--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รัฐบาลที่ดีต้องไม่ทำผิด กม.เสียเอง !!?

นับวันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจงใจใช้อำนาจรัฐอันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับเริ่มจากการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 และ 76ที่บัญญัติว่า รัฐบาลจะต้องแถลงผลงานประจำปีต่อรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นท้วงติงเสนอแนะ แต่รัฐบาลกลับจงใจไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายสูงสุดเพื่อหนีการถูกตรวจสอบทั้งๆ ที่บริหารราชการแผ่นดินมาจะครบ 2 ปีแล้ว

นอกจากนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังจงใจไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะมีสาระสำคัญกำหนดให้มีระบบเงินบำนาญในบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุทั่วประเทศและทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาชุดที่แล้วและประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้ว โดยสาเหตุเพียงเพราะปัญหาทางการเมืองเนื่องจากกฎหมายกองทุนเพื่อการออมแห่งชาติเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ รัฐบาลชะลองบเงินกู้โครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ไว้ก่อนจนกว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67 ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งรีบรวบรัดเดินหน้าโครงการโดยไม่รับฟังความเห็นของภาคประชาชน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งคณะกรณีงบเงินกู้บริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท โดยระบุว่า รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายรวม 5 ฉบับอย่างชัดแจ้ง ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และ มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วกลุ่มองค์กรภาคประชาชน อาทิ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดกับรัฐบาลในงบโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เช่นกันโดยชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับ

ล่าสุด ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แถลงเตือนรัฐบาลว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั่วประเทศขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่บัญญัติว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลังถือเป็นเงินของแผ่นดินซึ่งการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินจึงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การออก พ.ร.บ.นอกเหนือจากวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ จะไม่มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารนานถึง 7 ปี ขณะที่การกู้เงินมูลค่ามหาศาลนี้จะมีผลผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการ
ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยกัน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่มีอิสระในการปฏิเสธโครงการของรัฐบาลชุดนี้หรือเสนอโครงการพัฒนาใหม่ๆ ได้อีก

ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สร้างภาพเรียกร้องให้ยึดหลักประชาธิปไตยมาตลอด ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการลุแก่อำนาจจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอันเป็นการสร้างบรรทัดฐานอันเลวร้ายและขัดกับอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างสิ้นเชิง

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น