--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง :โอกาสและความท้าทาย SMEsไทย !!??

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีรศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาการลงทุนนานาชาติ Euromoney Conference ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Greater Mekong Investment Forum" หรือการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ "The Greater Mekong Sub-region and the ASEAN Economic Community : Convergence, Opportunities and Challenge" (อนุภูมิ

ภาคลุ่มน้ำโขง และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในบริบทการควบรวม โอกาส และความท้าทาย) ร่วมกับ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณเนียฟ จันทนา รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศกัมพูชา และ คุณพรเลิศ ลัธธนันท์ กรรมการผู้อำนวยการ งานรัฐกิจสัมพันธ์และพัฒนาธุรกิจ กลุ่มบริษัทจีอีในประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา

วิทยากรต่างเห็นตรงกันว่า ประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มีความใกล้ชิดกับคนไทยมากกว่าที่เราคิด ซึ่งจะช่วยให้การหลอมรวมกันเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น เช่น คนในเมืองใหญ่ของเวียดนามและพม่า จำนวนไม่น้อยที่พูดภาษาไทยได้ ส่วนคนที่อาศัยอยู่พื้นที่การค้าขายตามแนวชายแดนก็สามารถพูดได้หลายภาษา นอกจากนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคนับถือศาสนาพุทธ ก็เป็นผลดีอีกประการหนึ่งเช่นก้น

ในอีกด้านหนึ่ง อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งในด้านพลังงาน แรงงาน และทำเลในการประกอบอุตสาหกรรม แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันของประเทศสมาชิกยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ภูมิภาคนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการค้าตามแนวชายแดนที่สามารถเจริญก้าวหน้าได้อย่างดีในอนาคต

ทั้งนี้ การหลอมรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งยังจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่แผ่นดินใหญ่สามารถเข้าถึงชายฝั่งทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนผมมองว่า การขาดแคลนแรงงานจะเป็นความท้าทายที่สำคัญทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นตลาดที่มีแรงงานราคาถูกอีกแล้ว เห็นจากธุรกิจจำนวนมากที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักได้ย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชา ขณะเดียวกันไทยก็ไม่สามารถพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากพม่าได้อีกต่อไป เนื่องด้วยเศรษฐกิจพม่าเติบโตและต้องการแรงงานมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจไทยควรลดการพึ่งพิงแรงงาน และหันไปลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายข้างต้นให้ทันท่วงที

นอกจากนี้ คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงโครงการทวายในพม่าว่า จะเป็นแหล่งรวมนิคมอุตสาหกรรม ถนน ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน ก๊าซ และพลังน้ำ โดยภายใน 10 ปี ทวายจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน จากการเป็นท่าเรือน้ำลึกและแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ตามรอยความสำเร็จของการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในไทยซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งสร้างมูลค่าธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 16 ของจีดีพีของประเทศไทยแล้ว

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน จะนำมาซึ่งโอกาสมากมายในเชิงเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่เอสเอ็มอีไทยต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน และมีการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น