--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทเรียน:คราบน้ำมัน กลางทะเลระยอง อุตสาหกรรมภายใต้กระแสสีเขียว !!??

ปัญหาคราบน้ำมันจากกรณีข้อต่อท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบของระบบนิเวศน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากความร่วมมือระหว่าง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบเบื้องต้น 2 ล้านบาทให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อาทิ คุณภาพน้ำทะเล ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น กุ้ง หอย ปะการัง เป็นต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลกลาง เป็นที่เชื่อถือของทุกฝ่าย สำหรับนำไปประเมินความเสียหายจริง และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล ระบุว่า กรณีน้ำมันรั่วไหลกว่า 5 หมื่นลิตร ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ขณะนี้หลายฝ่ายควบคุมสถานการณ์และเร่งขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดให้แล้วเสร็จ แต่ปัญหานี้ คือ ยังไม่มีข้อมูลความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทางวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ รวมทั้งการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันยังไม่มีการพิสูจน์ว่า จะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศ และมีสารตกค้างในธรรมชาติจริงหรือไม่ จำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เพื่อสำรวจและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเลอย่างเร่งด่วน และต้องมาจากองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อถือ

"เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกสถาบันการศึกษาเข้ามาทำการวิจัย เพื่อความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และมีกระบวนการวิจัยที่โปร่งใส ชัดเจน ข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับ นำไปใช้ประโยชน์ทั้งการเรียกร้องความเสียหายจากผู้ได้รับผลกระทบ และใช้ในการตรวจสอบสำหรับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบประเมินและจ่ายค่าเสียหาย ใช้เทียบเคียงกับผลของการวิเคราะห์ของภาครัฐได้"

ขณะนี้มี 3 มหาวิทยาลัยยื่นข้อเสนอทำการสำรวจมาแล้ว ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบูรพา เพื่อสำรวจในเรื่องสารเคมีในตะกอนดินจากการกำจัดคราบน้ำมัน และผลต่อปะการัง เป็นต้น ขณะนี้ยังรับข้อเสนออยู่ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า งานวิจัยดังกล่าวจะต้องสำรวจและเก็บตัวอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

บทเรียนรับมือภาวะฉุกเฉิน

ดร.ขวัญฤดี กล่าวต่อว่า กรณีการรั่วไหลน้ำมันครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับกระบวนการรับมือกับภาวะฉุกเฉินใหม่

"ต้นเหตุและปัญหาที่ขยายในวงกว้างมาจากคลื่นลมทะเล การหย่อนยานเรื่องการซักซ้อม ความชะล่าใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการซ้อมแผนอุบัติภัย ที่ระบุว่ามีการซักซ้อมต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถเรียกมาแก้ไขปัญหาได้"

การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นอีกปัญหาของเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเอกชนมุ่งแต่แก้ปัญหาหน้างาน ไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในภาพรวม ประกอบกับไม่มีการตั้งศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่ต้น ทำให้ข่าวสารมาจากทุกทิศทาง สร้างความสับสน ส่งผลให้การโฟกัสแก้ปัญหาของสังคมไม่ถูกจุด เช่น กระแสใช้เส้นผมไปขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังทำให้เกิดขยะ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่มีผลกระทบไปถึงความศรัทธาของปตท.ในภาพรวมเป็นอีกปัญหาหนึ่ง จากการที่นำเหตุการณ์หนึ่งมาตัดสินองค์กรในภาพรวมโดยไม่แยกแยะ ซึ่งสิ่งที่สังคมต้องเรียกร้องต่อปตท.คือ ให้เร่งแก้ปัญหาคราบน้ำมัน และกู้ภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ดในฐานะผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยวของเกาะ

ส่วนปัญหาความไม่วางใจต่อกันระหว่างรัฐและเอกชน กับประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมาบตาพุดมีปัญหามลภาวะหลายครั้ง ดังนั้นความชัดเจนของข้อมูล และเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเรื่องจำเป็นมากในกรณีแบบนี้ แต่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมาก่อนที่จะเกิดเหตุ ส่วนเอกชน สิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง คือ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ แม้ยังไม่หมดอายุการใช้งาน

"พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น มาตรฐานการปล่อยมวลสารต้องเข้มข้น เพราะความสามารถของธรรมชาติในการฟอกตัวต่ำกว่าพื้นที่อื่นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเบาบางกว่า"

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปตรวจสอบและให้ความรู้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่กฎหมาย และรัฐควบคุมไม่ทั่วถึง เช่น โรงงานที่อยู่ตามห้องแถวต่างๆ โรงงานบัดกรีเหล็ก เป็นต้น

ล่าสุดมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ให้ความรู้ในเรื่องนี้ภายใต้งานสัมมนา "วิจัยขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงสังคม สู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน" ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ 2556 เวลา 09.30- 12.30 น. ณ รร.แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ

โดยมีหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ "Trends & Challenges of ASEAN Business toward AEC 2015" เป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และ ภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระแสสีเขียว กุญแจสำคัญต่อภาคธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID), คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) , Asian Development Bank Institute (ADBI) เป็นต้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น