล้วก็ยอมรับ  เราเป็นประเทศที่ยังพึ่งพาการส่งออกมาก  แม้ว่าจะทำงานกันมาระดับหนึ่ง  จนเริ่มจะพึ่งพาเรื่องอื่นๆ มากขึ้น  ก็ยังพึ่งพาการส่งออกมาก  ก็จะต้องได้รับผลกระทบ  ถ้าหากว่าโลกมีความขลุกขลัก  แต่ว่าจีนถ้าจะเติบโตชะลอลง  เขาก็ยังจะเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าคนอื่นๆ  แล้วก็เติบโตเร็วกว่าเรา  เพราะฉะนั้นการที่เราจะเป็นผู้ค้าผู้ขายที่ดีกับเขาก็จะเป็นเรื่องที่หวังได้  ประเทศในอาเซียนเองก็ยังเป็นประเทศที่มีการขยายตัวที่ดีนะครับ อย่างไรก็ตาม  ขออนุญาตเรียนว่า  ความพร้อมของเราในขณะนี้เราสามารถที่จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี  เงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 170 พันล้านเหรียญสหรัฐ  สภาพคล่องที่เป็นเงินบาทที่ดูแลอยู่ในระบบธนาคารกลางมีในระดับที่สูง  แล้วก็ส่วนอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวลถ้าหากว่า  อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนไปจะเป็นอย่างไรต่อ  ราคาน้ำมัน  กองทุนน้ำมันของเรา  ในช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็ง  เราก็รักษาความเข้มแข็งไว้ดี  กองทุนน้ำมันสามารถที่จะติดลบขึ้นไปถึง 2-3 หมื่นล้านได้  เราเคยอยู่ในระดับนั้น  ดูแลความไม่ผันผวนของน้ำมันขนาดนี้  กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีจำนวนมูลค่าเป็นบวกเกือบหมื่นล้านนะครับ  เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนไป  น้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งเกิดจากสถานการณ์ตรึงเครียดในตะวันออกกลางเกิดขึ้น  เราก็จะสามารถประคับประคองราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้อยู่ในระดับที่เป็นอย่างนี้  โดยไม่กระเทือนเงินเฟ้อได้ในระยะที่นานเลยทีเดียว

พิธีกร  :  คือกำลังจะบอกว่า  ยังมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะสามารถเข้ามาบริหารจัดการดูแลได้  ไม่ให้ราคามันผันผวนสูงจนเกินไป

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ใช่ครับ  เพราะฉะนั้นภูมิคุ้นกันในเรื่องต่างๆ  ผมคิดว่า  อยู่ในภาวะที่เข้มแข็ง  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะบอกว่า  ไม่กระทบเลยเวลาที่โลกเขาผันผวนก็คงไม่ถูกต้องนะครับ

พิธีกร  :  ในส่วนของท่านอาคม  มองตรงนี้อย่างไรคะ

อาคม  :  ช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับสมดุลอย่างที่ท่านรองนายกฯ พูดเมื่อสักครู่นี้  จริงๆ แล้วผมอยากเรียนเพิ่มเติมในเรื่องของไตรมาส 2 นิดหนึ่งมีสัญญาที่ดีอยู่ 3 เรื่อง  เรื่องที่ 1. คือเรื่องท่องเที่ยวของเรานั้น  ไม่มีใครพูดถึงเลยท่องเที่ยวยังต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิแน่น  สนามบินดอนเมืองแน่นตลอด  และสนามบินที่ต่างจังหวัดนักท่องเที่ยวไปกันเยอะ เรื่องที่ 2. คือราคาสินค้าเกษตรเราอาจพูดเฉพาะเรื่องข้าว  แต่จริงๆ ข้าวเป็นสินค้าเดียว  ต้องพูดสินค้าอื่นด้วย สินค้าอื่นอย่างพวกมันสำปะหลัง ข้าวโพด  อะไรพวกนี้ปรับตัวดีขึ้น  เพราะฉะนั้นตรงนี้เองทำให้รายได้ภาคเกษตรนั้นก็ดี  อีกอันที่อยากจะเรียนว่า  เวลาพูดถึงเศรษฐกิจจีนนั้นกระทบ  ไม่ใช่กระทบเฉพาะประเทศไทย  แต่กระทบในอาเซียนด้วยพวกผลิตชิ้นส่วนต่างๆ  ประเด็นตรงนี้คือว่า  มันมีการปรับโครงสร้างใหม่  เพราะว่าการแสวงหาวัตถุดิบ  การให้ประเทศใดประเทศหนึ่งผลิตชิ้นส่วนแต่เพียงประเทศเดียวไม่เป็นจริงต่อไปเพราะเกิดความเสี่ยง  เพราะฉะนั้นตรงนี้เองเมื่อจีนกระทบมันจะมากระทบประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนด้วย  เรื่องที่ 3. คือเรื่องของเทคโนโลยี  เทคโนโลยีวันนี้ถ้าเราเห็นว่าอิเล็กทรอนิกส์  เราส่งออกไม่ดีเท่าไรแต่จริงๆ มันมีเหตุผลเบื้องหลังคือว่า  วันนี้เราเองเคยเป็นผู้ส่งออกในเรื่องของ desktop computer notebook แต่วันนี้ทุกคนหันไปใช้แท็บเล็ตกันหมด  เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน  เราเองนักลงทุนที่ลงทุนในประเทศไทยก็เริ่มที่จะต้องคิดในเรื่องนี้ว่า  ต้องเปลี่ยนรูปแบบสินค้าใหม่เลย  ทำให้ช่วงส่งออกของเราซึ่งเราพึ่งพาค่อนข้างเยอะ มันก็เลยตกไปตรงนี้

พิธีกร  :  พอการส่งออกชะลอตัวไปแบบนี้  มันจะกระทบไปอย่างต่อเนื่อง  กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคต่างๆ ต่อเนื่องไปด้วย

อาคม  :  ที่นี้อีกจุดหนึ่งที่เรียนไม่ว่าจะเป็น ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 ที่เราเห็นก็คือว่า  เศรษฐกิจภายในประเทศนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนมากขึ้น  เมื่อเทียบกับภาคการส่งออกอยู่ประมาณ 60-70 %  แต่วันนี้เราเริ่มจะใช้เศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น  เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดว่า  จะขับเคลื่อนในช่วงไตรมาสที่ 3 ไตรมาสที่ 4 หรือแม้กระทั้งในปีต่อไป  คือเรื่องของการลงทุนภายในประเทศ

พิธีกร  :  ทั้งภาครัฐและเอกชน

อาคม  :  ถูกต้องครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย  จะมาเสริมกำลังการผลิตของเรา  เสริมในเรื่องของต้นทุน  ลดต้นทุน  ในเรื่องของการผลิตของภาคเอกชน  ตรงนี้เองก็ทำให้การลงทุนกลับเข้ามาสู่ประเทศของเรา  ข้อสุดท้ายเรื่องของสิ่งที่กระตุ้นหรือไม่กระตุ้น  ผมคิดว่า  เอาแค่ว่าวันนี้เราอีก 2 ปีจะได้เห็นอาเซียน  เอาแค่ว่า  สินค้าของเราจะเคลื่อนย้ายระหว่างภูมิภาค  เราปรับปรุงในเรื่องของการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดนได้เร็วขึ้น  สินค้าวัตถุดิบของเราไปอยู่ประเทศอื่น  หรือประเทศเข้ามาประเทศเรา วันนี้ระบบการขนส่งทางบกค่อนข้างสะดวก  ถ้าเราปรับแค่ตรงนี้หรือการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนภาคการส่งออกต่างๆ พวกนี้เชื่อว่า  ต้นทุนเราลดแน่นนอนและสินค้าเราจะส่งออกได้

พิธีกร  :  และอาเซียนจะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้  ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่า  การส่งออกในไทยส่งออกไปทั่วโลก  อาเซียนก็เป็นอันดับ 1.อยู่แล้ว  แต่โอกาสในการขยายการค้า  การลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียนมีสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย ถ้าหันกลับมาดูในบ้านเราท่านเลขาธิการฯ คะ ตัวกำลังซื้อของประชาชนบางกระแสบอกว่า  ตอนนี้กู้เงินก็ยากขึ้น  กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน กู้รถไม่ผ่านสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร

อาคม  :  ขึ้นอยู่กับ 2 ด้าน  ด้านที่ 1. คนกู้คือ ประชาชน  กับอีกด้านหนึ่งคือผู้ให้กู้  ผมเชื่อว่าผู้ให้กู้เองก็ต้องมีความระมัดระวังเหมือนกัน  จะให้ไฟแนนซ์ใคร  ในเรื่องของสินเชื่ออะไร  ประเทศใดก็ตามในระดับเดียวกันของผู้กู้เอง  ผมเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาล  โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องของการเพิ่มรายได้ตรงนี้ยังต้องเพิ่มต่อ  จะเพิ่มบนพื้นฐานของประสิทธิภาพ  ปีที่แล้วเราเพิ่มในเรื่องของค่าแรง 300 บาท  แน่นนอนกำลังซื้อกลับมา  ด้านที่ 2. คือใครก็ตามที่จบปริญญาตรีนั้นได้ 15,000 บาท นั้นคือขั้นพื้นฐาน  ทำให้เราสามารถให้ผู้กู้หรือประชาชนที่มีเงินเดือนขึ้นอยู่กับเงินเดือน  สะท้อนในเรื่องของขีดความสามารถของเขาโดยแท้จริง

พิธีกร  :  มีกำลังซื้อมากขึ้น

อาคม  :  เป็นธรรมมากขึ้น  มีรายได้มากขึ้น  เพราะฉะนั้นในอนาคตนั้น  คงจะต้องเสริมในเรื่องของการฝึกทักษะ  หรือให้เขามีองค์ความรู้มากขึ้น  เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพรายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น  นอกเหนือจากนั้นก็คงเป็นในเรื่องสิ่งที่เราทำกันอยู่  OTOP เรื่องสินค้า  กองทุนต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาส  ผมยกตัวอย่างว่า  มีญี่ปุ่นมาถามเหมือนกันว่า  ทำไมประเทศไทยไม่คิดเรื่องของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หรือในเรื่องของคอสเมติก  ที่เป็นเนเชอรัล  ที่เป็นคอสเมติกจากธรรมชาติ เขาบอกเป็นโอกาสของประเทศไทยทำไมไม่รีบทำตรงนี้  เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง  ถ้าเรารู้จักในเรื่องของการเอางานวิจัยเข้ามาปรับปรุงในเรื่องของสมุนไพรต่างๆ ที่มาเป็นวัตถุดิบตรงนี้  เราก็มีโอกาสเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่จะสร้างรายได้  และเป็นรายได้ที่อยู่กับชาวบ้านทั้งหมดครับ

พิธีกร  :  เงินอยู่ในประเทศ เงินลงไปในท้องถิ่นชุมชนด้วยนะคะ ท่านรองนายกฯคะ ถ้าเกิดมองภาพใหญ่ของประเทศวันนี้  มองภาพใหญ่ประเทศ  ต่างชาติให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  ต่างชาติก็มีหลายๆ กลุ่มนะครับ  ถ้าบอกว่า  ต่างชาติที่เป็นผู้ลงทุนในภาคที่แท้จริงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างกิจการต่างๆ จะเห็นได้ว่า  คำขอในการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว  และจะทำให้คำขอเหล่านั้นกลายเป็นลงทุนจริงอย่างต่อเนื่องไปข้างหน้า  ความเชื่อมั่นของประเทศต่างๆ  รอบๆ เรา  เขาทั้งเชื่อมั่น ทั้งหวังว่าเราจะดำเนินการต่างๆ  เพราะว่าการลงทุนในระบบคมนาคมขนส่งของเรา  จะสามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ให้สามารถไปมาถึงกันเอง  และไปจนถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเอเชียตะวันออกได้นะครับ

ในส่วนที่อาจจะเป็นคำถามของคุณสร้อยฟ้า คือว่า แล้วผู้ลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในระบบตลาดทุนเป็นอย่างไร  ผู้ลงทุนเหล่านี้เขาก็เชื่อมันแน่ว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่ง  เพียงแต่ว่าในแง่ของการที่จะกระโดดเข้ากระโดดออกตามภาวะเรื่องราวต่างๆ ที่ภาคการลงทุนในระบบกองทุนต่างๆ ที่มี  ก็อาจจะทำให้เกิดการผันผวน  แต่ผมอยากชี้ว่าทุกๆ ครั้งที่มีการดำเนินการขายหุ้นเป็นขนานใหญ่ โดยผู้ลงทุนต่างประเทศ  ก็มักจะเป็นโอกาสทองของคนที่รอซื้อหุ้นอยู่  ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศรายอื่น  หรือว่าผู้ลงทุนในประเทศเอง  โอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาถูกๆ  มักจะเกิดขึ้นในยามที่มีความกังวลในลักษณะนี้ที่เป็นเชิงภูมิภาค ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ประเทศในอาเซียนกำลังเผชิญในความท้าทายในการตอบโจทย์  อินโดนีเซียกำลังจะต้องตอบโจทย์ว่า  เขาจะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า  หรือการขาดดุลงบประมาณอย่างไร  มาเลเซียกำลังต้องการตอบโจทย์เหมือนกันว่า  เขาจะดูแลการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลให้ดีขึ้นอย่างไร  ประเทศไทยขณะนี้ผมคิดว่าเราไม่ได้มีโจทย์อะไรต้องตอบ  เราตอบชัดแล้วว่าเราจะแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างไร  และดำเนินการมาแล้วเห็นจริงอย่างต่อเนื่องหลายปีงบประมาณแล้ว  เรากำลังดำเนินการที่จะผ่านกฎหมายเพื่อการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน  และเราก็ตอบโจทย์ไปนานแล้วว่า  ต่อให้เราลงทุนเต็มอัตราที่ว่านี้  หนี้สาธารณะเราก็อยู่ในระดับที่ต่ำ  ดังนั้นผมเชื่อว่าเราได้อยู่ในความมั่นใจของผู้ลงทุนต่างๆ ครับ

พิธีกร  :  คือวันนี้สิ่งที่ประชาชนทั่วไป  สิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วง  กระแสเงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาบ้านเรา  ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น  ตลาดตราสารหนี้  ตัวบอลเป็นอย่างไรบ้าง  มีความน่าเป็นห่วงแค่ไหนท่ามกลางบรรยากาศที่เงินบาทอ่อนค่าลงมา เห็น 31 แล้วแบบนี้ค่ะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  เมื่อวานนี้  ผมได้เรียนในที่ประชุมไปว่า  ถ้าเงินไหลออกซะบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี  เพราะเงินจำนวนมากนี้ไม่ควรจะไหลเข้ามาเลย  ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  แล้วเข้ามาก็เป็นภาระทำให้เงินสำรองของประเทศดูสูงขึ้น สวยขึ้นก็จริง  แต่เป็นภาระที่ทำให้เมื่อเงินเหล่านั้นถูกแปลงเป็นเงินบาท  ก็จะต้องถูกดูแลโดยธนาคารกลางไว้เป็นต้นทุน  การไหลออกไปบ้างทำให้ภาระเหล่านั้นลดลง  และช่วงเวลาที่ไหลเข้ายังไม่สมควร  เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอย่างไม่จำเป็น  และทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคที่แท้จริงคือการส่งออก  ฉะนั้นการที่เราจะเห็นเงินไหลออกไปบ้าง  บางคนบอกว่าไหลเข้าน้อยลงพอไหม  ผมว่าก็ยังดีไหลเข้ามากขึ้น  แต่ว่าถ้าไหลออกไปบ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย  และก็เงินสำรองของเรา  ถ้าหากจะลดไปจาก 170 เหรียญลงไปบ้าง  เพราะขนาดนี้มียอดเงินสำรองเป็นจำนวนหลายเท่าของหนี้ระยะสั้น  และเพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าต่างๆ  ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้นะครับ

พิธีกร  :  สรุปสุดท้ายตรงนี้คำว่า  ถดถอย ที่หลายๆ คนเป็นห่วงกันว่า  ภาวะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว  ตรงนี้จะพิสูจน์กันได้ในการค้าการธุรกิจของไตรมาส 3 ไตรมาส 4 นี้ไหมคะ

รองนายกฯกิตติรัตน์  :  เพียงแต่ผมเรียนว่า  มองประเทศไทย  มองยาวๆนะครับ  แล้วก็อย่าไปสนใจเรื่องนี้จนกระทั่งเราลังเลกับเรื่องที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  เราเคยน้ำท่วมขนานใหญ่มาแล้ว  เราต้องลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องนี้ซ้ำขึ้นอีก ไม่ทราบฤดูกาลหน้าฝนปีไหนมันจะมีฝนมากกว่าปกติ  เราติดๆ ขัดๆ กับเรื่องการระบบคมนาคมขนส่งกันอยู่  การที่เราจะมุ่งหน้าเดินหน้าไปโดยที่เรารู้ความพร้อมของเราเป็นเรื่องสำคัญ  ทำเรื่องต่างๆ ที่สมควรทำ  แล้วก็การขยายตัวจะเกิดขึ้นเอง แทนที่จะหมกหมุ่นกับการที่จะต้องเห็นตัวเลขโตให้ได้  แล้วก็หาวิธีต่างๆ ที่จะทำให้โตในระยะสั้นๆ  เพื่อเอาอกเอาใจคนที่ติดตามข่าวระยะสั้นๆ อยู่  ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนัก

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น