--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

World Bank จ่อหั่นเป้า GDPไทย !!?

ธนาคารโลกเตรียมหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค. นี้ ระบุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว'ไม่ชัดเจน'เช่นเดียวกับ บอร์ดกนง.ถก10ก.ค.นี้ หั่นเป้าจีดีพี-ส่งออก

สำนักวิจัยหลายแห่งเริ่มปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง หลังเศรษฐกิจโลกและปัญหาเศรษฐกิจในจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกชัดเจนขึ้น

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่าในเดือนส.ค. นี้ ธนาคารโลกเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่มองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะเติบโตที่ 5% และส่งออกเติบโต 7%เหตุผลการปรับประมาณการเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจะถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเร็ว ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของภาคการส่งออกไทย ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มแผ่วลง

"การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ คงต้องอาศัยโครงการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก"

การปรับลดประมาณการของธนาคารโลก เช่นเดียวกับสำนักวิจัยหลายแห่ง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเสนอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 ก.ค. นี้ให้ปรับประมาณการใหม่

การประชุม กนง.ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.1% และส่งออกจะขยายตัวได้ระดับ 7%

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำว่าสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น ในการประชุมบอร์ดกนง.ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ ที่ประชุมกนง.น่าจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่

"คงมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ รวมถึงตัวเลขการส่งออกด้วย ซึ่งก็คงเป็นการปรับประมาณการลง โดยตัวเลขส่งออกไทยที่ ธปท.เคยประเมินไว้ที่ 7% นั้น ไม่น่าจะเป็นตัวเลขที่ใช้ได้แล้ว"

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ยังตอบได้ยาก ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจของ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน และไทย

"หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เฟด ยุติการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (คิวอี) จริง ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและไทยชะลอตัว ถ้าเป็นกรณีนี้ก็เชื่อว่า เงินทุนยังคงเป็นทิศทางไหลออก"

ศูนย์วิจัยกสิกรหั่นเป้าจีดีพีเหลือ4%

ด้าน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจวานนี้ (5 ก.ค.) โดยปรับลดลงเป็นครั้งที่ 2 ของปี เหลือ 4% หลังจากที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเติบโตต่ำกว่า 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2%

"ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีไม่มากนัก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีของสหรัฐทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลง ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ต้องล่าช้าออกไป กระทบต่อการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ 0.1% และจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2557 ให้ขยายตัวได้ 4.5%"

ห่วงหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกพุ่ง

นายเชาว์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนยังคงปรับเพิ่มขึ้น เร็วกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้และเงินออม โดยไตรมาสแรกของปี ระดับของหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 8.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77.4% ต่อจีดีพี เทียบกับปี 2540 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 28.8% ต่อจีดีพี แต่เมื่อประเมินจากทิศทางเศรษฐกิจในขณะนี้แล้ว เศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัจจัยชี้นำให้เกิดหนี้เสีย หรือกระทบกับเศรษฐกิจรุนแรง ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้เร่งตัวรวดเร็ว การว่างงานยังอยู่ระดับต่ำและค่าครองชีพที่ไม่ได้เพิ่มเกินระดับรายได้

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556-2557 ได้ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นครัวเรือนลดลงกระทบภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนจนรายได้ติดลบ

ทั้งนี้ในระยะปานกลางต้องติดตาวงจรสินเชื่อและดอกเบี้ยที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่อยๆ ส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค คาดว่าต้องใช้เวลา ซึ่งยังไม่เห็นในปีนี้

คาดว่า เฟด จะทยอยถอยคิวอีได้อย่างเร็วก็ไตรมาสแรกของปี 2557 การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็คงทยอยปรับขึ้น จากขณะนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าปกติที่ 0.25% จากปกติ 3.25%ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยควรสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ 0.25-0.50% ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

จี้รัฐคุมหนี้ครัวเรือน

ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อรายย่อยประมาณ 2% และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตราบใดที่รายได้ยังมากกว่ารายจ่ายปัญหาหนี้ครัวเรือนจะไม่รุนแรง ดังนั้นภาครัฐต้องรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับ 5% เพื่อควบคุมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 80% ต่อจีดีพีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

"ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 77-78% ต่อจีดีพีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวได้เร็วกว่าจีดีพี ทำให้คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าหนี้ต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% เป็นความท้าทายในการจัดการภาวะเศรษฐกิจ ประเด็นอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะนั้นจะสามารถรักษาระดับที่ 5%ได้หรือไม่ หากดูแลได้ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบเหมือนปี 2540"

หั่นเป้าส่งออกปีนี้เหลือ 4%

นายเชาว์ กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งในปีนี้ศูนย์วิจัยได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงเหลือ 4% จากเดิม 7% โดย 5 เดือนแรกการส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกต้องโตได้ 5%

สำหรับผลกระทบจากมาตรการคิวอีที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้น หากเทียบกับภูมิภาคแล้ว ประเทศไทยยังมีทิศทางที่ดี จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี มีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกที่สามารถรองรับได้ 7-8 เดือน แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดียและเวียดนาม ที่จะอ่อนไหวต่อมาตรการคิวอี เพราะระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเม็ดเงินจากต่างประเทศค่อนข้างมาก สะท้อนจากยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเร่งของสินเชื่อ เม็ดเงินที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า

ดังนั้น สามประเทศดังกล่าว ถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากราคาสินทรัพย์จะลดต่ำลง เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 6% ขณะที่เวียดนามเองอยู่ระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจและลดค่าเงินด่องไปแล้ว 1%

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น