--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า !!?


รายงานพิเศษ / 65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า

นับตั้งแต่ไทยและเมียนมาร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2491 หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 65 พอดี
     
"นายดำรง ใคร่ครวญ" อธิบดีกรมเอเชีย ตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทย และพม่า เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ประชาชนมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านวัฒนธรรมและศาสนา สำหรับในยุคใหม่นี้ พม่าก็มีความสำคัญกับไทยทั้งในด้านความมั่นคง ปลอดภัย และการอยู่ดีกินดีของคนไทย เป็นตลาดที่สำคัญ เป็นฐานการผลิต อีกทั้งร้อยละ 30 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในประเทศไทยก็มาจากเมียนมาร์ ขณะเดียวกันรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ร่วมมือกันในโครงการใหญ่อย่าง "โครงการทวาย" และยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำทั้งในภาครัฐ และกองทัพมาโดยตลอด
     
สำหรับโอกาสพิเศษครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า ในปีนี้ ก็ได้เริ่มมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครยางกุ้ง ได้จัดนิทรรศกาลผ้าสองแผ่นดิน โดยรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของ 2 ชาติมาจัดแสดงร่วมกัน
     
ในส่วนของกิจกรรมที่จะมีขึ้นที่ประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นงานเลี้ยงรับรองโดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย และพม่าเข้าร่วม รวมทั้งคณะทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติจากทุกแวดวง ซึ่งในงานดังกล่าวสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย จะนำเอามรดกทางวัฒนธรรมของเมียนมาร์อย่างอาหารมาร่วมในงานด้วย เช่นเดียวกับผ้าโบราณซึ่งทั้ง 2 ชาติจะนำมาจัดแสดงร่วมกันอีกครั้ง สำหรับผ้าไทยนั้นจะได้รับการอนุเคราะห์จาก อ.เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย มาแสดงผลงานร่วมกับดีไซเนอร์ของเมียนมาร์
   
ไฮไลต์ที่น่าสนใจในงานที่จะเกิดขึ้นคือ "หนังสือภาพถ่ายที่ระลึก" ที่จัดทำขึ้นโดย "กลุ่มสหภาพ ชุมชนคนถ่ายภาพ" (Foto United) ซึ่งรวบรวมเอาผลงานภาพถ่ายของช่างภาพอาสาที่เข้าไปถ่ายภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมียนมาร์ในหลายๆ เมือง ไม่ว่าจะเป็น ย่างกุ้ง ทวาย พะโค มัณฑเลย์ เชียงตุง และเนปิดอว์ มาให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสได้ไปเยือนได้สัมผัสกัน
     
"อ.จิรนันท์ พิตรปรีชา" กล่าวว่า ภาพถ่ายเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรของชาวพม่า ที่คนไทยหลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึง เนื่องจากถูกปลูกฝังกับความคิดเดิมๆ ที่เห็นประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่มีแอกทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน
     
สำหรับประโยชน์ต่างๆ ของภาพถ่ายเหล่านี้นั้น อ.จิรนันท์ กล่าวว่า จะช่วยเป็นเครื่องมือให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคนไทยไม่ค่อยจะรู้นักเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในพม่า ตื่นตัวเรียนรู้ภาษาไทย แต่คนไทยกลับสนใจภาษาพม่าน้อยมาก ดังนั้น ภาพถ่ายก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดอุปสรรคในด้านภาษา
     
ด้าน "อ.ธีรภาพ โลหิตกุล" ผู้ซึ่งมีประสบการณ์เดินทางไปเยือนพม่าบ่อยครั้ง ยืนยันว่า จากที่ประสบมา คนพม่ามองคนไทยค่อนข้างเป็นมิตร ไม่นับรวมเรื่องคนที่นั่นชื่นชมสินค้าไทยอย่างมาก ไม่เคยเห็นแม้หางตาที่มองลงมาที่คนไทยด้วยความเป็นศัตรูเลย
     
อีกเรื่องหนึ่งที่พม่า เหมือนกับสังคมไทยก็คือ "พุทธศาสนา"  ซึ่งชาวพม่ายังคงผูกพันอยู่กับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และถือเป็นสิ่งเชื่อมโยง 2 ชาติไว้ด้วยกัน เช่น ในโอกาสฉลองครบรอบ 15 ปี สะพานมิตรภาพไทย - พม่า ข้ามแม่น้ำเมย ที่ อ.แม่สอด และเมียววดี ก็ได้มีการนิมนต์พระสงฆ์จากฝั่งไทย และพม่า ฝ่ายละ 99 รูป ขึ้นมาทำบุญร่วมกันบนสะพาน นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนสองชาติผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง หากแต่สิ่งที่ยังทำให้คนบางคนตั้งแง่กับพม่านั้นก็คือ "มิติทางประวัติศาสตร์" ที่เป็นเพียงมายาคติ และเป็นเรื่องที่จบไปแล้วเท่านั้น
     
อ.ธีรภาพ ยังได้น้อมเอาตัวอย่างที่ดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเสด็จฯ เยือนพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยได้ทรงปฏิบัติตตามธรรมเนียมของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ในการเสด็จฯ สักการะพระมหาธาตุชะเวดากอง ก็มิได้ทรงสวมรองพระพระบาท และถุงเท้า เช่นเดียวกับที่ชาวพม่าปฏิบัติ ในครั้งนั้นได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า
     
"ประเทศทั้งสองได้เรียนรู้แล้วว่าจะต้องเรียนรู้ข้อพิพาทที่เคยมีมีมาในอดีต และส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้น ด้วยกันทั้งสองฝ่ายในอนาคต ขอให้ทั้งสองประเทศนี้ได้แสดงให้ปรากฏแก่สายตาประชาโลกว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ประเสริฐ ตั้งอยู่ด้วยกันโดยสันติเป็นมิตร ประกอบกิจอันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน"
     
และอีกตอนในการกล่าวอำลาประธานาธิบดีพม่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2503 ความตอนหนึ่งดังนี้
     
ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นประชาชนชาวพม่าแสดงไมตรีจิตต่อเราทุกหนแห่ง ข้าพเจ้าเห็นการแสดงน้ำใจที่ดีเช่นนี้ ย่อมเป็นนิมิตหมายว่าชาวพม่าและชาวไทย ต่างมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่เป็นอมิตรคิดร้ายต่อกัน ไม่โลภอยากได้สิ่งใดโดยไม่ชอบธรรม และจะต่อสู้ซึ่งเสรีภาพต่างก็รักและหวงแหนเช่นกัน"
     
สำหรับตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร เป็นรูปพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศเคียงคู่กัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง แสดงถึงความเป็นอยู่คู่ฟ้าเดียวกัน บนพื้นหลังสีน้ำเงินที่แสดงความหนักแน่นมั่นคงของความสัมพันธ์ และยังมีผืนธงชาติไทยและพม่า เชื่อมร้อยต่อกัน ประดับดอกไม้ประจำชาติของทั้ง 2 ประเทศ คือ ดอกราชพฤกษ์ ของไทย และดอกประดู่ของพม่า เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่จะผลิบานต่อไปในอนาคตด้วย

ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น