--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จับตาคดี 258ล้าน 'ฟอกขาว'ประชาธิปัตย์

ชัยชนะในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการ"ชนะฟาวล์"จากชั้นเชิงและเทคนิคทางกฎหมายที่จับตาคดีเงินบริจาค 258ล้าน เข้าข่ายเดียวกัน

คำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ ที่ปรากฏออกมาแล้วเมื่อวานนี้ แม้ผลของคดีจะไม่ได้เหนือความคาดหมาย กล่าวคือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ แต่คำอธิบายและเหตุผลในคำวินิจฉัยถือว่าผิดคาดของหลายๆ คนไปเยอะทีเดียว

ชัยชนะในคดียุบพรรคของประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการ "ชนะฟาวล์" จากชั้นเชิงและเทคนิคทางกฎหมายที่พรรคมีความช่ำชองและแพรวพราว

รูรั่วเล็กๆ ของกระบวนการในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นจนกระทั่งท้ายที่สุดศาลไม่ทันต้องเข้าไปพิจารณาข้อเท็จจริงทางคดีด้วยซ้ำ

ข้ออ้างที่ตอนแรกคาดกันว่าจะเป็นจุดตายคือ การที่ อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ไม่ได้ทำความเห็นตามที่กฎหมายกำหนด แต่ประเด็นนี้กลับพลิกความคาดหมายเมื่อศาลตีความว่าแม้จะไม่ได้ทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ กกต.ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ควบคุมนายทะเบียนพรรคการเมือง คาดว่าตอนที่อ่านคำวินิจฉัยถึงตรงนี้ พลพรรค ปชป.คงอกสั่นขวัญแขวนว่า "ยุบชัวร์"

แต่เรื่องดัวกล่าวกลับถูกตีความว่าวันที่ กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ดำเนินการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 95 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 นั้น เป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่ามีการกระทำผิดแล้ว

และนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ในกรณีที่ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคตามมาตรา 93 ด้วย (ว่าด้วยเรื่องเงินบริจาค) ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึงวันที่ 17 ธ.ค.2552

แต่กว่าที่ประธาน กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็ปาเข้าไปถึงเดือน เม.ย.2553 แปลความภาษาบ้านๆคือ "คดีขาดอายุความ" จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการตีความที่ไม่ตรงกัน แต่การตัดสินเช่นนี้สร้างความเคลือบแคลงต่อสังคมไม่น้อย เพราะอย่างน้อยข้อเท็จจริงที่สงสัยก็ยังไม่ถูกทำให้คลายสงสัยไป

ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยการออกใบเสร็จย้อนหลัง การออกเช็คที่ยังน่าสงสัย การว่าจ้างทำป้ายโฆษณาก่อนวันที่กำหนดให้ใช้เงิน หรือกระทั่งการออกใบเสร็จให้คนที่ไม่ได้ทำสัญญา ไม่มีการหยิบขึ้นมาพิจารณา เพราะคดีตกไปด้วยประเด็น "ข้อกฎหมาย" คือ "ฟ้องมิชอบ"

มาถึงขณะนี้ไม่ว่าเรื่องที่น่าสงสัยจะกลายเป็นสิ่งลึกลับยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง แต่งานนี้ถือว่าคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้ "ฟอกขาว" ให้พรรคประชาธิปัตย์โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายไปเรียบร้อย

ส่วนข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่ต้องรอดูกันนั้นคือ กรณีการไซฟ่อนเงิน 258 ล้านบาทที่รับบริจาคจากบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทกับคดีการใช้จ่ายเงินผิดประเภทในครั้งนี้ มีข้อเท็จจริงที่เหลื่อมกันอยู่ไม่น้อย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคดีพี่คดีน้องกันเลยทีเดียว

และว่ากันว่าคดีการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์นี้ เป็นคดีที่เอาผิดได้ง่ายกว่า จึงถูกหยิบยกขึ้นมาก่อน ด้วยคาดว่าจะไม่ต้องไปเหนื่อยต่อสู้กันในกรณีหลัง

เมื่อมาถึงขั้นนี้ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ "คดี 258 ล้านบาท" นั้น จะทันได้ต่อสู้กันทางข้อเท็จจริงหรือเปล่า หรือจะถูกหยิบข้อกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ มาตีตกไปจนข้อเท็จจริงที่ใหญ่กว่ากลายเป็นความลับดำมืดต่อไป เพราะล่าสุดก็เริ่มมีเสียงมาจากทางทีมกฎหมายปชป.แล้ว ทั้งวิรัช ร่มเย็น และบัณฑิต ศิริพันธ์ ว่า จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้จำหน่ายคดี 258 ล้าน เนื่องจากน่าจะขาดอายุความฟ้องเช่นกัน

อย่างไรก็ดี มีบางเสียงแสดงทัศนะว่า คดี 258 ล้านอาจไม่จบลงด้วยเหตุผลง่ายๆ แบบเดียวกัน เพราะข้อกฎหมายที่นำมาใช้นั้นมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ และต้องไม่ลืมว่าคดีนี้ กกต.เป็นคนทำแทบจะทั้งหมดด้วยตัวเอง ขณะที่ "กิตินันท์ ธัชประมุข" อัยการพิเศษฝ่ายคดี เป็นเพียงผู้เข้ามาช่วยว่าคดีในช่วงหลัง แต่คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทนั้น ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด และจะกลายมาเป็นผู้ทำคดีนี้ด้วยตนเอง

แม้ว่าเบื้องต้นตอนที่ กกต.ยื่นเรื่องมา อัยการสูงสุดจะตีกลับความเห็นของ กกต. แต่นั่นก็เป็นเพียงพิธีการเพื่อที่จะมาหารือกันและทำความตกลงเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาหลายคดีก็เป็นเช่นนี้ และต้องไม่ลืมว่าแทบทุกครั้งที่ทางอัยการมาว่าคดีให้นั้น ความได้เปรียบของ กกต.จะสูงขึ้นมาก และคดีมักจะเป็นไปตามที่ตั้งข้อหาเอาไว้

หากทางอัยการสูงสุดเห็นข้อบกพร่องทางกฎหมายย่อยๆ แบบครั้งนี้ คงไม่ยอมมาว่าคดีให้อย่างแน่นอน หลายฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าในคดี 258 ล้านบาทนั้น เราคงได้เห็นชั้นเชิงการต่อสู้ทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่มากกว่านี้และสนุกกว่าคดี 29 ล้านอย่างแน่นอน

ซ้ำยังน่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นกระบวนการการกดดันศาลรัฐธรรมนูญที่หนักกว่านี้ ไม่ว่าจากทางมวลชน หรือจากทางมือที่มองไม่เห็น หลังจากวันนี้คาดว่าตุลาการเสียงข้างมาก 4 คนคงจะถูกวิจารณ์ไม่น้อย และหนักขึ้นเรื่อยๆ

แต่หากพิจารณาอีกทางหนึ่งก็ไม่แน่ว่าสุดท้าย "คดี 258 ล้าน" อาจจะเป็นคดีที่ "ฟอกขาว" ประชาธิปัตย์อย่างสมบูรณ์แบบก็เป็นได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจเป็นการต่อสู้หักล้างในเชิงข้อเท็จจริงว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีพฤติการณ์ไซฟ่อนเงินจริงๆ ซึ่งจะทำให้สังคม "สิ้นความสงสัย" ก็เป็นไปได้

ขณะเดียวกันหากประชาธิปัตย์เลือกที่จะใช้ประเด็นหักล้างในประเด็น "ข้อกฎหมาย" ซ้ำอีก เหมือนที่เตรียมจะดำเนินการยื่นต่อศาลให้จำหน่ายคดี 258 ล้านด้วยเหตุว่าคดีขาดอายุความ เพราะยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลา 30 วันตามที่กฎหมายระบุไว้

น่าคิดว่าแทนที่กระแสกดดันจะหมดไป พรรคประชาธิปัตย์อาจเจอแรงกดดันรอบใหม่จากสังคมที่ตั้งหน้าตั้งตารอฟังเหตุผลและคำแก้ต่างที่สมน้ำสมเนื้อ เพื่อพรรคประชาธิปัตย์จะได้พ้นจากข้อครหาทางการเมืองได้อย่างขาวสะอาด
ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงควรใช้โอกาสในการสู้คดี 258 ล้านด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมดที่มี เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น