--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

งดแถลงหยุดยิง ตลอดเดือนรอมฎอน : ใครได้-ใครเสีย !!??

โดย อบู ยะมีนะฮ์

กรณีมาเลเซียงดแถลงมาตรการหยุดยิงในภาคใต้ของไทยตลอดเดือนรอมฎอน ใครได้-ใครเสีย?

ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่า มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับขบวนการ Barisan Revolusi Nasional (BRN) ได้แจ้งแก่ สมช.ว่า

มาเลเซียจะจัดการแถลงข่าวร่วมกับผู้แทน BRN เกี่ยวกับมาตรการลดเหตุรุนแรงในภาคใต้ของไทยช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของมุสลิมซึ่งปีนี้มีกำหนดเริ่มขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม)

ในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาในมาเลเซียนั้น ปรากฏว่าก่อนถึงกำหนดการแถลงดังกล่าวเพียงครึ่งชั่วโมง พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กลับได้รับการประสานจากมาเลเซียว่า ของดการแถลงดังกล่าวทั้งในรูปของการแถลงด้วยวาจาและเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน



พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช ภาพจาก Voice TV

นำไปสู่คำถามใหญ่ตามมาอย่างน้อย 2 ประการ
คำถามแรกคือ เกิดเหตุอะไรขึ้นที่ทำให้มาเลเซียไม่สามารถจัดการแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนได้ ทั้งที่มีการแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบผ่านช่องทางที่เป็นทางการแล้ว
อีกคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันและอาจสำคัญกว่าคำถามแรกด้วยซ้ำ คือการงดแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงครั้งนี้จะส่งผลต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
สาเหตุของการงดแถลงหยุดยิงในเดือนรอมฏอน

เบื้องต้นพลโทภราดรเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ทางมาเลเซียของดการแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงของ BRN ในเดือนรอมฎอน แต่ทาง สมช.ได้ประสานกับมาเลเซียเพื่อสอบถามเหตุผลอย่างเป็นทางการจากมาเลเซียไปแล้ว และต้องการความชัดเจนว่าการงดแถลงดังกล่าวเป็นเพียงการเลื่อนหรือจะเป็นการยกเลิกการแถลงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี พลโทภราดรยังคงยืนยันว่า ไม่ว่าการแถลงหยุดยิงจะมีขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวทางขอหยุดยิงหรือลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอนที่มีอยู่เดิม ตามที่ได้มีการพูดคุยไว้กับ BRN และมาเลเซียก่อนหน้านี้แต่อย่างใด โดยกำหนดกรอบเวลาที่ฝ่ายไทยต้องการจะลดความรุนแรงคือในช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม

ส่วนท่าทีของมาเลเซียและ BRN ในชั้นนี้ ดาโต๊ะ ซัมซามิน อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวย

ความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวที่กัวลาลัมเปอร์ว่า เหตุที่ต้องงดแถลงข่าวร่วมกับผู้แทนขบวนการ BRN เกี่ยวกับมาตรการลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนอย่างกระทันหัน เป็นเพราะฝ่าย BRN ไม่พร้อมที่จะแถลงท่าทีต่อสาธารณชนในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี ฝ่าย BRN ยังคงยืนยันว่าจะไม่ก่อเหตุรุนแรงตลอดเดือนรอมฎอน และหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น จะช่วยเจ้าหน้าที่สืบสวนว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด
ใครได้-ใครเสีย ?

BRN

คำชี้แจงของดาโต๊ะ ซัมซามิน ที่ระบุถึงเหตุที่ต้องงดการแถลงตามกำหนดเดิมว่าเป็นเพราะ BRN ไม่พร้อมที่จะแถลงท่าทีในช่วงนี้ ถือว่ายังไม่เพียงพอ และกลับชวนให้สงสัยว่า ความไม่พร้อมของ BRN ที่ว่านั้นมาจากการที่ฮะซัน ตอยยิบ หัวหน้าคณะผู้แทนของ BRN ไม่มั่นใจว่าจะสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกคนอื่นๆ ในสังกัดยุติหรือลดเหตุรุนแรงในช่วงนี้ได้

หรือเป็นตามจริงแล้ว ฮะซัน ตอยยิบ ไม่ได้รับมอบอาณัติและอำนาจการตัดสินใจให้มาเป็นตัวแทนของ BRN อย่างแท้จริงตั้งแต่แรกอย่างที่มีหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยในวงกว้าง หลังจากกระบวนการพูดคุยระหว่าง BRN กับรัฐบาลไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถนำไปสู่การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้จริง

ทั้งนี้ หากมาเลเซียยังไม่สามารถให้เหตุผลที่เป็นทางการแก่ สมช. เพื่อขจัดข้อสงสัยตามที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะและความเชื่อถือที่มีต่อฮะซัน ตอยยิบในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับไทยหลังจากนี้



ฮะซัน ตอยยิบ BRN ภาพจากไทยรัฐ

มาเลเซีย

การที่มาเลเซียแจ้งให้ สมช.ทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการว่าจะมีการจัดแถลงข่าวร่วมกับ BRN เกี่ยวกับแนวทางลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนนั้น แสดงว่ามาเลเซียต้องมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งแล้วว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ BRN ยอมรับข้อเสนอของไทยที่ต้องการให้ลดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนได้

แต่เมื่อมีเหตุที่ทำให้ต้องตัดสินใจงดการแถลงดังกล่าวอย่างกะทันหัน มาเลเซียก็กลายเป็นฝ่ายที่ต้องถูกตั้งคำถามด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้นว่า มาเลเซียประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าว BRN ให้ฮะซัน ตอยยิบยอมลดเหตุรุนแรงในช่วงนี้หรือไม่ หรือเป็นเพราะมาเลเซียตระหนักแล้วว่า ฮะซัน ตอยยิบ ไม่มีอำนาจสั่งการให้สมาชิกคนอื่นๆ ใน BRN ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ได้

ซึ่งหากเป็นกรณีหลังก็เท่ากับว่า มาเลเซียดำเนินการผิดพลาดมาตั้งแต่แรกแล้วที่เอาบุคคลที่ไม่ใช่ “ตัวจริง” มาเป็นคู่สนทนากับฝ่ายไทย แต่หากไม่ใช่ด้วยปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้แล้ว ก็คงต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะมาเลเซียเกรงว่าหากมีการประกาศมาตรการลดเหตุรุนแรงที่เป็นที่ยอมรับได้ทั้งจาก BRN และรัฐบาลไทยแล้ว แต่ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นโดยการกระทำของสมาชิก BRN หรือสมาชิกขบวนการกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยแสดงพลังให้เห็นว่าพวกตนยังคงยืนหยัดในแนวทางสู้รบด้วยอาวุธต่อไป

ซึ่งหากเป็นกรณีหลังนี้ ก็เท่ากับว่า การพูดคุยที่มีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ผลักดันผู้ที่มีความเห็นต่างเพิ่มการก่อเหตุรุนแรง แทนที่จะสามารถผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ไทย

การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเป้าหมายหลักที่คณะผู้แทนการพูดคุยสันติภาพของฝ่ายไทยพยายามผลักดันผ่านการพูดคุยกับ BRN มาโดยตลอด และเมื่อเห็นโอกาสอันดีที่กำลังเข้าสู่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนสำคัญของมุสลิม จึงเสนอให้ทุกฝ่ายหาทางลดความรุนแรงในเดือนนี้ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย

สถานการณ์ล่าสุด จากการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับศาสตราจารย์อิกมาลุดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC) ที่อิสตันบูล ระหว่างการเยือนตุรกีของนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะผลักดันให้มีการหยุดยิงในเดือนรอมฎอนร่วมกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ขึ้น เพื่อชี้แจงให้เลขาธิการ OIC ทราบ

ผลปรากฏว่า เลขาธิการ OIC ให้การตอบรับในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และมีการออกข่าวสารนิเทศบนหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ OIC เมื่อ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญว่า เลขาธิการ OIC สนับสนุนความพยายามหยุดยิงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยตลอดเดือนรอมฎอนนี้ เนื่องจากรอมฎอนเป็นเดือนที่มุสลิมให้ความสำคัญกับการใช้ความอดทนอดกลั้นและการประกอบศาสนกิจเพื่อทำจิตใจให้สงบเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังหวังว่าการหยุดยิงที่จะมีขึ้นจะสามารถนำไปสู่การสร้างสันติสุขและแก้ไขปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแถลงมาตรการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยจะไม่เกิดขึ้นตามกำหนดที่มาเลเซียวางไว้ แต่การที่รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายชิงความได้เปรียบทางการทูตด้วยการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ดีให้ OIC ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น

รวมทั้งการยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะลดความรุนแรงตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามเดิมในช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม ไม่ว่าจะมีการแถลงมาตรการลดความรุนแรงโดยฝ่าย BRN หรือไม่ก็ตาม ก็ทำให้ไทยกำลังเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในเวทีการทูตอย่างชัดเจน

ประชาชนในพื้นที่

แม้ว่าทั้งไทย มาเลเซีย และ BRN จะยืนยันสอดคล้องกันว่า การงดแถลงมาตรการหยุดยิงในเดือนรอมฎอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่ต้องการลดเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเดือนรอมฎอน อีกทั้งได้รับการยืนยันจากมาเลเซียว่า หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ก็ยังมีกลไกที่เปิดช่องทางให้สามารถประสานผ่านมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเพื่อแจ้งเหตุหรือสอบถามว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากฝ่ายใดได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการแถลงด้วยวาจาหรือจัดทำเอกสารยืนยันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า BRN และไทยโดยการประสานงานของมาเลเซียสามารถบรรลุมาตรการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนร่วมกันได้แล้ว ก็เท่ากับว่ายังคงไม่มีหลักประกันให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจ “ในระดับหนึ่ง” ได้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ตลอดรอมฎอนปีนี้จะผ่อนคลายลง และคงทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดหวั่นกันต่อไป

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น