--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิกฤตแรงงานไทยสะท้อนอันตราย นโยบายทุนนิยม !!??

นอกเหนือจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศ  ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าครึ่งปีหลังนี้ต้องลุ้นระทึกว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศฝ่าฟันทุกอุปสรรคปัญหาไปได้หรือไม่ กับผลกระทบจากระบบทุนนิยม ก็คือการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างที่กำลังประสบวิกฤตด้านปริมาณแรงงาน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

ทั้งนี้จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้  ระบุภาพรวมภาวะเศรษฐกิจประเทศ   พบว่าภาคการก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 5 โดยเฉพาะการก่อสร้างภาคเอกชนที่ลดลงต่อเนื่อง เนื่องมาจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมานานกว่า 1 ปี จนทำให้การก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

สอดรับกับข้อเท็จจริงจาก นายอธิป  พีชานนท์ ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและนายกกิตติมศักดิ์  สมาคมอาคารชุดไทย ที่ให้ข้อมูลว่า  ปัญหาแรงงานไทยในธุรกิจก่อสร้างไม่เพียงพอ ที่ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้ว  ทำให้ผู้รับเหมาเกือบทุกรายต้องหันไปใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการก่อสร้างขณะนี้จะหมดไป  เพราะการใช้แรงงงานต่างด้าว ก็ยังมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่าย และแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก หากโครงการเมกะโปรเจกต์รัฐเกิดขึ้น เพราะจะสภาะการณ์ดูดแรงงานจากภาคเอกชนไปใช้ในโครงการของรัฐสูงขึ้น

ขณะที่สภาพการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ช่วงครึ่งปีแรก 2556 ก็สะท้อนว่าในส่วนของผู้บริโภคเอง  ก็ส่งสัญญาณชะลอการตัดสินใจซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะสถานการณ์ด้านรายได้ที่ไม่สอดรับกับค่าใช้จ่ายและมูลหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ข้อควรพิจารณาหนึ่งว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่  มาจากการรายงานความก้าวหน้างานโยธา  โครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.) เพราะเมื่อกลับไปดูการให้สัมภาษณ์ของ นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล  ผู้ว่าการ รฟม. ที่ยอมรับว่าทุกการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทมีความล่าช้ากว่าแผนงานทั้งหมด  ซึ่งปัญหาก็มาจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างอย่างหนัก ไม่นับรวมปัญหาทางเทคนิค

จากข้อมูทั้งหมดก็พอจะมองเห็นภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องเร่งผ่านร่าง   พ.ร.บ.กู้เงิน  เพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการนำ 3.5 แสนล้าน และ  ร่าง พ.ร.บ.  โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  2 ล้านล้านบาท  ทั้งที่โครงการเดิม ๆ ก็ยังล่าช้าเพราะหลายปัจจัยเกี่ยวเนื่อง ซึ่งก็รวมถึงวิกฤตการณ์ด้านแรงงาน และจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจเอกชน

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น