สัมภาษณ์พิเศษ
ถ้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชื่อ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" คงไม่ขึ้นแท่นเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง
ถ้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี คงไม่มีชื่อ "กอร์ปศักดิ์" เป็นรองนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกฯ ตามลำดับนับตั้งแต่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551-1 มกราคม 2554
"ต่อไปนี้เจ้านายผมชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ" คือคำมั่นจากอดีตเลขาฯ-คนรู้ใจ "อภิสิทธิ์"
ก่อนลงจากบังเหียนที่ตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนเอ่ยลาคณะรัฐมนตรี "กอร์ปศักดิ์" เปิดใจ ก่อนเปิดเว็บไซต์ยูทูบตอบคนทั้งโลก
- แผนปฏิบัติการเพื่อคนไทย 6 เดือนก่อนเลือกตั้ง ออกแบบไว้กลับมาทำสมัยหน้า
ใช่ครับ...ผมจะลาออกจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในต้นปีหน้า มาตรการที่ออกแบบไว้เราต้องได้กลับมาเป็นรัฐบาลจึงจะทำได้เต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงต้องไปเตรียมการทำแคมเปญเลือกตั้งให้ชนะเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลต่อ ต้องตั้งหลักสู้กับพรรคทางโน้น (พรรคเพื่อไทย) เขาก็ลงพื้นที่ปูพรมเตรียมข้อมูลทำแคมเปญเต็มที่เหมือนกัน
เรื่องที่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 เดือน ก็ต้องมีคำถามแน่นอนแหละว่า ทำไมต้อง 6 เดือน คำตอบก็ชัดครับว่า มันเป็นปีเลือกตั้ง ก็หมายความว่าอยากจะทำเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ แล้วถ้าทำได้ดีชาวบ้านชอบ เวลาลงสนามแข่งขันการเลือกตั้ง มันก็จะได้ไม่พูดถึงเฉพาะนโยบายในอนาคต แต่พูดถึงสิ่งที่เราทำ และทำได้สำเร็จ อันนี้คือแนวความคิดที่ว่า เราตั้ง เป้าจะเริ่มตอนมกราคม 2554
- เรื่องการแบ่งงานกับกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง
นายกฯบอกว่าหลังประกาศมาตรการให้เริ่มทันที ประเด็นสำคัญคือ ช่วงปีหน้าประมาณ 6 เดือนต้องทำให้แล้วเสร็จ เรื่องนี้นายกฯอยากให้เห็นผลประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม 2554 เพราะฉะนั้น เราดูแล้วเรามีเวลามากสุดอีกประมาณ 2 เดือนที่จะหามาทำต่อ
ท่านนายกฯมอบหมายให้ผมดูแลเรื่อง ค่าครองชีพ เพราะผมคิดว่าในอนาคตอีกปีสองปีข้างหน้าเงินเฟ้อค่อนข้างจะรุนแรง เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะทำได้ นอกจากเร่งหารายได้ให้กับรัฐแล้ว เราจะต้องมีการควบคุมในเรื่องราคาสินค้า
ในเรื่องแรงงานนอกระบบ ท่านนายกฯให้คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดูแลเรื่องแรงงานนอกระบบ แต่นี้มันมีอุบัติเหตุการเมือง คุณอภิรักษ์ต้องไปลงสมัครผู้แทนฯ น่าจะให้คุณกรณ์ จาติกวณิช เข้ามาดูตรงนี้แทน
- การลดค่าครองชีพและเรื่องราคาพลังงานจะทำอย่างไร
รัฐบาลเตรียมแก้กฎหมายการจัดเก็บค่าภาคหลวง เพื่อนำรายได้จากค่าภาคหลวงประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท มาบริหารการอุดหนุนราคาพลังงาน และจะมีการแก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมกิจการของรัฐวิสาหกิจ จะมีการพิจารณาเจรจากับบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของสัมปทานก๊าซธรรมชาติ ปรับค่า ภาคหลวงให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลกมากขึ้น โดยอาจจะมีการต่อสัญญาสัมปทานเป็นเงื่อนไขในการเจรจา
- ระยะยาวคือแก้ พ.ร.บ.แข่งขันทาง การค้า ให้มีผลกับ ปตท.ด้วย
ตัวอย่างน้ำมัน มันจะชัดมากเพราะไม่มีการแข่งขัน ที่เราเห็นแข่ง ๆ กัน คือ แข่งกันแจกน้ำว่าจะได้กี่ขวด แต่ไม่มีการแข่งเรื่องราคา เมื่อมันไม่แข่ง มันจะทำอะไรก็ได้แหละครับ เพราะฉะนั้นว่าขึ้นมันขึ้นเร็ว เวลาลงมันลงช้า มันทำได้หมดครับ จากตอนแรกที่เราหวังจะให้ ปตท.เป็นคนแทรกแซง แต่ตอนนี้ ปตท.ไม่ใช่ของเราแล้ว เขาก็ไม่แทรกแซง เขาก็หากำไรเหมือนกัน ให้หุ้นเขาขึ้น พอหุ้นขึ้นเขาก็ขยายงานได้ นี่คือสิ่งที่เขาสนใจ
- ระยะสั้นรัฐบาลจะเข้าไปทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับโครงสร้างราคา
รัฐก็คงต้องเขาไปดู มีเรื่องของไข่ไก่ คือว่ามีเจ้าใหญ่อยู่ 2 ราย เราก็ต้องเอาเขาเข้าระบบ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เขาไม่เคยประชุมเลยทั้ง ๆ ที่บทลงโทษตามกฎหมายก็มี นี่เป็นเครื่องมือที่จะไปสู้กับยักษ์ใหญ่พวกนั้น
- ระบบสหกรณ์ที่จะสู้กับยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดสินค้าเกษตรทำอย่างไร
เราต้องอบรมสหกรณ์ให้เข้มแข็ง โดยจะให้สหกรณ์ที่ซื้ออาหารสัตว์มาจับมือกับสหกรณ์ที่ผลิตข้าวโพด มันสำปะหลัง เอาชุมชนพอเพียงเข้ามาร่วมกลุ่ม แต่การจะทำให้ตัวเล็กไปสู้กับตัวใหญ่ได้รัฐก็ต้องช่วยเยอะเหมือนกัน และเราต้องใช้ทุกวิธีการ รวมทั้งการกดดันทางสังคมด้วยเพื่อบอกให้คนค้ารายใหญ่รับผิดชอบสังคมบ้าง
- คิดว่าพวกรายใหญ่จะยอมไหม
ไม่ยอมหรอกครับ แต่เราก็ต้องใช่มาตรการทางสังคมช่วยครับ เหมือนดาราครับ เขาอยู่ได้เพราะสังคมชื่นชมเขา ถ้าเจอสังคมปฏิเสธเขาก็แค่ตัวอะไรตัวหนึ่ง
- มาตรการที่ออกแบบไว้ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลพรรคอื่นเขาก็ไม่ทำต่อ
ก็ใช่ครับ... ก็ต้องเลือกพวกผมต่อ (หัวเราะ)
- หลังเลือกตั้งการแบ่งคุมกระทรวงเศรษฐกิจ ก็อาจไม่ได้อยู่ในมือประชาธิปัตย์
ก็มีวิธีเดียวครับ คือเลือกเฉพาะพรรคเดียวแล้วโทษกันได้หมดเลย ถ้ามันผิด
- มาตรการจะไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่มีอำนาจทางการเมือง
มันก็ได้บ้าง แต่คุณต้องขยันทำครับ อันนี้เป็นภาระที่หนักที่สุดของรัฐบาลครับ ถ้ารัฐบาลกล้าที่จะบอกว่า จะทำพวกนี้ให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน แล้วถ้าไม่เสร็จมันจะเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งโชคดีว่าผมไม่ใช่หนึ่งใน ครม. (หัวเราะ) อันนี้เป็นความท้าทาย และถ้าทำได้เราจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งสูง ซึ่งความท้าทายตรงนี้ นายกรัฐมนตรีเขากล้าที่จะทำ และมีเวลาแค่ 6 เดือนเอง
- ที่ประกาศขนาดนี้หมายความว่าจะเป็นสัญญาณยุบสภาหลัง 6 เดือนข้างหน้า หรือเปล่า
เป็นไปได้ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี่ไม่ยากนะ เพราะเมื่อสภาเปิดก็เริ่มกระบวนการแก้ได้ แล้วที่มีคนมาพูดเรื่องแก้กฎหมายลูกนี่ไม่มีหรอกครับ ก็เหลืออย่างเดียวคืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมว่ามันไปเรื่องการเมืองไกลแล้วนะ ทุกเรื่องที่รัฐบาลนี้ทำก็ไม่เคยมีใครบอกว่ามีความ เชื่อมั่น ตอนประกันรายได้ก็ไม่มีใครบอกว่าสำเร็จ เราก็ต้องดัน ๆ จนกว่าจะสำเร็จ
- กรอบมาตรการปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย เป็นเรื่องที่จะสามารถล้างนโยบายประชานิยมแบบทักษิณ
ผมไม่ค่อยคิดว่าเรื่องที่ผมทำมันเป็นประชานิยมอะไรเลยนะ ผมแค่ทำเรื่องเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง คิดดูเรามีโรงกลั่นก๊าซธรรมชาติ 5 โรง ท่านนายกฯบอกให้กลับไปดูว่าก๊าซ ที่นำเข้ามาก็ให้ขายไป ขายเท่าราคาตลาด กำไรต้องเข้าหลวง เพราะโรงกลั่น ทั้ง 5 โรงหลวงเป็นคนสร้าง แต่เขาจะบอกว่าเงินให้หลวงไปแล้ว ผมก็จะอัดว่าตอนนั้นมันหุ้นละ 35 บาทตอนที่คุณให้เงินผม ซึ่งมันผิดพลาดอย่างมหาศาล คือเราไม่อยากมองอะไรในแง่ร้าย แต่โครงสร้างในส่วนนี้มันไม่ดี
รัฐบาลจะตรึงราคาไปอีก 2-5 ปี หรือจะเป็น 3-5 ปี จากนั้นจะทำเป็น 2 ราคาสำหรับครัวเรือน อุตสาหกรรม แต่รัฐบาลยังอยากที่จะช่วยครัวเรือนอยู่ เนื่องจากเป็นประชานิยมเล็ก ๆ (หัวเราะ) คือถ้าใครมาเถียงนะว่าไม่ใช่ประชานิยม มันต้องยอมรับครับ เราอยากให้ชาวบ้าน รัก เราคิดว่าเงินนี้ไม่ไปตกหล่นในกระเป๋าใคร แล้วไปถึงชาวบ้าน ไม่มีปัญหาครับ
- มีคนถามว่ารัฐบาลเข้ามาตั้งนานแต่ทำไมเพิ่งคิดได้ก่อนการเลือกตั้ง
ผมเข้ามาวันแรกก็แย่แล้ว คนว่างงานเป็นล้านคน เศรษฐกิจมันเจ๊งตั้งแต่วันแรก ผมกำลังจะบอกว่าพวกเราไม่มีปัญญา คิดเรื่องแบบนี้เลย มาแก้เศรษฐกิจให้คนไม่ว่างงานก็จะแย่อยู่แล้ว ตอนนั้นมันหนักจริง ๆ แต่เราก็ผ่านมาได้ แต่คิดว่าจะดีขึ้นกลับเจอเสื้อแดงรบกันตั้งนานแล้วมาเจอน้ำท่วม พอเริ่มรู้สึกว่าเรื่องเศรษฐกิจดีแล้วมันเริ่มลงตัวก็เหลือเสื้อแดงอย่างเดียว แล้วก็เรื่องการเมืองที่ต้องดู
มาตรการครั้งนี้เป็นการจัดระเบียบให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความเป็นธรรมเป็นระบบมากขึ้น เพราะเวลานี้มันเหลื่อมล้ำ โครงสร้างมันใครใคร่ค้าคนรวยก็รวย คนจนก็จน ทำงานลำบาก โครงสร้างซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับคนทุกระดับคือสิ่งที่เราจะทำ
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น