--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ตั้งรับเศรษฐกิจขาลงครึ่งปีหลัง !!???

ก้าวสู่ช่วงครึ่งปีหลังไม่ทันไร ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศก็เริ่มส่อเค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางที่หลายฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ สัญญาณอันตรายจากความสุ่มเสี่ยงผันผวนของค่าเงิน ตลาดหุ้น ราคาทองคำปรากฏชัดเจนเรื่อย ๆ

ขณะที่วิกฤตส่งออก กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง สวนทางกับภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ ผลกระทบเกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม คนระดับกลางไปจนถึงรากหญ้า น่าห่วงไม่แพ้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกโหมกระพือให้ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน พ.ค. 2556 ที่ผ่านมาว่า การใช้จ่ายและการผลิตทั้งระบบชะลอตัวลง ทั้งดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

โดยในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน เดือน พ.ค.หดตัวลง 1.7% เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัว 0.3% มูลค่าส่งออกหดตัว 1.2% มูลค่าการนำเข้าหดตัว 4.8%

แม้แต่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐก็อยู่ในภาวะหดตัวลงด้วย

สศช.ประเมินว่าปัจจัยลบทั้งหมดนี้จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมช่วงไตรมาส 2 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก มีแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง เป็นความหวังท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน

แม้รัฐบาลเตรียมตั้งรับโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Work Shop เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งหลายหน่วยงานยังใช้จ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้า ก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถขันนอต ผลักดันมาตรการกระตุ้นไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน

จะหวังพึ่งการใช้จ่ายงบฯบางส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทก็คงยาก เพราะแม้แผนเดิมจะเริ่มเดินหน้าภายในปีนี้ แต่เจอกระแสต่อต้านและปัญหาข้อกฎหมาย ก็อาจล่าช้าออกไป

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำควบคู่กันไปด้วย คือการนำกรอบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรวม 22 มาตรการ ซึ่งจัดทำโดย สศช.และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 มาเป็นโรดแมปแก้ปัญหา แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในแผ่นกระดาษหรือถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก เพราะอย่างน้อยก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกันต้องรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมรับมือเศรษฐกิจขาลง บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรวดเร็วทันการ โดยเฉพาะการดูแลภาคการผลิตและการค้า บริการซึ่งเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมทบทวนนโยบายประชานิยม ลดภาระหนี้สาธารณะ หันมาเน้นเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวแทน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น