--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“เทศาภิวัฒน์”: นวัตกรรมใหม่ในการปฏิรูปประเทศไทย

“โลกกำลังถลำเข้าไปสู่วิกฤตการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะไม่ได้เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง”

นายแพทย์ ประเวศ วะสี
วิกฤตประเทศไทยไม่อาจหลุดพ้นได้ด้วยวิธีคิดแบบเดิม (Old Paradigm) การแสวงหาทางปัญญาจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของทุกภาคส่วนในสังคม นี่จึงเป็น ภารกิจของสมัชชาปฏิรูป ที่มีนายแพทย์ ประเวศ วะสี เป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศไทย โดยประสบการณ์ยาวนานในงานพัฒนา ทำให้เข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหา ที่หากไม่มีการ “สร้างสรรค์” โลกทัศน์แบบใหม่ให้กับคนไทย ก็ย่อมไม่มีวันหลุดพ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างไปได้เลย

19 ธันวาคม 2553 จึงนับเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ได้มีการเผยแพร่ “(ร่าง) ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อปรึกษาหารือกับคนไทยในทุกภาคส่วน โดยมีสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนวิธีคิดจากระบบบริหารประเทศแบบข้าราชการและกรมกองเป็นตัวตั้งมาเป็นพื้นที่และวิถีชีวิตของประชาชาติเป็นจุดเริ่มต้น


“เทศาภิวัฒน์” จึงนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ในการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะการยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำให้สามารถหลุดพ้นจากปัญหาเขาควาย (Dilemma) ที่เคยสร้างความขัดแย้งทางความคิดของสังคมไทยมายาวนาน นั่นคือ การบังคับเลือกระหว่างโลกาภิวัฒน์ที่เลิศหรูหรือท้องถิ่นชุมชนที่รุ่มรวย หากทว่าเทศาภิวัฒน์คือ บทสังเคราะห์ใหม่ (New Synthesis) ที่ทำให้ท้องถิ่นชุมชนและโลกาภิวัฒน์ สามารถก้าวเดินไปพร้อมกันได้อย่างสง่างาม

การพัฒนาแบบโลกาภิวัตน์ที่มีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางนั้น แน่นอนว่าย่อมทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ หากทว่าก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาล นั่นคือ การแตกร้าวของชนบทไทย ที่วิถีชีวิตต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยมโลก โดยมีระบบราชการและการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นผู้ใช้อำนาจในการควบคุมประชาชน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแบบชุมชนท้องถิ่น ที่พยายามเริ่มต้นมาหลายสิบปี ก็ยังไม่สามารถเกิดดอกออกผล ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าการปกครองจากส่วนกลางยังคงควบคุมครอบงำอย่างใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกัน รูปแบบการพัฒนาแบบชุมชนท้องถิ่น ก็ยังมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การระดมทรัพยากรทางการเงินไปจนกระทั่งถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและความก้าวหน้าของโลกให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน

“พื้นที่” จึงเป็นการปฏิวัติทางความคิดครั้งใหญ่ ที่เปิดกว้างสำหรับแนวคิดชุมชนและแนวคิดโลกาภิวัฒน์ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อประชาชนไทยในแต่ละพื้นที่มีเสรีภาพในการคัดเลือกส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสองแนวคิดได้ จึงทำให้สอดประสานกับความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง

การมีส่วนร่วมของประชาชน นับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยมสุดขั้วได้หยั่งรากฝังลึกเป็นกระแสนิยมระดับโลก อย่างไรก็ตาม เทศาภิวัฒน์ที่เริ่มจากวิถีชีวิต วัฒนธรรม และรสนิยมของคนในแต่ละพื้นที่ ย่อมทำให้การร่วมคิดร่วมทำของคนในสังคมเกิดความรื่นรมย์ ไม่ได้เป็นเพียงภาระหน้าที่เหมือนกับในระบบการปกครองส่วนภูมิภาคที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่ละเอียดอ่อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่อีกต่อไป

ดังนั้น เมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่มีความสุขและความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว ก็ย่อมสามารถขยายความร่วมมือกับพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและสังเคราะห์ความรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งย่อมต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ที่จะประสานเป็น “นวัตกรรม” ทางเศรษฐกิจใหม่ ในการเติบโตยั่งยืนท่ามกลางมหาวิกฤตและโอกาสของอภิทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21

วิกฤตการเมืองไทยจึงไม่ใช่เป็นเพียงความฉ้อฉลของนักการเมืองไทย วิกฤตความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ย่อมไม่อาจแก้ได้ด้วยนโยบายประชานิยมหรือประชาวิวัฒน์ แต่ควรจะเริ่มต้นที่รากเหง้าของปัญหา นั่นคือ “อิสรภาพ” ประชาชนในแต่ละพื้นที่ของสังคมไทย ที่จะสามารถขบคิดและสร้างสรรค์อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยยกระดับไปสู่การร่วมมือและเรียนรู้อย่างมีวุฒิภาวะของทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมด้วยความสุขสมดังที่รอคอย

ที่มา.Siam Intelligence Unit

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น