--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎี VS ภาคปฏิบัติ

โดย ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ นักลงทุนผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแบบเทคนิค

เมื่อคนในยุคโบราณแหงนหน้าขึ้น และสังเกตว่าดวงอาทิตย์และดวงดาวที่อยู่บนท้องฟ้าเคลื่อนที่ในรูปแบบเฉพาะ และหากนำการเคลื่อนที่ดังกล่าวมาคำนวณ จะช่วยให้สามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ในอนาคตได้ และ "ดาราศาสตร์" จึงเกิดขึ้น ทำให้เราตั้งสมมติฐานได้ว่า ทฤษฎีจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นจาก "การสังเกต" นั่นเอง

ในโลกของการลงทุนก็เช่นกัน เมื่อ "ชาร์ลส เฮนรี่ ดาว" เป็น บ.ก.หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal สังเกตว่าราคาหุ้นเคลื่อนที่ในรูปแบบเฉพาะ และหากนำมาแสดงในรูป Chart แทนที่แสดงในรูปตาราง (Table) อย่างในอดีต เขาสามารถตีความ "พฤติกรรมราคาหุ้น" ได้ และ Technical Analysis ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป ทฤษฎีได้รับการปรับปรุง แต่ข้อสังเกตที่เป็นแก่นก็ยังคงอยู่ อาจด้วยเหตุผลว่าแก่นทฤษฎี (Core Theory) ดีและไม่ต้องปรับเปลี่ยน

หรือเพราะไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายมัน เพราะข้อสังเกตใด ๆ ที่ท้าทายหลักทฤษฎีเดิม ๆ หรือ Conventional Wisdom นั้นถือเป็นการเสียมารยาทมาก

แต่การยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีเดิม ๆ โดยเลือกที่จะเพิกเฉยข้อสังเกตนั้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก !

โดยเฉพาะในแวดวงการเงินการลงทุน ในสารบบของทุนนิยมนั้น "ทุน" ถูกทำให้เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา โดยเคลื่อนจากสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนต่ำไปที่ผลตอบแทนสูง หรือจากที่เสี่ยงสูงไปเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

ถ้าจับจังหวะการเคลื่อนที่ของทุนได้ โอกาสในการทำกำไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก สังเกตดี ๆ การเคลื่อนที่ของกระแสทุนไม่ต่างจากกระแสน้ำ ไม่ใช่วันนี้ต่างชาติเห็นตลาดหุ้นไทยดีเข้ามาซื้อ อีกวันมองไม่ดีแล้วชักทุนออกทั้งหมด ในภาพใหญ่เราจะเห็น "ทิศทางของทุน" เสมอ และมันมักจะไม่สับขาหลอก

หนึ่งในทฤษฎีการเงิน (Established Financial Theory) มีข้อสังเกตว่า เวลาเงินไหลออกจากตลาดทุน (Equity Market) ก็มักจะไหลไปที่ตราสารหนี้ (Debt/Bond Market) ประมาณว่า ผลตอบแทนของหุ้นที่ปรับความเสี่ยงแล้ว (Risk Adjusted Rreturn) อาจต่ำหรือเริ่มไม่คุ้ม เอาทุนไปพักในตราสารหนี้ก่อน

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหุ้นลง ราคาพันธบัตรก็จะขึ้น (ผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield ต่ำลง) วิ่งสวนทางกัน แต่ในตลาดพันธบัตรนั้นเขาไม่ได้ดูที่ราคา (Bond Face Value) แต่ดูที่ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตร ถ้าอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น มูลค่าของพันธบัตรก็จะลดลง

ในแง่ทฤษฎีนี้ก็ใช้ได้มาตลอด ถึงขนาด Hedge Fund ระดับโลก อาทิ Bridgewater All Weather Fund ที่มีขนาดกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็ใช้หลักการดังกล่าวนี้ เรียกว่า "Risk Parity" ซึ่งควรช่วยพยุงผลตอบแทนของกองทุนฯได้ แม้ว่าหุ้นหรือพันธบัตรถูกเทขาย แต่ไม่ใช่ถูกเทขายพร้อมกัน และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ! เมื่อทาง FED ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดความช่วยเหลือทางการเงินผ่านมาตรการ QE และทำให้หุ้นทั่วโลกร่วงอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้น ๆ รวมไปถึงพันธบัตร Treasury Bond อายุ 10 ปี ส่งผลให้ Bond Yield ดีดขึ้น 1% ซึ่งถือว่าสูงมาก ไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1.62%

พันธบัตรถูกขายอย่างหนัก และทำให้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลค่าในตลาดพันธบัตรได้หายไปเยอะที่สุดตั้งแต่มีการเก็บประวัติมา

ความผิดปกติดังกล่าวทำให้ Bridgewater All Weather Fund ขาดทุน 6% ในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว และขาดทุน 8% ตั้งแต่ต้นปี ทั้งที่ ๆ สร้างผลตอบแทนได้ 14.7% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี กองทุนฯดังกล่าวยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเจอกับภาวะขาดทุนล่าสุด

เรื่องนี้บอกเราว่า ต่อจากนี้เราต้องสังเกตพฤติกรรมตลาดมากขึ้น ทฤษฎีการเงินเดิม ๆ ที่ใช้ได้ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาเริ่มถูกความเป็นจริงท้าทาย และด้วยมาตรการทางการเงินที่เข้าไปแทรกแซงภาวะตลาดที่ช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าอาจไม่ใช่เพียงหลักความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้น-ตลาดพันธบัตรเท่านั้นที่จะถูกบิดเบือน เกมการเงินในตลาดโลกได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว

นักลงทุนจะอยู่รอดและสร้างความมั่งคั่งในตลาดได้อย่างแท้จริง ควรรู้และเข้าใจ "กลไก" การทำงานของตลาดอย่างดีเยี่ยม แต่ก็ต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้นนับต่อจากนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น