“หน้ากระดานเรียงหนึ่งกดปุ่มอภิวัฒน์ประเทศ” ฉบับนี้ ขอนำเสนอมุมมองของ 2 ผู้คร่ำหวอดทางการเมือง “พนัส ทัศนียานนท์” อดีต ส.ว. ตาก และ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่ถ่ายทอดผ่านวงเสวนาทาง การเมือง ในหัวข้อ “การเมืองสยามประเทศไทย : หลัง อภิสิทธิ์ 1” ซึ่งมีนัยอันแหลมคม และน่าสนใจยิ่ง
>> “พนัส ทัศนียานนท์” อดีต ส.ว.ตาก
“การเมืองสยามประเทศ หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยก็คือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อันที่จริง ก็ควรจะโพสต์ ไปตั้ง 6-7 เดือนแล้ว ส่วนตัวมองว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์เดือนเมษายนขึ้นก็น่าจะลาออก ได้แล้ว ตอนนั้นเขามาเรียกร้องให้ยุบสภาก็ไม่ยุบ จนกระทั่ง คนบาดเจ็บล้มตาย ก็เลยทำให้เป็นข้อที่คง จะต้องมีการวิเคราะห์”
“แต่สำหรับผมเองคือผมเดาแล้วมีแนวโน้มที่ จะเป็นไปได้สูงมากที่คุณอภิสิทธิ์จะยุบสภาและให้มี การเลือกตั้งใหม่ เหตุผลประการแรก คือ ที่ติดบ่วง อยู่นั้นก็รอดมาได้อย่างไม่คาดฝัน ไม่ประทับใจคนดู ถ้าเป็นมวยก็ถือว่าชนะฟาวล์อย่างไม่คาดฝัน ซึ่งจะ มีปัญหาต่อกับอนาคตของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ตอนที่ทำรัฐประหาร 2549 มีการอ้าง ว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ตอนนี้มีเหตุผลมาก กว่าตอนนั้นเสียอีก ตอนนี้มันไม่ใช่แค่แทรกแซงแต่ ถูกยึดด้วยซ้ำไป”
“ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ผมเชื่อว่านักกฎหมายด้วยกันเองคงจะปวดเศียรเวียนเกล้าพอสมควร เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ในการมาไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ผมถือว่าเป็นเหตุผลที่พิสดารที่สุด คือถ้าทำหน้าที่เป็นประธาน กกต. ไม่ถือว่าเป็นนาย ทะเบียนพรรคการเมือง ถือว่าไม่ได้รับรู้รับเห็น จึงบอกว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอน โดยที่นายทะเบียนเองไม่ได้ทำความเห็น แล้วจู่ๆ ก็เอาเรื่องยื่น ต่อศาล เป็นเหตุผลทางเทคนิค จึงไม่ต้องพิจารณา ว่าโดยเนื้อแท้ โดยเรื่องราวแล้วผิดหรือไม่ ซึ่งเรา ไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากศาลเลยว่าพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร พอมาเรื่องที่ 2 ก็อาศัยเหตุผลเดียวกันนั่นแหละ ยกฟ้องเสียเลย คดีแรกทำให้ กกต. หน้าแตก คดีที่สองก็ทำให้อัยการหน้าแตกไปด้วย”
>> ภูมิใจไทยก้างขวางคอ ปชป.
“ตอนนี้ก็เลยมีประเด็นที่มีการเสนอกันว่าน่า จะเทียบเคียงได้กับการดำเนินคดีอาญา ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จะเอาไปฟ้องใหม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ประธาน กกต. น่าจะนำเรื่องไปยื่นใหม่ได้ แต่ก็อาจจะไปติดตรงประเด็น 15 วันอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกว่าที่เขาเอามาอ่านสุดท้าย ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากนะ แต่เป็นเสียงข้างน้อย คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งไม่เหมือนอีก 3 ท่าน ที่เป็นเสียงข้างมากที่บอกให้ยกคำร้องที่ขอให้ยุบพรรค ประชาธิปัตย์ แล้วเสียงข้างน้อย ที่ผมแปลกใจและ คาดผิดอย่างมหาศาล ตอนแรกผมคิดว่าท่านประ ธานเองจะเป็นเสียงข้างมากอยู่ด้วย กลายเป็นว่าท่านเป็นเสียงข้างน้อย และคำวินิจฉัยของท่านชัดเจนที่สุดเลยว่า นอกจากให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แล้วให้ตัดสิทธิ์ผู้บริหารพรรคอีก 2 ราย คือคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน และคุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แต่ที่แปลกใจคือไม่ตัดสิทธิ์คุณอภิสิทธิ์ด้วย ซึ่งคำวินิจฉัย ไม่เห็นว่าเป็นความผิดอะไร สำหรับคุณบุญส่ง กุลบุปผา บอกให้ยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์ใครสักคนเดียว”
“แล้วผมก็คาดเดาต่อไปว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีการ ยื่นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเรื่องจบแล้ว จากนี้ไปประชาธิปัตย์คงจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะคุณอภิสิทธิ์เอง จากอาการที่ท่านแสดงออกมา ผมเชื่อว่าท่านมั่นใจว่าขณะนี้ประชาธิปัตย์ก้าวข้าม พ้นหมดแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดก็แล้วแต่ ซึ่งอาจจะเคยสนับสนุนเคยอุ้มเคยช่วยเหลือกันมา ความมั่นใจนี้อาจจะถึงขั้นที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีใครช่วย ขณะนี้เดิน ได้ด้วยตัวเองแล้ว มีสิ่งที่ยึดมั่นและน่าจะคุ้มครองได้ อาจจะมีสิ่งที่เป็นขวากหนามที่เป็นหอกข้างแคร่ก็คือ พรรคภูมิใจไทย หรือเนวิน ชิดชอบ เลือกตั้งซ่อมครั้ง นี้น่ากลัวมากขนาดบุกไปชนะที่สุรินทร์ได้ การเอาบุญเก่าของทักษิณมาใช้คงไม่ได้แล้ว และเชื่อว่าการ เลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่คราวหน้า ประชาธิปัตย์น่าจะ ได้เก้าอี้คืนมาพอสมควร แต่ยังมีก้างขวางคอก็คือภูมิใจไทยของเนวิน”
>> ยุบสภาเมษายนปีหน้า
“การแก้เกมนี้ ท่านบอกว่าอาจจะมีการปรับ ครม. อีกครั้งเพื่อเอาเพื่อแผ่นดินเข้ามา เพื่อจะเอา 3 พี เข้ามา เขตของเขาอยู่ภาคอีสาน ไม่ให้ภูมิใจไทยรุก หนักมากเกินไป และถ้าพี่เนวินเข้าไปนั่งในหัวใจคน อีสานแทนทักษิณแล้ว คนที่น่าเป็นห่วงก็คือประชา ธิปัตย์ การหักกันก็คือเรื่องขึ้นเงินเดือน อบต. แล้วก็พ่วงขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว.ไปด้วย แต่คนที่ผมนับถือ ที่สุดคือคุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ที่ประกาศ ว่าไม่เอาเงินเดือนขึ้นนี้ ผมอยากจะรอดูต่อไปว่าเมื่อ เขาโอนเงินเดือนให้ท่านจริงๆ ท่านจะไม่เอาจริงหรือ เปล่า ถ้าท่านคืนให้หมด ผมจะยกย่องให้เป็นวีรสตรี ของการเมืองไทยเลย”
“ผมคิดว่ามีแนวโน้มเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีการยุบสภาในเดือนเมษายนปีหน้า เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นเสียงข้างมาก พูดได้เต็มปากว่าได้ จัดตั้งรัฐบาลด้วยความชอบธรรม ยิ่งหากได้ถึง 300 กว่าที่นั่งก็จะยิ่งดี แต่อย่าลืมว่าไทยรักไทยเคยได้ 377 ที่นั่งก็อยู่ไม่ได้ ข้อกล่าวหาอย่างเดียวจะตามมาคือการเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งทุกคนก็อยากเป็นทั้งนั้น เผด็จการที่มีอำนาจอย่างเด็ดขาด”
>> อย่าประมาทพันธมิตรฯ
“แต่ท่านอย่าประเมินอะไรต่ำเกินไป โดยเฉพาะ อย่าประเมินพันธมิตรฯ ต่ำ ผมฟังคุณสนธิ ลิ้ม ทองกุล สองสัปดาห์ติดต่อกัน มันมากเลย ตอนนี้กลายเป็นว่าประชาธิปัตย์ขายชาติไปเสียแล้ว ซึ่งคุณ อภิสิทธิ์อาจจะประเมินแล้วไม่มีปัญหาเพราะเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ก็เจอมาแล้วถึง 2 ครั้ง และการผ่านศึกนี้มาได้ก็อาจจะมองว่า
ศึกไหนก็บ่ยั่น ถ้าท่านคิดอย่างนั้นผมก็อยากจะเตือนว่าการประเมินต่ำเกินไปก็อาจจะเป็น ปัญหาได้ ผมเชื่อว่าหากมีการยุบสภาเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน”
“แต่ก็มีชนวนระเบิดอยู่ โดยเฉพาะประเด็นมรดกโลกเขาพระวิหาร ผมฟันธงตรงนี้ว่าการเลือกจังหวะเวลาที่จะยุบสภาเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งก็คงจะใช้ตรงนี้แย่งพื้นที่ข่าวเพราะหากเลือกตั้งเดือนเมษายนก็ต้องเลือกตั้งในหกสิบวัน สองสามเดือนหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องไปพูดกันเรื่องมรดกโลก ในเดือนมิถุนายน เพราะฉะนั้น หากช่วงนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้ง ข่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่อง การเมืองภายในประเทศ ข่าวเรื่องมรดกโลกก็ต้องลดลง ซึ่งกรณีมรดกโลก ผมเดาว่าช่วง หลังมานี้เสียงของท่านอภิสิทธิ์เพี้ยนๆ ไปทำนองว่าไปขอขึ้นทะเบียนร่วมกันก็ดี ซึ่งฟังๆ แล้วก็ไม่ต่างจากที่คุณนพดล ปัทมะ เคยดำเนินการ ซึ่งฝ่ายเสื้อเหลืองก็คงยอมไม่ได้”
>> “อนุสรณ์ ธรรมใจ”
กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
“บ้านเมืองมีวิกฤตการณ์ทางการเมือง มากจนกระทั่งเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ผมสนใจว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างไรหลังอภิสิทธิ์ 1 ถ้าเราดูโครงสร้างของ สังคมไทย และเศรษฐกิจไทย โครงสร้างส่วน บนมีปัญหาและมีปัญหาอย่างมากหลังรัฐ ประหาร 2549 ทั้งในเรื่องระบบกฎหมาย การ เมืองรวมถึงวิธีคิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย ขณะที่โครงสร้างส่วนล่างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหาน้อยกว่าส่วนบนเพราะโดยพื้นฐานแล้วประคองตัวได้ซึ่งได้รับประ โยชน์จากการที่เศรษฐกิจเอเชียดีมาก สหรัฐและยุโรปมีปัญหา การลงทุนจึงไหลมาทางเอเชีย แต่จะไม่เป็นบวกต่อไปถ้ากฎหมายของ ไทยแสดงความไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม ระบบยุติธรรมถูกตั้งคำถามก็จะก่อให้เกิดปัญหา แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำจะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งเราเห็นว่ารัฐบาลพยายาม จะแก้ปัญหานี้แต่ไม่ได้แก้ที่โครงสร้าง ก็ยังใช้นโยบายประชานิยมเหมือนรัฐบาลที่ ผ่านๆ มา”
>> ผ่ารากเน่าประเทศ
อย่างไรก็ดี ผมได้มองถึงปัญหาในประเทศใน 6 มิติ คือ 1.ประเทศมีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่ง ตอนนี้ต้องบอกว่ายังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และลดลงภาย หลังรัฐประหาร 2549 ประเทศไทยไม่ได้มี สิทธิเสรีภาพอย่างที่หลายประเทศที่เป็นประ ชาธิปไตยมี เรามีปัญหาเรื่องภราดรภาพแน่นอน ความเสมอภาคไม่ต้องพูดถึง
2.เราต้องการสังคมและระบบการ เมืองที่ยึดมั่นในระบบนิติรัฐ นิติธรรม ดำรงอยู่ ได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติ คนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือน กันหรือจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน แต่พูด กันได้ด้วยเหตุด้วยผล และยึดหลักเสียงข้างมาก เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งหลายประเทศ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมันจบ แต่ประเทศนี้ไม่จบ ยังทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง เราก็หวังว่าการเมืองสยามประเทศจะเป็นเช่นนานาอารยประเทศ
3.ระบบยุติธรรมต้องเป็นธรรม การเลือกตั้งต้องเป็นกลางและเป็นธรรม แต่ถ้ามี ปัญหาตั้งคำถามเรื่องนี้ ความวุ่นวายและวิกฤตการณ์ทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นอีก เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ยังคาใจคนจำนวนมาก และการยุบพรรคก็เป็นผลผลิตของรัฐธรรม นูญ 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐประหาร 2549 ซึ่งไม่มีประเทศไหนมีบทลงโทษเรื่องการ ยุบพรรคการเมือง เพราะทำให้สถาบันพรรค การเมืองอ่อนแอ ผู้สนับสนุนแนวคิดยุบพรรค ก็อาจจะบอกว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งมันก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย
4.ระบบเศรษฐกิจต้องเป็นประชาธิปไตย เราเห็นอยู่ว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่เขาเล่นอยู่หลัง ฉากตลอด และกลุ่มทุนก็ถือหางผู้ชนะ โดยไม่ดูว่าผู้ชนะมาด้วยครรลองที่ถูกต้องหรือไม่
5.ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโยงกับการที่ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการ พื้นฐานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลายๆ รัฐบาลทำอยู่ในแง่ประชานิยม ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่มีความกล้าหาญในการปฏิรูประบบภาษี และการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่จะทำให้เกิดประ ชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่ถามว่าประเทศไทยมีเสรีภาพทางวิชาการในการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ เพราะการปฏิรูปที่ดินจะไปแตะผลประโยชน์ของกลุ่มจารีตอนุรักษนิยมอย่างมาก เดิมคณะ ราษฎรหลัง 2475 ได้จัดการระบบไว้เรียบร้อย แล้ว แต่ว่าบ้านเมืองถอยหลังกลับหลังการรัฐประหาร 2490 แล้วสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำ ถ้าใคร อ่านวิกิลีกส์ ซึ่งสะท้อนว่าระบบการเมืองไทย มีมือที่มองไม่เห็นจริง ซึ่งเป็นปัญหา เพราะใน ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ในประเทศยุโรปเขาจะจัดวางสถาบันและโครง สร้างอำนาจที่สอดคล้องกับหลักการประชา ธิปไตย จึงจะทำให้ระบบนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ สอดคล้องกับ หลักการประชาธิปไตย ในหลายประเทศเขาก็มีความก้าวหน้าที่จะทำให้สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ด้วยความปรารถนาดี และทำให้ระบอบพัฒนา ไ
ด้สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 20
6.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลดลง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ลดลง แต่กลับมากขึ้นและกระจาย ขึ้น เพราะรัฐบาลมีสภาพเป็นรัฐบาลผสม เสถียรภาพไม่แข็งแรง เป็นบุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต ใครใคร่กิน-กิน ใครใคร่คอร์รัปชั่น-คอร์รัปชั่น หนักกว่าสมัยรัฐบาลชาติชายเพราะความเป็น Money Politics มันมากขึ้นๆ เพราะเกิดสภาวะแพ้ไม่ได้ จริงๆ ในการแข่งขันทางการเมืองมันต้องแพ้ได้ แล้วผลัดกันบริหาร แต่มันเกิดสภาวะแพ้ไม่ได้เพราะทุกคนมีคดี ก็เกรงว่าอีกฝ่ายที่เป็นขั้วตรงข้ามจะเล่นงานไล่หลัง ก็จึงเกิดผสมปนเปปัญหาซับซ้อนมากขึ้น
>> ปักหมุดเสริมสร้างรากแก้วอันยั่งยืน
“ข้อเสนอสำหรับประเด็นแรก การ เมืองประชาธิปไตย คือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้เพื่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ต้องแก้ในประเด็น ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างแก้ระบบเลือกตั้ง ประเทศไทยก็ใช้มาทุกระบบ แล้วทุกระบบก็มี ข้อดีข้อเสีย ได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน ฉะนั้น เราต้องไปดูประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างปัญหาให้ระบอบประชาธิปไตยอย่าง มาก รัฐธรรมนูญบางหมวดก็ไม่มีการพูดถึงเลยเพราะกลัวติดคุก 18 ปี ซึ่งจริงๆ ต้องพูด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตของประเทศไทยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ผมเคยเข้าไปร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ผมเสนอให้มีสภาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งต้องรวมถึงการปฏิรูปสถาบันด้วย รวมไปถึงกฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา”
“ผมเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปมา จากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่โดยการ แต่งตั้งของรัฐบาลอย่างที่ทำอยู่ แต่องค์กร ต้องมาจากประชาชนเราไม่อาจจะให้คนที่เรา เชื่อว่าเป็นคนดี หรือมีศีลธรรม ความรู้ความ สามารถสูงกว่าคนอื่นไปตัดสินใจแทนประ ชาชน มันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ถ้าเอาคนเหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบโดยมีส่วนร่วมของ ประชาชน ก็อาจจะได้ และอาจจะอยู่สัก 5-10 ปีแล้วก็สลายตัวไป เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่าบ้านเมืองในระยะ 5-10 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงอะไร”
>> ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม
“สำหรับระบบศาลยุติธรรมก็ต้องปฏิรูป ตั้งแต่ต้นทาง คือตำรวจ อัยการ ศาล และให้ อำนาจตุลาการยึดโยงกับอำนาจประชาชนมากขึ้น ไม่ต้องเอาถึงขั้นสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่ให้มีอำนาจของประชาชนเกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะธรรมนูญปกครองประเทศ 2475 เขียนชัดเจน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่วันนี้ผมไม่เห็นอำนาจศาลยึดโยงกับอำนาจประชาชนเลย
“ในส่วนประเด็นเรื่องการผูกขาดอำนาจ เศรษฐกิจ ก็โยงกับการผูกขาดอำนาจทาง การเมืองแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมมองว่า ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เราไม่อาจทำอย่างใด อย่างหนึ่งได้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ที่ทำให้ประเทศไหนก็ตามเป็นประ ชาธิปไตยล้วนเกิดจากผลของพัฒนาการทาง เศรษฐกิจแล้วนำมาสู่แรงกดดันทางการเมือง ทำให้ระบบเดิมต้องปรับเปลี่ยน อยู่อย่างเดิม ไม่ได้ เพราะระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน และสิ่งนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศจีนได้ และแน่นอนที่สุดไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกฎ Dialectic ได้ ผม มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็นพลังระหว่างกิริยากับปฏิกิริยา ก็จะเกิดวิวัฒนา การปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
“แต่เราอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นประ ชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์มีความสูญเสียน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่แน่นอน ว่าไม่มีใครต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีบางสังคมที่ขยับขึ้นแล้วตกลงมาได้ เพราะสังคมนั้นขาดการเตรียมพร้อมในทุกด้าน เราดูพัฒนาการของหลายประเทศ ทำไมการเปลี่ยนแปลงบางประเทศถึงรุนแรงนองเลือด ก็เพราะไม่เตรียมพร้อม และคนที่ไม่เตรียมพร้อมที่สุดก็คือคนชั้นนำ”
>> ปฏิรูปทั้งระบบวัคซีนสกัดเหตุนองเลือด
“หลังอภิสิทธิ์ 1 เราต้องปฏิรูป จึงจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดและความสูญเสียได้ แต่ถ้าเราไม่ทำ แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงจากล่างสู่บน ซึ่งถ้าองค์กรด้านล่างมียุทธศาสตร์ที่ดี บ้านเมืองจะไม่ระส่ำระสาย แต่มัน จะรุนแรงแน่นอน บางประเทศที่กลับไปกลับมาเพราะเกิดสภาวะอนาธิปไตย เพราะศูนย์กลางอำนาจเดิมสูญเสียการควบคุมก็ไม่มีศูนย์กลางใหม่ หรือไม่เกิดการกระจายตัว แต่ทางออกของประเทศไทย ผมเชื่อในประชาธิปไตยผมมองว่าทางออกคือการฟังเสียงประ ชาชน คือการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้ง ที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลาง ไม่ว่าผลการ เลือกตั้งจะออกมาอย่างไรนั่นคือเสียงของประชาชนและต้องยอมรับ แต่ต้องไม่ให้การเลือกตั้งนี้ถูกฉ้อฉลด้วยอำนาจรัฐและอำนาจ เงิน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีคนบางกลุ่มคิดแทนประชาชน และเชื่อในความดีความสามารถของตัวเอง”
>> รัฐประหารรอบใหม่คือหายนะชาติ
“ผมมองว่าถ้ามีรัฐประหารอีกประเทศ ไทยจะถอยหลังยาว แล้วจะปิดประตูการรัฐ ประหารได้อย่างไร ข้ออ้างคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เราก็ต้องสามารถลงโทษรัฐบาลที่ทุจริต คอร์รัปชั่นได้ด้วยระบบกฎหมาย ไม่ใช่กระ บวนการรถถังแล้วความเชื่อมั่นของนักลงทุน พัฒนาหลักสูตรประชาธิปไตยในโรงเรียนทหาร ให้ฝังแน่น ให้เป็นทหารประชาธิปไตย เป็นทหารของประชาชน ปฏิรูปเงินเดือนสวัสดิการให้มันดี แต่จะมีเงินพอหรือไม่นั้น ไม่ทราบเพราะว่าตอนนี้แจกเงินกันใหญ่ อีกสัก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาการเงินขนาดใหญ่”
“เปิดช่องให้กองทัพและอำมาตย์ทั้ง หลายเขามีบทบาททางการเมืองอย่างเหมาะสม ตามวิถีทางประชาธิปไตย ฉะนั้น ต้องกำหนด ในกฎหมายให้ชัดเจน เช่น กองทัพต้องพิทักษ์ รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจาก สสร. และมีการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ 7 วัน 7 คืน เอาวันที่ 24 มิ.ย. มาเป็นวันชาติ ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และจะทำให้สถาบันยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ดูอย่าง อังกฤษจะเห็นว่าดีกว่าเยอะ การเอาเจ้า เอาสถาบันมาทำลายล้างทางการเมืองจะหยุดลง เพราะเราปรับปรุงกฎหมายไม่ให้เป็นเครื่องมือ ทำลายกันทางการเมือง ซึ่งการติดคุก 18 ปี ด้วยกฎหมายแบบนี้ มันไม่เหมาะสมกับศตวรรษ ที่ 21 เพราะมันผิดธรรมชาติ ผิดสภาวะแวดล้อมที่บ้านเมืองเปลี่ยนไปเยอะ”
“ที่สำคัญต้องกำหนดบทลงโทษผู้ก่อ การรัฐประหาร และศาลต้องกล้าตัดสินว่าผู้ทำการรัฐประหารเป็นกบฏ เราต้องไปดูกรณี ของประเทศตุรกี สเปน บางประเทศกษัตริย์ลงมาพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป แล้วบ้านเมืองถึงจะไปได้แบบก้าวกระโดด ศักยภาพของประเทศไทยควรจะพัฒนาได้แบบญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่นี่แสดงว่ามีพลังบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปได้ เราไม่มีการปฏิรูป ที่ดินอย่างจริงจัง แต่จุดแข็งคือเราสามารถยกเลิกระบบไพร่ ทาส ได้อย่างสันติวิธีนี่คือกษัตริย์ทียิ่งใหญ่ วางแผนระยะยาว ค่อยๆ เปลี่ยน และหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนหนึ่งกลับอยากเป็นไพร่ จริงๆ ราษฎรในระบอบประชาธิปไตยต้องมีจิตสำนึก แบบพลเมือง ไม่ใช่สำนึกแบบไพร่ฟ้า เป็นวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ รากของวัฒนธรรมไม่ได้เปลี่ยน เพราะประเทศไทยมีการอภิวัฒน์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบประเทศอื่น และในระดับระหว่างประเทศควรเสนอให้กฎบัตรอาเซียนไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐ ประหาร”
ชัดเจนในเนื้อหาใจความ และคงไม่ต้องอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า การเมืองสยาม ประเทศหลัง “อภิสิทธิ์ 1” จะพลิกโฉมไปสู่ แห่งหนใด
ที่มา.สยามธุรกิจ
****************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น