--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เฉลิม อยู่บำรุง : ในสถานการณ์ เปลี่ยนตำแหน่ง ไม่เปลี่ยนปาก !!??

โดย:นพคุณ ศิลาเณร

วูบแรกอ่านหัวข่าว “เฉลิมน้อยใจ...ฮึ่มไขก๊อก” (มติชน 2 ก.ค.2556) ได้แต่อุทาน “เอาอีกแล้ว ดร.เฉลิม อารมณ์ชายมีประจำเดือน” ไหลย้อนกลับมาอีกจนได้...

“เฉลิม อยู่บำรุง” ไม่พอใจการปรับคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ 26 มิถุนายน ที่เมื่อรู้ข่าวว่าถูกโยกออกจาก “รองนายกรัฐมนตรี” ไปเป็น “รมว.แรงงาน” เท่ากับเป็น “รัฐมนตรีจับกัง” ตามการเปรียบเปรย ประชดประชันของสื่อ

อาการน้อยเนื้อต่ำใจของ “เฉลิม” ก่อรูปให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เขาไม่ร่วมถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่ทำเนียบรัฐบาล

แล้วยกระดับอารมณ์น้อยใจถึงขั้น “ลา” ประชุมคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม ด้วยเหตุผลตื้นๆ ว่า นัดแพทย์ตรวจร่างกาย

จาก 26 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม อารมณ์น้อยใจของ “เฉลิม” พัฒนาขึ้นจนส่ออาการ “แยกทาง” กับรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

แยกทางมีความหมายดุจเดียวกับ “ไขก๊อก” และเท่ากับ “ลาออก” จาก รมว.แรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มทางอารมณ์ว่า มีความ “น่าจะเป็น” มากขึ้น

+ คนห่ามๆ อารมณ์เดิมๆ

หรือว่า อารมณ์น้อยใจของ “เฉลิม” เป็นเกมการเมือง แน่ละ นักวิเคราะห์ย่อมคิดได้

แต่เกมนี้คงไม่เกิดประโยชน์กับหมู่มิตรรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นบรรดาคนกันเองทั้งนั้น

เอาเถอะ...หากเป็นเกมหรือไม่เป็นเกมก็ตาม แต่ดูเหมือน “เฉลิม” จวนเจียนไปสู่หนทาง “จบเกม” การเมืองมากขึ้นทุกขณะ

“เกมจบ” แล้ว ตั้งแต่สื่อพร้อมใจกันนำเสนอประเด็นในทิศทางเดียวกันว่า “เฉลิมน้อยใจ” ซึ่งอาการน้อยใจนั้น เป็นการสะท้อนอารมณ์ลึกๆ ของนักการเมืองคนแก่ๆ

เหนืออื่นใดแล้ว อารมณ์น้อยใจ ยากจะหาเหตุผลมาอธิบายช่วงเหตุการณ์จิตใจถูกฉุดกระชากจนเกิดอารมณ์แปรปรวน และออกอาการไม่พอใจจนลมออกหู...

ถึงที่สุด เฉลิมไม่มีอะไรที่ลึกลับมากไปกว่า “คนแก่น้อยใจ”

มันไม่ใช่เกมและไม่ได้เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อหลอกฝ่ายตรงข้ามให้หัวปั่น แต่กลับเป็นอารมณ์ของนักการเมืองในวัยชรา

คนชราภาพย่อมมีมิติจิตใจดุจเดียวกับ “เด็ก” ที่มักใช้อารมณ์มากกว่าการใคร่ครวญหาเหตุผล

ดังนั้น อารมณ์ของจิตใจจึงไม่จำเป็นต้องไปตามหาเหตุผลเบื้องลึก เพราะไม่มีให้หา และคนนอกค้นไม่เคยเจอ หากไม่เข้าไปสัมผัสภายในใจอย่างใกล้ชิด

สัมผัสด้วยจิตใจใคร่ครวญ ตามแบบฉบับสำนวนไทยที่ว่า “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” นั่นคือ มิติพัฒนาไปสู่จิตใจที่ปรองดองขึ้น

ในทางการเมืองเมื่อกว่า 2 ปีผ่านมา อารมณ์น้อยใจของเฉลิมเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งติดๆ

หากว่ากันด้วยศาสตร์ทางใจ ร่องรอยอารมณ์น้อยใจของเฉลิมเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2554 จุดเริ่มต้นมาจากมติที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” เป็นหัวหน้าทีมนำทัพทำศึกซักฟอกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เป็นรายบุคคล

“เฉลิม” ต่อสู้ทางการเมืองมาโชกโชน มีพรรษาเข้าขั้นอาจารย์ผู้เจนจัด เมื่อมาอยู่พรรคเพื่อไทยถูกจัดเป็นอาวุโสนั่งตำแหน่ง “ประธาน ส.ส.พรรค”

ส่วนมิ่งขวัญจัดอันดับงานการเมืองอยู่ในขั้นละอ่อน ขาดประสบการณ์ แต่ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับไว้วางใจให้เป็น “หัวหน้าทีม” ทำงานใหญ่และสำคัญ

อาการน้อยใจของเฉลิมย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เขาประกาศไม่ทำหน้าที่ซักฟอกร่วมกับหัวหน้ามิ่งขวัญ จากนั้นเขาตระเวนไหว้พระดังๆ หาความสบายใจใส่ตัว ไม่คิดฟุ้งซ่าน

ครั้งนั้นเฉลิมย้ำเสมอๆ ว่า “ไม่กลับคืนคำ...เดี๋ยวเสียคน” แต่ถึงที่สุดเขาต้องกลับคำจนได้เมื่อทักษิณ วิดีโอลิงค์มาอ้อนกลางห้องประชุมพรรคเพื่อไทย เขาเปลี่ยนใจ เข้าร่วมทีมซักฟอกด้วยดีและเต็มใจ

อารมณ์คนแก่ในวัย 60 ปลายๆ ย่อมอยู่เหนือจุดยืนทางการเมืองเสมอ นี่คือธรรมชาติมนุษย์ ไม่มีลูกเล่นแบบมีเกมการเมืองเบื้องหลัง

ในเหตุการณ์อารมณ์น้อยใจครั้งที่สอง ก็เกิดจากมิ่งขวัญอีกตามเคย...

สาเหตุเกิดจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ส.ส.อีสาน พยายามดันมิ่งขวัญเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อวัดอนาคตเบอร์หนึ่งแข่งขันเลือกตั้งสู้พรรคประชาธิปัตย์

“เฉลิม” ประเมินว่า หากเอามิ่งขวัญไปแข่งกับอภิสิทธิ์ต้องแพ้เลือกตั้งแน่นอน เขาประกาศจุดยืนการเมือง “ไม่อุ้มไก่แพ้” แต่สนับสนุนให้ “ยิ่งลักษณ์” เป็นเบอร์หนึ่ง เดิมพันอนาคตนายกรัฐมนตรีกับอภิสิทธิ์

อารมณ์น้อยใจประชดประชันของคนแก่อย่างเฉลิมเกิดขึ้นอีก ครั้งนี้เขา “ลาออกจาก ส.ส.” เมื่อ 23 มีนาคม 2554 เพื่อประท้วงไม่ยอมอยู่ภายใต้การนำของมิ่งขวัญ ราวกับส่งสัญญาณถึงทักษิณให้มาอ้อนอีก

แล้วอารมณ์การเมืองซ้ำซาก ได้ย้อนกลับมารอยเดิม ทักษิณอ้อน เฉลิมสงบ พอใจและลงแรงช่วย “ยิ่งลักษณ์” หาเสียงจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

+ “ปาก” เป็นพิษ

“เฉลิม” เล่นการเมืองมานาน ได้เป็น รมว.มหาดไทย ตามที่หวังแล้ว แม้ตำแหน่ง รมว.เกษตรฯที่แอบหมายตาไว้ยังไปไม่ถึงก็ตาม แต่ในช่วงอารมณ์น้อยใจครั้งที่สอง เขาเคยบอกกับสื่อว่า ต้องการวางมือทางการเมือง ด้วยเหตุผลอายุมาก

ปัจจุบันเฉลิมอยู่ในวัย 66 ปี ในทางการเมืองไม่มีคำว่า “แก่ชรา” แต่สำหรับธรรมชาติมนุษย์แล้ว คือคนแก่ค่อนไปทาง “ผู้เฒ่า” สมควรละวางจากการงาน พักผ่อน เลี้ยงหลานอย่างเป็นสุขใจ

นับแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อเกิดเมื่อสิงหาคม 2554 เฉลิมเป็นรองนายกรัฐมนตรีใหญ่โต คุมงานตำรวจและสายความมั่นคงทั้งหมด หากจัดอันดับทางการเมืองแล้ว ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของเขาคือ เบอร์หนึ่ง มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี “รักษาการ” เมื่อนายกรัฐมนตรีตัวจริงมอบหมาย

ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเบอร์หนึ่งค้ำศักดิ์ศรีทางการเมืองของเฉลิมได้เด่นชัด จนเชื่อได้ว่า นี่คือ “จุดสูงสุด” ทางการเมืองของเขาแล้ว

เฉลิมมีความสุข หัวเราะเอิ๊กอ๊ากยามสัมภาษณ์สื่อ เดินอกผึ่งเด่นสง่าเมื่อแวดล้อมด้วยตำรวจห้อมล้อม ตลอดเกือบ 2 ปีผลงานปราบปรามยาเสพติดของเขาเข้าตาประชาชน ส่วนทางการเมืองไม่มีเสื่อมเสียด้วยข้อหาโกงกิน

เขาจัดเป็นนักการเมืองมือสะอาดแบบหมองๆ ในสายตาพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อเฉลิมสนับสนุนยิ่งลักษณ์จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจึงปกป้องเธอจากภัยการเมืองสารพัดที่โหมกระหน่ำเข้าหา จนดูประหนึ่งเป็น “องค์รักษ์” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทักษิณให้ทำหน้าที่คอยป้องกันน้องสาวให้รอดปลอดภัยทางการเมือง

ในความเป็นมนุษย์ เฉลิมสมควรเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้ เมื่อถูกลดชั้นทางการเมืองจากสูงสุดในบั่นปลายชีวิต แล้ว จู่ๆ การปรับ ครม.ล่าสุดกลับทำให้ให้เขาหล่นตุ้บ มาอยู่ในตำแหน่งที่สื่อเปรียบเปรยว่า เป็น“รัฐมนตรีจับกัง”

คิดแล้วใจหายวูบ ตั้งตัวไม่ทัน จนศักดิ์ศรีเด่นสง่าหนีกระเจิง

แต่ในทางการเมืองแล้ว การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งให้สูงขึ้น หรือต่ำลงเป็นสิ่งปกติ เกิดขึ้นเป็นประจำกับหน้าที่การงาน สำหรับเฉลิมแล้ว คงคิดว่า ไม่ใช่สิ่งปกติแน่ที่เกิดขึ้นกับเขา ราวกับถูกลงโทษ ถูกปลดออกจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ แล้วไล่ให้ไปใหญ่ในตำแหน่งหัวเมืองชายขอบอะไรประมาณนั้น

เฉลิมคงคิดทบทวนหาสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับเขา แน่ละคงไม่ใช่ปัญหาจากการทำหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เพราะใครมาเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบก็แก้ไขได้ยาก

แม้ไม่ใช่เฉลิม แต่เป็นยิ่งลักษณ์ ย่อมมิอาจจัดการได้อย่างราบรื่น เรียบร้อย สงบศึกราวกับมิติเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ความผิดพลาดของเฉลิมคงมีประการเดียว คือเกิดจาก “ปาก” เมื่อพูดแล้ว ขยายผลเสียทางการเมืองให้เกิดขึ้นในยามสังคมต้องการความปรองดอง

ปากของเฉลิม มักย้ำเสมอว่า จะ “นำทักษิณกลับบ้าน”

แม้ทักษิณบอกว่า “หากประเทศสงบสุข พร้อมอยู่ต่างประเทศ ไม่กลับไทย” แต่เฉลิมกลับย้ำไม่ขาดปาก “ขอพาทักษิณกลับบ้าน” นั่นเท่ากับเรียกแขกให้ฝ่ายตรงข้ามรุมอัดทักษิณ แล้วลากโยงมาสู่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นเพียงหุ่นเชิดไปอีก

ปากเฉลิมไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขายังเปิดโปงขบวนการล้มรัฐบาล ต้องการทำลายทักษิณ อยู่เป็นประจำ ราวกับสนุกสนานเมื่อเกิดม็อบมาต่อต้านยิ่งลักษณ์

ม็อบไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ม็อบหน้ากากขาว ถูกเฉลิมเปิดโปงผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างรู้ความหมายชัดเจน แม้ระบุชื่อเพียงอักษรย่อก็ตาม

ด้วยปากเฉลิมเช่นนี้ เมื่อพูดจึงเกิดเรื่อง เรียกแขกมาถล่มรัฐบาล โจมตีนายกรัฐมนตรีอยู่เป็นประจำ และปากเป็นพิษนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับ “วอร์รูม” พรรคเพื่อไทยที่เต็มไปด้วยนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 เป็นอย่างยิ่ง

สิ่งนี้ เป็นเหตุผลเพียงพอแล้ว สำหรับการลง “ความเห็นเอกฉันท์” ย้ายเฉลิมมาเป็น รมว.แรงงาน ราวกับจัดงานให้เหมาะสมกับปาก อะไรทำนองนี้

แม้ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ “ปากเฉลิม” ยังเป็นของเฉลิมตามเดิม เปลี่ยนได้ยาก

นี่คือ ความจริงและเป็นตัวตนทางการเมืองของเฉลิมมาแต่ไหนแต่ไร

+ จบเกมคนแก่น้อยใจ

ถึงที่สุดแล้ว การปรับ ครม.ครั้งนี้ เฉลิมย่อมน้อยใจเป็นธรรมดา และคงเกิดอารมณ์เจ็บปวดมากกว่าทุกครั้งที่จิตใจเกิดแปรปรวนทางการเมือง

คงเป็นความเจ็บปวดลึกๆ ตามสภาพของคนอารมณ์ดิบๆ ไร้การปรุงแต่งให้ไพเราะ

ไม่แปลกหรอกเมื่อเฉลิมน้อยใจ หากเชื่อมโยงการทุ่มเทจิตใจทำงานปกป้องนายกรัฐมนตรี สมองคิดวางแนวทาง หาช่องให้ทักษิณกลับบ้านให้ได้ แต่ผลที่ได้รับกลับคืนคือ การลงโทษ ถูกลดชั้นทางการเมือง

อารมณ์น้อยใจครั้งนี้ เฉลิมไม่ได้มุ่งหวังให้ทักษิณโฟนอินมาอ้อน ให้เป็น รมว.แรงงานต่ออีก เพราะอารมณ์ของเขาได้พัฒนาทางจิตใจไปถึงขั้น “ลาออก” จากรัฐมนตรี เหลือเพียง ส.ส.แก่ๆ ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

นายกรัฐมนตรี บอกว่าไม่เคลียร์กับเฉลิม แน่นอนเพราะคนเคลียร์และต้องอ้อนเฉลิมคือ ทักษิณ

หากครั้งนี้ ผิดคาด ทักษิณ ไม่โทร.มาอ้อนแล้ว เฉลิมคง “จบเกม” ทางการเมือง

หนทางลาออกจากรัฐมนตรีมีความเป็นไปได้สูง

ดังนั้น ตำแหน่ง รมว.แรงงานของเฉลิม จะอยู่หรือไป ทักษิณคือคนต้องตอบและตัดสิน

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น