เพียงแค่ 694 วัน "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ก็ต้องลุกจากเก้าอี้-ถอดหัวโขนประธานศาลรัฐธรรมนูญ
เพียงแค่ 5 ปี 2 เดือน หรือ 1,886 วัน "วสันต์" ต้องลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เขายังมีวาระเหลืออีก 3 ปี 10 เดือน
"วสันต์" ให้เหตุผลการลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งว่า ตัวเขาเสร็จสิ้นภารกิจอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว และรักษาสัญญาว่าจะอยู่ในตำแหน่งประธานแค่ 2 ปี
"ที่จริงแล้วผมจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค.เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งก็เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้"
ขณะที่ "พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์" หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงย้ำอีกครั้งว่า การลาออกของวสันต์ เป็นความประสงค์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
หากย้อนไปวันที่ "วสันต์" รับหัวโขนประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อจาก "ชัช ชลวร" ตัวเขาเคยประกาศ 4 ภารกิจ ที่จะทำในตำแหน่งประมุขศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างล้วนเป็นงาน "เชิงรุก"
1.การเร่งรัดดำเนินคดีในความรับผิดชอบ ซึ่งมีอยู่ 60 เรื่อง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2554 จะรีบพิจารณาคดีที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2552 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ยอดคดีค้างเหลือในศาลรัฐธรรมนูญเหลือน้อยกว่า 40 เรื่อง ขณะที่ในปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำคดีในส่วนของปี 2553 และ 2554 ให้แล้วเสร็จ
2.การดำเนินการทำกฎและระเบียบว่าด้วยการจัดทำคดี ทั้งในส่วนการรับเรื่อง ลงระบบ พิจารณา จัดประเภทคดี รวมถึงวิธีการทำธุรการทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่ออำนวยความสะดวก และไม่เกิดข้อโต้แย้งภายหลัง
3.การสร้างความสามัคคีในองค์กร
4.เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน การจัดระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่กับสื่อมวลชน และเผยแพร่ข้อมูลในทุกเรื่องที่ไม่เป็นการชี้นำ
แต่การทำงาน "เชิงรุก" แบบไม่มีเบรก ของศาลรัฐธรรมนูญในยุคที่มี "วสันต์" เป็นประมุข กลับเป็นจุดเปราะบางให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกโจมตีจากโจทก์การเมือง "พรรคเพื่อไทย"
หากไม่นับการยุบพรรคพลังประชาชนในปลายปี 2551 จนต้องเปลี่ยนหัวใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ในยุค "ชัช ชลวร" เป็นประธาน รวมทั้งตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้เงินบริจาคผิดประเภทในปี 2553
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี "วสันต์" นั่งเป็นประมุข ฝังความแค้นให้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ทั้งการให้ "จตุพร พรหมพันธุ์" พ้นจากการเป็น ส.ส.เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก
ไล่ตั้งแต่การเบรกการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3 โดยแนะนำให้ไปทำประชามติถามประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงก่อน
ล่าสุดรับคำร้องกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สายสรรหายื่นร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.จำนวน 312 เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
จนฝ่ายนิติบัญญัติที่นำโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ขณะเดียวกัน นักวิชาการนิติศาสตร์หลายรายยังกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญในยุค "วสันต์" กำลังเล่นการเมือง ส่วนสหภาพรัฐสภาโลก หรือ IPU มองว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังกระทำปฏิวัติ
แม้ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก่อให้เกิดคำวิจารณ์เชิงลบทางการเมือง จะมาจากมติเสียงข้างมาก แต่ชื่อของ "วสันต์" ก็ไม่อาจพ้นบ่วงข้อกล่าวหา-คำครหาว่า "ไม่เป็นกลาง" หรือ "2 มาตรฐาน" ได้
ทั้งที่ตัวเขาย้ำกับสาธารณะมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ 2 มาตรฐาน
"เมื่อเป็นองค์กรตุลาการเป็นศาล สิ่งสำคัญ ต้องมีหลักปฏิบัติเคารพเสียงข้างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน...สองมาตรฐานเป็นคำพูดที่เกร่อมาก คนที่พูดยังไม่เข้าใจว่าสองมาตรฐานแปลว่าอะไร เพราะแต่ละเรื่องข้อเท็จจริงในคดีไม่เหมือนกัน ทำให้ศาลลงโทษในลักษณะไม่เหมือนกัน บางเรื่องเกิดมาเคยตัดสินเรื่องแรก จะเป็นสองมาตรฐานได้อย่างไร นี่คือความไม่รู้เรื่อง เรื่องสองมาตรฐาน แต่พูดแล้วโก้ดี"
"การจะเข้าเกณฑ์สองมาตรฐานได้ ต้องเป็นเรื่องเหมือนกัน เช่น พรรคนี้ถูกยุบ แต่อีกพรรคไม่ถูกยุบ แต่ที่ไม่ยุบ เพราะคนละกฎหมาย คนละเนื้อหา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องว่าใช้เงินผิดประเภท เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ข้อหาคนละอย่าง กฎหมายคนละเล่ม คนละเรื่อง คำที่พูดว่าสองมาตรฐาน บางทีก็พูดไปโดยไม่เข้าใจ"
เป็น "วิบากกรรม" 694 วันของ "วสันต์" บนบัลลังก์ประมุข
ดังนั้น ภารกิจลบคำครหา 2 มาตรฐาน รวมถึงเสียงวิจารณ์ว่าการเข้าไป "ล้วงลูก"-"ก้าวก่าย" ฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาแบกรับหัวโขน "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อจาก "วสันต์"
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ตุลาการที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขได้จะต้องมาจากสายตุลาการ ดังนั้นชื่อที่ปรากฏอยู่ในโผเข้ามารับตำแหน่งในวันข้างหน้า ที่เข้าเกณฑ์อาวุโสมากที่สุดคือนายจรูญ อินทจาร (สายศาลปกครอง) นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (สายศาลปกครอง) นายนุรักษ์ มาประณีต (สายศาลฎีกา) ตามลำดับ
โดยเผือกร้อนที่ยิ่งกว่าร้อน รอโยนใส่มือประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือการวินิจฉัยกรณี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เข้าช่ายขัดมาตรา 68 หรือไม่
หาก "จรูญ" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางลง เพราะในคำวินิจฉัยส่วนตัวเมื่อครั้งวินิจฉัยกรณีมาตรา 68 รอบแรก "จรูญ" เขียนความเห็นไว้ว่า สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ หากมีการทำประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หาก "อุดมศักดิ์" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางยิ่งกว่า เพราะเขียนความเห็นไว้ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นนี้ได้"
แต่ถ้า "นุรักษ์" ขึ้นเป็นประธาน แน่นอนความขัดแย้งอาจปะทุขึ้นอีกรอบ พรรคเพื่อไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้
เนื่องจากในคำวินิจฉัยส่วนตัวของ "นุรักษ์" นั้นระบุว่า "ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะขัดมาตรา 68 วรรค 1 เพราะเป็นการกระทำที่มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
นับจากวันที่ 1 ส.ค.ที่ใบลาออกของ "วสันต์" มีผลในทางปฏิบัติ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสาขานิติศาสตร์แทนคนใหม่ภายใน 30 วัน จากนั้นจะส่งชื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบ ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อตุลาการคนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง
เมื่อได้ตุลาการครบองค์คณะ 9 คนแล้ว จะมีการเรียกประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยมี "จรูญ" ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะอาวุโสสูงสุด
จึงต้องจับตาอย่างระทึกว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะมารับเผือกร้อนเป็นใคร
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////
เพียงแค่ 5 ปี 2 เดือน หรือ 1,886 วัน "วสันต์" ต้องลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เขายังมีวาระเหลืออีก 3 ปี 10 เดือน
"วสันต์" ให้เหตุผลการลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งว่า ตัวเขาเสร็จสิ้นภารกิจอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว และรักษาสัญญาว่าจะอยู่ในตำแหน่งประธานแค่ 2 ปี
"ที่จริงแล้วผมจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค.เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งก็เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้"
ขณะที่ "พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์" หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงย้ำอีกครั้งว่า การลาออกของวสันต์ เป็นความประสงค์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
หากย้อนไปวันที่ "วสันต์" รับหัวโขนประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อจาก "ชัช ชลวร" ตัวเขาเคยประกาศ 4 ภารกิจ ที่จะทำในตำแหน่งประมุขศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างล้วนเป็นงาน "เชิงรุก"
1.การเร่งรัดดำเนินคดีในความรับผิดชอบ ซึ่งมีอยู่ 60 เรื่อง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2554 จะรีบพิจารณาคดีที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2552 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ยอดคดีค้างเหลือในศาลรัฐธรรมนูญเหลือน้อยกว่า 40 เรื่อง ขณะที่ในปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำคดีในส่วนของปี 2553 และ 2554 ให้แล้วเสร็จ
2.การดำเนินการทำกฎและระเบียบว่าด้วยการจัดทำคดี ทั้งในส่วนการรับเรื่อง ลงระบบ พิจารณา จัดประเภทคดี รวมถึงวิธีการทำธุรการทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่ออำนวยความสะดวก และไม่เกิดข้อโต้แย้งภายหลัง
3.การสร้างความสามัคคีในองค์กร
4.เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน การจัดระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่กับสื่อมวลชน และเผยแพร่ข้อมูลในทุกเรื่องที่ไม่เป็นการชี้นำ
แต่การทำงาน "เชิงรุก" แบบไม่มีเบรก ของศาลรัฐธรรมนูญในยุคที่มี "วสันต์" เป็นประมุข กลับเป็นจุดเปราะบางให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกโจมตีจากโจทก์การเมือง "พรรคเพื่อไทย"
หากไม่นับการยุบพรรคพลังประชาชนในปลายปี 2551 จนต้องเปลี่ยนหัวใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ในยุค "ชัช ชลวร" เป็นประธาน รวมทั้งตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้เงินบริจาคผิดประเภทในปี 2553
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี "วสันต์" นั่งเป็นประมุข ฝังความแค้นให้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ทั้งการให้ "จตุพร พรหมพันธุ์" พ้นจากการเป็น ส.ส.เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก
ไล่ตั้งแต่การเบรกการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3 โดยแนะนำให้ไปทำประชามติถามประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงก่อน
ล่าสุดรับคำร้องกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สายสรรหายื่นร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.จำนวน 312 เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
จนฝ่ายนิติบัญญัติที่นำโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ขณะเดียวกัน นักวิชาการนิติศาสตร์หลายรายยังกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญในยุค "วสันต์" กำลังเล่นการเมือง ส่วนสหภาพรัฐสภาโลก หรือ IPU มองว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังกระทำปฏิวัติ
แม้ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก่อให้เกิดคำวิจารณ์เชิงลบทางการเมือง จะมาจากมติเสียงข้างมาก แต่ชื่อของ "วสันต์" ก็ไม่อาจพ้นบ่วงข้อกล่าวหา-คำครหาว่า "ไม่เป็นกลาง" หรือ "2 มาตรฐาน" ได้
ทั้งที่ตัวเขาย้ำกับสาธารณะมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ 2 มาตรฐาน
"เมื่อเป็นองค์กรตุลาการเป็นศาล สิ่งสำคัญ ต้องมีหลักปฏิบัติเคารพเสียงข้างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน...สองมาตรฐานเป็นคำพูดที่เกร่อมาก คนที่พูดยังไม่เข้าใจว่าสองมาตรฐานแปลว่าอะไร เพราะแต่ละเรื่องข้อเท็จจริงในคดีไม่เหมือนกัน ทำให้ศาลลงโทษในลักษณะไม่เหมือนกัน บางเรื่องเกิดมาเคยตัดสินเรื่องแรก จะเป็นสองมาตรฐานได้อย่างไร นี่คือความไม่รู้เรื่อง เรื่องสองมาตรฐาน แต่พูดแล้วโก้ดี"
"การจะเข้าเกณฑ์สองมาตรฐานได้ ต้องเป็นเรื่องเหมือนกัน เช่น พรรคนี้ถูกยุบ แต่อีกพรรคไม่ถูกยุบ แต่ที่ไม่ยุบ เพราะคนละกฎหมาย คนละเนื้อหา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องว่าใช้เงินผิดประเภท เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ข้อหาคนละอย่าง กฎหมายคนละเล่ม คนละเรื่อง คำที่พูดว่าสองมาตรฐาน บางทีก็พูดไปโดยไม่เข้าใจ"
เป็น "วิบากกรรม" 694 วันของ "วสันต์" บนบัลลังก์ประมุข
ดังนั้น ภารกิจลบคำครหา 2 มาตรฐาน รวมถึงเสียงวิจารณ์ว่าการเข้าไป "ล้วงลูก"-"ก้าวก่าย" ฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาแบกรับหัวโขน "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อจาก "วสันต์"
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ตุลาการที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขได้จะต้องมาจากสายตุลาการ ดังนั้นชื่อที่ปรากฏอยู่ในโผเข้ามารับตำแหน่งในวันข้างหน้า ที่เข้าเกณฑ์อาวุโสมากที่สุดคือนายจรูญ อินทจาร (สายศาลปกครอง) นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (สายศาลปกครอง) นายนุรักษ์ มาประณีต (สายศาลฎีกา) ตามลำดับ
โดยเผือกร้อนที่ยิ่งกว่าร้อน รอโยนใส่มือประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือการวินิจฉัยกรณี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เข้าช่ายขัดมาตรา 68 หรือไม่
หาก "จรูญ" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางลง เพราะในคำวินิจฉัยส่วนตัวเมื่อครั้งวินิจฉัยกรณีมาตรา 68 รอบแรก "จรูญ" เขียนความเห็นไว้ว่า สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ หากมีการทำประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หาก "อุดมศักดิ์" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางยิ่งกว่า เพราะเขียนความเห็นไว้ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นนี้ได้"
แต่ถ้า "นุรักษ์" ขึ้นเป็นประธาน แน่นอนความขัดแย้งอาจปะทุขึ้นอีกรอบ พรรคเพื่อไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้
เนื่องจากในคำวินิจฉัยส่วนตัวของ "นุรักษ์" นั้นระบุว่า "ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะขัดมาตรา 68 วรรค 1 เพราะเป็นการกระทำที่มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
นับจากวันที่ 1 ส.ค.ที่ใบลาออกของ "วสันต์" มีผลในทางปฏิบัติ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสาขานิติศาสตร์แทนคนใหม่ภายใน 30 วัน จากนั้นจะส่งชื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบ ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อตุลาการคนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง
เมื่อได้ตุลาการครบองค์คณะ 9 คนแล้ว จะมีการเรียกประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยมี "จรูญ" ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะอาวุโสสูงสุด
จึงต้องจับตาอย่างระทึกว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะมารับเผือกร้อนเป็นใคร
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น