--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เปรมชัย ออกโรงเคลียร์ประมูลน้ำ 3.5 แสนล้าน !!?

เปรมชัย ออกโรงเคลียร์ประมูลน้ำ 3.5 แสนล้าน จี้รัฐเร่งปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองห่วงโครงการล่าช้า ลั่น "อยากได้งาน" เหตุเป็นบิ๊กโปรเจ็ค

โครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 350,000 ล้านบาท คือ งานประมูลที่เกือบปิดดิวเซ็นสัญญากับเอกชนไปแล้ว แต่ต้องมาสะดุดเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศก่อนดำเนินโครงการ รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) เอกชน 1 ใน 4 ที่ได้งานใหญ่ครั้งนี้นั่นคือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี ที่คว้างานในโครงการนี้ได้สูงถึง 110,000 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงสุด นับตั้งแต่ "ไอทีดี" เคยประมูลโครงการรัฐบาลมา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระบุ

เมื่อโครงการสะดุดลง นายเปรมชัย บอกว่า เขาไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะงานนี้หวังมานาน มีการลงทุนทั้งเงิน และกำลังคนมาไม่ต่ำกว่า 7- 8 เดือน ทั้งการลงพื้นที่เพื่อ "เคลียร์" กับชาวบ้าน เตรียมการด้านเทคนิค ประสานงานเพื่อชนะการประมูล งานนี้ นายเปรมชัย บอกชัดเจนว่า" อยากได้" และมั่นใจว่าจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายใน 5 ปี ตามที่กำหนด

ฉะนั้น จุดยืนของ "ไอทีดี" เวลานี้คือ ต้องการให้รัฐเร่งทำตามคำสั่งศาลปกครอง เพื่อจะได้ดำเนินการขั้นต่อไป คือ การเจรจาเซ็นสัญญาออกแบบและดำเนินโครงการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ ไอทีดี มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 30% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

สิ่งที่ นายเปรมชัย มองว่าเป็นจุดอ่อนทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คือ รัฐบาลขาดการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการให้ชัดเจน กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน ถึงความจำเป็นรวมถึงการันตีความเชื่อมั่นเพราะแน่นอนว่า การลงทุนโครงการขนาดใหญ่โดยการออกเป็น พ.ร.ก. กู้เงินถึง 350,000 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการ และเป็นไปด้วยความรวดเร็วจะต้องเป็นที่จับตามอง

เตือนรัฐ 3.5 แสนล้าน บทเรียนสำคัญ

นายเปรมชัย ย้ำว่า การที่ตนต้องออกมาพูด เพราะเป็นหนึ่งในผู้รับเหมารายใหญ่ของไทยตอนนี้ แม้ศาลจะมีคำตัดสินแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ถือว่าสายเกินไปนัก สิ่งสำคัญจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลต้องนำกลับไปทบทวนปรับปรุงใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อการพัฒนาระบบโครงการสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย หากโครงการนี้หยุดชะงักไป แล้วในอนาคตเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก เกิดความเสียหายคงไม่เอาอีกแล้ว จึงย้ำว่าขอให้ทำรัฐบาลต้องทำ และต้องการให้คนที่เข้าใจออกมาช่วยกันพูด ช่วยกันชี้แจงประชาชน

"ถ้าไม่ได้ทำ อีก 5 ปี น้ำกลับมาแล้วใครจะรับผิดชอบ เอ็นจีโอเหรอ มีแต่คนจะเดือดร้อน ต้องมองว่าผลประโยชน์จริงของโครงการนี้ คือ ผลประโยชน์ของประชาชน แต่ตอนนี้มีคนออกมาโจมตี ผมก็คิดว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังจากฝ่ายต่อต้าน แต่ถ้าเราไม่ออกมาพูดปล่อยให้เขาพูดกันไป ดีไม่ดีเจ๋งเลยเราจะยอมเหรอ กลัวจะโกงเหรอ ผมนั่งอยู่นี่ไม่โกงเด็ดขาด อิตาเลียนไทยฯ มีตราครุฑ ทำงานระดับประเทศ ทั่วโลกไม่เคยมีประวัติ ฉะนั้นผมบอกแล้วว่าผมทำงานนี้โดยซื่อตรงและต้องทำให้สำเร็จเพื่อตัวเราเองและลูกหลาน"

"เปรมชัย" ยันจ่ายเวนคืนชาวบ้านสูง

ส่วนกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเรื่องของการทำความเข้าใจกับประชาชน และการศึกษาผลกระทบอีไอเอ นั้น นายเปรมชัย ย้ำว่า เป็นขั้นตอนที่มีอยู่ในแผนงานแล้ว ไม่เช่นนั้นการดำเนินการก่อสร้างจะไม่สามารถทำได้ ในส่วนโมดูลโครงการที่ไอทีดีได้รับมานั้นมีสัดส่วนงบค่าเวนคืนเพียง 1% ของวงเงินประมูลโครงการที่ได้มา โดยนายเปรมชัย ยกตัวอย่าง โมดูล เอ 1 คือ อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก เบื้องต้น ไอทีดี มีที่ดินที่ต้องเวนคืนจากประชาชนในพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ไอทีดีสามารถจ่ายค่าเวนคืนให้ได้ถึงไร่ละ 100,000 บาท โดยเฉลี่ย หากคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนโมดูลเอ 4 การปรับปรุงลำน้ำ คาดว่าจะใช้งบประมาณหลักหลายร้อยล้านบาท พร้อมกับมั่นใจว่าขั้นตอนนี้ เอกชนทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าส่วนราชการ

นายเปรมชัย ย้ำว่า ก่อนหน้านี้ ไอทีดี ได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยใช้การพูดคุยพร้อมๆ กับการให้ข้อมูล จึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีเพียงบางส่วนบางพื้นที่ เช่น ในส่วนของการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรที่อาจจะต้องใช้ความช่วยเหลือจากภาครัฐในส่วนของการออกเอกสารการขอเวนคืนที่ดิน

"ความเดือดร้อนของชาวบ้าน คือ ถ้าย้ายภายใต้การชดเชยในระบบราชการจำนวนเงินอาจจะไม่เพียงพอต่อการหาที่อยู่ใหม่ หรือสร้างอาชีพ เขาไปไม่รอดไปซื้อใหม่ 2 เท่า และมีขั้นตอนมาก ขณะที่เอกชนจะไม่ติดขั้นตอนแบบราชการ ถ้าจ่ายเท่านี้แล้วขอค่าเสียเวลาทำมาหากิน 2-3 ปี ก็แฟร์ตกลงได้ก็จบ" นายเปรมชัย กล่าว และว่าที่ผ่านมา ไอทีดี ได้ใช้เงินในการเตรียมการไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท ช่วง 7-8 เดือน เช่น การทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ การเตรียมตัวด้านเทคนิค

"รัฐบาลบอกว่าจะใช้เวลาจัดการ 2-3 เดือน เพื่อแก้ปัญหา แต่ผมว่า หากนานกว่านี้ รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้"

รับ "คำสั่งศาล" ส่งผลงานล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นายเปรมชัย ยอมรับว่า คำพิพากษาของศาลปกครองที่ออกมานั้น อาจส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไปบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ถึงปี เพราะหากรัฐบาลเดินหน้าดำเนินการอย่างจริงจัง จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ ไอทีดี จะเตรียมงานในส่วนที่ทำได้ก่อน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของผู้รับเหมา แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำตามคำสั่งศาลให้ลุล่วง เพราะการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เนื่องจากประเทศได้สูญเสียไปอย่างมหาศาลกับเหตุการณ์ในปี 2554 จึงเป็นความกล้าในการกู้เงิน 350,000 ล้านบาท โดยการออกเป็นพระราชกำหนดการกู้เงินเพื่อเดินหน้าโครงการอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นเพียงโครงการเล็กๆ ที่ไม่ต่อเนื่อง หลักการป้องกันน้ำท่วม สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้สามารถมีกลไกที่จะควบคุมปริมาณน้ำให้ได้

ย้ำต้องปรับเงื่อนไข ก่อนเซ็นสัญญา

นายเปรมชัย กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดความล่าช้าจากคำสั่งศาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการรับฟังความเห็น แต่ในส่วนของ ไอทีดี ก่อนจะเซ็นสัญญา ยังต้องมีการเจรจารายละเอียดในบางส่วน ซึ่งอาจต้องมีการปรับ แก้ไขใหม่ แม้ในเงื่อนไขการประมูลจะมีการกำหนดงานไว้แล้ว แต่เนื่องจากเงื่อนไขการออกแบบไปก่อสร้างไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสม "สิ่งที่ดีของเงื่อนไขการก่อสร้างที่ออกแบบไปก่อสร้างไป ทำให้ ไอทีดี มีโอกาสปรับแบบก่อสร้างตามเทคโนโลยีการก่อสร้าง ที่มีการพัฒนา ตรงนี้ทำให้เราประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 15-20%"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น