--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คณะราษฎร เผด็จการในคราบประชาธิปไตย !!??

ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 นับว่าเป็นที่พูดถึงมาโดยตลอดสำหรับจุดยืนในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของสำนักข่าวทีนิวส์ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่มีความมั่นคง และยืนหยัดต่อกรกับด้วยหลักการและสติปัญหา กับกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม ที่พยายามโค่นล้มเปลี่ยนแปลง สถาบันพระมหากษัตริย์

แม้กับกรณีของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขณะนี้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสีย ตามความมุ่งหวังของบุคคลบางกลุ่ม ที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน แล้วใช้ความสูญเสียของเครือญาติผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 มาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การต่อสู้ของสำนักข่าวทีนิวส์กับขบวนการล้มเจ้าและกลุ่มบุคคลที่มีประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่าเป็นขบวนการล่าแม่มด เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์จึงเห็นสมควรว่าจะได้นำเสนอหลักการที่เป็นทั้งความเข้าใจและความแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ในการนำเสนอข่าว ให้กับคุณผู้ชมได้ทำความเข้าใจ

โดยจะขอยกตัวอย่างจากกรณีการนำเสนอประโยคข้อความของคณะบุคคล ทำการสื่อสารว่า

“ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

ประโยคข้างต้นที่เป็นปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ภายหลังจากทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่มีเนื้อหาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เนื้อหาดังกล่าวปรากฏอยู่ใน ประกาศคณะราษฎร  ฉบับที่  1 ย่อหน้าที่ 4 เพื่อทำการดิสเครดิตและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นหนึ่งของการปฏิวัติ โดยระบุว่าราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า  ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร  ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง  บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก  พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน  เงินเหล่านี้เอามาจากไหน?  ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง  บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง  ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา  เพราะทำนาไม่ได้ผล  รัฐบาลไม่บำรุง  รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด  นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ  จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม  เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย  บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย  นายสิบ  และเสมียน  เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ  ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ  จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน  แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่  คงสูบเลือดกันเรื่อยไป  เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ  คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม  ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก  การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

ในขณะเดียวกันทางคณะราษฎรยังได้ระบุถึงภารกิจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเอาไว้อย่างสวยงามในการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เราก็จะได้มาพิสูจน์กัน

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  เช่นเอกราชในทางการเมือง  ในทางศาล  ในทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ  ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ  ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
               
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ  จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ   ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
               
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน  ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้
               
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ  มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก  ๔  ประการดังกล่าวข้างต้น
               
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร              

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร  และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เช่น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี  เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม  พระยาพหลพลพยุหเสนา  หัวหน้าคณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง  ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร  เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ  รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว      

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ  และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม  พุทธศักราช 2475  ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า  "ชั่วคราว"  ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ  นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย  ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  พระราชวังดุสิต

ทั้งนี้สมาชิกคณะราษฎรประกอบด้วยราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน จำนวน 115 คน

หัวหน้าคณะราษฎร

ประกอบไปด้วย 4 ทหารเสือก็คือ
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
รวมไปถึงนายทหารหนุ่มที่ชื่อ หลวงพิบูลสงคราม
ส่วนคณะราษฎร สายพลเรือน นำโดย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นด้วยความเรียบร้อยนั้น ไม่ใช่การเพราะความสามารถของคณะราษฎรที่สามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือวางแผนเตรียมการมาอย่างรอบคอบ หรือเป็นเพราะคณะฝ่ายเจ้าไร้ซึ่งอำนาจใดๆ

แต่เป็นเพราะสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงเข้าใจดีถึงสถานการณ์ในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าหากทรงตัดสินใจสู้เพื่อรักษาอำนาจกับคณะราษฎร ซึ่งไม่มีใครทราบว่าฝ่ายไหนจะชนะ เนื่องจากฝ่ายเจ้าที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานย่อมมีการจัดสรรกำลังพลที่จงรักภักดีและพร้อมที่จะต่อสู้เช่นเดียวกัน

แต่ทว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ปราถนาให้เกิดการต่อสู้ ที่จะแลกมาด้วยการบาดเจ็บล้มตายของไพร่พล จึงทรงตัดสินพระหัย ให้คณะราษฎรยึดอำนาจด้วยความเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นความเสียสละของพระองค์ท่าน ด้วยการคำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

๒๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พระตำหนักไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ ดังความตามพระราชหัตถเลขา ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ที่ทรงเขียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ไม่ลงวันที่ พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒ ความดังนี้

“ ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะถอด (depose) ฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออก (abdicate) ทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้...”

ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้  แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯอาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้... สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯแนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และ ช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครองโดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ

ในที่สุดมีทางจะทำได้ ๒ ทางคือ จะหนี หรือ จะกลับกรุงเทพฯ ฉันยอมรับว่าฉันตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าจะทำอย่างไรดี เราเพิ่งได้ยินคำแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียงอันรุนแรง ดูราวกับจะไปทางบอลเชวิค  ถ้าเช่นนั้นการที่จะกลับไปให้เขาตัดหัวดูออกจะไร้ประโยชน์ เป็นการเสียสละอันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แต่นั่นแหละ คำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นถ้อยคำของผู้ที่ออกจะคิดสั้นและรุนแรงรวดเร็วจัดคนหนึ่ง และไม่ใช่นโยบายจริงของคณะ ฉันเลยตกลงใจเสี่ยงโดยให้ผู้หญิงเขาเลือก คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และหญิงอาภา พระมารดา ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่และฉันเห็นว่าทั้งสองควรจะได้รับเกียรติอย่างเต็มที่ ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้นเราอาจจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์  เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน (and that was enough for me) ”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่กลุ่มคนบางกลุ่มพยายามหยิบยกมาสดุดีวีรกรรมของคณะราษฎร ในลักษณะที่เป็นคุณูประการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่ได้ทำความเข้าใจถึงความเสียสละของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

และที่คนกลุ่มนี้ พยายามปิดกั้นข้อมูลเรื่องการเสียสละและการยึดมั่นต่อประโยชน์ของประชาชนของรัชกาลที่ 7 ในขณะที่ เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในมือของคณะราษฎรแล้ว คณะราษฎรก็ใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างบ้าคลั่งเกิดการแก่งแย่งอำนาจจนสร้างความเสียหายและสูญเสียให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล

หาได้เป็นไปตามข้ออ้างตามประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างและโฆษณาชวนเชื่อว่าภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรจะบรรดารทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดความชอบธรรม

ยิ่งไปกว่านั้นการบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2475ของคณะราษฎร ก็ไม่ต่างไปจากการโยกอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ในมือของคณะราษฎร ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารเสียเอง ดังสาระสำคัญที่ระบุเอาไว้ว่า

คณะกรรมการราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภา. ทั้งนี้ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ รับผิดชอบต่อ คณะกรรมการราษฎร. คณะกรรมการราษฎร จะมีประธาน 1 คน และมีกรรมการอีก 14 คน ทั้งนี้ ให้สภา เลือกสมาชิกในสภา เพื่อมาทำหน้าที่ประธารกรรมการราษฎร และให้ประธานกรรมการ เลือกกรรมการราษฎร อีก 14 คน

ในขณะที่การคัดเลือก พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่ทว่าโดยข้อเท็จจริงอำนาจก็ยังคงอยู่ที่ฝ่ายของทัพโดยคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามแย่งชิงอำนาจกันเองของบุคคลในคณะราษฎรอย่างน่าเศร้า

พระยามโนปกรณนิติธาดา จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ระหว่างการบริหารประเทศของพระยามโนปกรณนิติธาดา นายปรีดี พนมยงค์ ที่เปรียบดังมันสมองของคณะราษฎรและผู้มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากที่สุด ได้เสนอสมุดปกเหลือง

หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" ซึ่ง เป็น เค้าโครงเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ของนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศออกมาเมือ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476

แต่ทว่าสมุดปกเหลืองนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้อกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และทำให้เกิดความแตกแยกในรัฐบาลอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดให้ปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย

พระยามโนปกรณ ฯ ที่ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช จึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ "ปากกาด้ามเดียว" ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาล และเนรเทศพระยามโนปกรณ ฯ ไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

สาระข้อเท็จจริงที่ทำให้สุมดปกเหลืองของนายปรีดีถูกต่อต้านจากคณะราษฎรอย่างหนักก็เป็นเพราะแนวคิดการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ไปให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นผู้กุมอำนาจอย่างคณะราษฎรที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ และทำการต่อต้านพร้อมกับสร้างข้อหาคอมมิวนิสต์ให้กับนายปรีดี

สาระสำคัญของเนื้อหาในเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ เริ่มแรกจะมีคำชี้แจ้งว่าในการพิจารณาหรืออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ควรวางใจเป็นกลาง ไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน และควรขจัดทิฐิมานะออก และในส่วนเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 11 หมวด ปรีดี พนมยงค์ได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยต้องการให้บรรลุหลักข้อ 3 ของประกาศคณะราษฎร หลักซึ่งเกี่ยวแก่เศรษฐกิจของประเทศมีความว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยเค้าโครงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบแต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ.“ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล

นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นและตัวอย่างของการบริหารอำนาจ ที่ปากฎการแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ของคณะราษฎร จนนำมาสู่การทำรัฐประหารกันเอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะติดตามมาด้วยการแย่งชิงอำนาจ และการรัฐประหารเป็นว่าเล่น หาได้เป็นไปตามเส้นทางประชาธิปไตย ตามประกาศของคณะราษฎรได้โฆษณาชวนเชื่อเอาไว้

โดยรายละเอียดของการแย่งชิงอำนาจของคณะราษฎร สำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้รับทราบในลำดับต่อไป

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรที่ทุกฝ่ายทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้ทำการพิจารณาก็คือการสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัยตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

เมื่อพระยาพหลพลพยุหะเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว  ได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียง ในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้วและกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น  โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง  เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้  แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่  และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง

และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่า  อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ  จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง ๑

การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น  จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น  ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง  จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง  จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยคำแนะนำของคณะรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น  ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒  และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการ มิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้โอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ  จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้นถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย   เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน  คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียง ก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง  รัฐบาลก็ไม่ยินยอม  และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดลออเสียก่อน  เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก  คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย  ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ทรงฉายกับพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า  ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์พระบรมราชานุสาวรีประทับที่หน้าอาคารรัฐสภา

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

ประชาธิปก.ปร.
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗
เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที

และในตอนต่อไปสำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่กลุ่มของคณะราษฎร ที่มีการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จไม่ต่างไปจากเผด็จการ มิหนำซ้ำยังเกิดการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง

และที่สำคัญตลอดระยะเวลา 24 ปีที่อยู่ในอำนาจ คณะราษฎรได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศตามที่ประกาศเอาไว้ หรือได้ใช้อำนาจสนองต่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองเท่านั้น

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น