ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีการจัดเสวนาเรื่อง "นโยบายพหุวัฒนธรรมและนโยบายเขตปกครองพิเศษที่ต่างแดน" จัดโดย กลุ่มวิจัยความขัดแย้งและพหุวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีวิทยากรเข้าร่วมได้แก่ อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดำรงพล อินทร์จันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"พหุวัฒนธรรม" จากจีนสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายวรศักดิ์ กล่าวว่า เขตปกครองตนเอง, จังหวัดปกครองตนเอง และอำเภอปกครองตนเอง เป็นหน่วยหลักที่มีขนาดใหญ่ของจีน ส่วนตำบลชนชาตินั้นจะมีชนชาติอื่นอยู่ร่วมกับจีนฮั่น แต่ว่าไม่มีสิทธิพิเศษในการปกครองตนเองซึ่งจริงๆแล้วตำบลปกครองตนเองก็มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศมีลักษณะการบริหารที่แตกต่างกันเพราะ จีนมีชนชาติทั้งหมด 56 ชนชาติ
หนึ่งใน 56 ชนชาตินั้นคือฮั่น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนถึง 90 % จากทั้ง 56 ชนชาติ ส่วนอีก 55 ชนชาติคิดเป็นแค่ 10 % ถ้าหากเป็นชนชาติที่มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ รัฐบาลจีนจะยกให้เป็นเขตปกครองเทียบเท่ามณฑล แต่บางชนชาติที่มีคนจำนวนน้อยบางชนชาติมีประชากร 3,000 คนเท่ากับหมีแพนด้า ก็ไม่สามารถให้มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ ชนชาติที่มีจำนวนประชากรน้อยแค่หลักหมื่น รัฐบาลจีนก็ให้สิทธิเรื่องพิเศษอย่างเช่น ให้มีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน เป็นนโยบายที่ต้องการรักษาประเพณี และวัฒนธรรมของชนชาติที่มีประชากรน้อย
เมื่อพูดถึงทั้งเขต จังหวัดและอำเภอแต่ละหน่วยมีสภาผู้แทนประชาชนเป็นของตนเอง โดยที่มาของสภาผู้แทนจะดูจาก"สัดส่วนของประชากร กับ จำนวนตัวแทนหนึ่งคน" เนื่องจากชนชาติพันธุ์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจีนฮั่น ซึ่งมีการเลือกตั้งโดยตรงโดยแบ่งเป็นชนบทกับเมือง ถ้าชนบทประชากรอาจมีน้อย สองแสนต่อผู้แทนหนึ่งคน คนเมืองถ้ามากอาจเป็นสามแสนถึงสี่แสนต่อผู้แทนหนึ่งคน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว พวกผู้เแทนเหล่านี้ในหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยคนก็จะเลือกผู้แทนในเขตปกครองนั้นๆขึ้นมาจำนวนหนึ่งไปนั่งในผู้แทนประชาชนในสภาของหน่วยปกครองที่สูงขึ้นไปอีก
เมื่อผู้แทนหลายๆอำเภอมารวมก็จะมีผู้แทนเป็นหลักร้อย ในสภานั้นก็เลือกผู้แทนกันเองขึ้นไปในจังหวัดและจังหวัดก็เลือกในระดับมณฑล มณฑลก็เลือกกันเองเพื่อขึ้นไปนั่งในสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติที่อยู่ในปักกิ่ง ซึ่งระดับตำบลในจีนจะมีสภาแม้ว่าบางตำบลรัฐบาลไม่อนุญาตให้มี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้แทนที่ไปนั่งนั้นมีมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชาติพันธุ์
นโยบายแต่ละนโยบายที่ออกมาคนชาติพันธุ์มีสิทธิในการกำหนดนโยบายค่อนข้างมาก ลักษณะแบบนี้เพึ่งเกิดขึ้นได้ไม่ถึง 30 ปี สิทธิตรงนี้ทำให้ชนชาติพันธ์ของเขามีสิทธิพิเศษนำเสนอเรื่องประเพณี วัฒนธรรมได้ แต่ละชนชาติจะมีความเชื่อไม่เหมือนกันเวลากำหนดกฎอะไรที่ใช้สำหรับตัวเองก็จะแตกต่างกัน อย่าเข้าใจว่ากฎใช้เหมือนกันหมด ต้องดูเป็นแต่ละหน่วยปกครองนั้นๆ
ที่กล่าวมานี้ ฟังดูเหมือนดีน่าศึกษา แต่จริงๆแล้วก็มีปัญหา เราพบว่าถ้ามีการประเมินผลภาพรวมถือว่ามีปัญหาน้อย ปัญหาใหญ่ๆที่เกิดคือทิเบต กับซินเจียง กล่าวคือเป็นพื้นที่ที่ถูกกระทำในช่วงแรกของการปกครองอย่างรุนแรงเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เมื่อมีการปกครองตนเองอีกครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะไม่เห็นด้วยกับรัฐ โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลจีนให้ชนชาติฮั่นเข้าไปในหน่วยปกครองของชนชาติเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น
ในกรณีทิเบต ก็มีความเคร่งครัดในแบบของเขา แต่สิ่งที่รัฐเอาไปพัฒนาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบธุรกิจอบายมุข เช่น บาร์ และสิ่งมอมเมา ฉะนั้น คนเมื่อเจอสิ่งเหล่านี้ก็หลงระเริง และทำให้ผู้นำชุมชนไม่พอใจ ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้ง
จากการศึกษาเรื่องนี้ รู้สึกว่ากรณีสามจังหวัดชายแดนใต้น่าจะเป็นลักษณะแบบนั้น ซึ่งบางทีกรณีคนที่สื่อสารกรณีนี้มักเป็นชนชั้นนำที่กล่าวแล้วเข้าใจยาก ซึ่งจริงๆแล้วเราอาจสามารถนำปัญหาต่างๆมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในบางด้านได้
ภาษากับชาติพันธุ์จีน
อ.ดำรงพล กล่าวว่า กรณีการใช้ภาษาจีนการจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่จีนในแต่ละเขตมีกลุ่มชาติพันธ์จำนวนมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่มีความหลากหลายทางภาษาสามกลุ่มคือ จีนที่เรียกว่าไซแนติก, ฉาน หรือไต และทิเบต-พม่า แต่ก็ยังมีกลุ่มย่อยเป็นจำนวนมาก
โครงการจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธ์ในจีนที่ใช้คำว่า MInzu (หมินฉู) นำไปสู่การจัดแบ่งเขตปกครองตนเอง ดังนั้นนักวิชาการบางท่านอาจกล่าวว่า เป็นการสถาปนาสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายใต้โครงการนี้ ปัจจัยหลักที่จะบอกว่าเป็นหมินฉูหรือไม่นั้น คือการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่หลังจากปฎิวัติเป็นต้นมา, ดูจากกลุ่มที่อยู่รอบๆที่ไม่ใช่ฮั่นคือใครบ้าง และรัฐให้นิยามการประกาศกลุ่มหมินฉูเป็นอย่างไร ซึ่งต้องใช้ภาษาในการกำหนด กระบวนการหมินฉู ก็หมายถึงรัฐเป็นผู้สร้างและกำหนดกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นมีภาษาและอัตลักษณ์อย่างไร ซึ่งต่างกับคำว่า ความเป็นชาติพันธุ์ กล่าวคือเมื่อถูกกำหนดว่าเป็นหมินฉูแล้วจะคล้ายกับตายตัว แยกออกไปจากกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน แต่ถ้าคำว่า "ชาติพันธุ์" บางครั้งมันสามารถเปลี่ยนได้
ภายใต้หลักการกลุ่มโครงการนี้ต้องการดูว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ฮั่นคืออะไร ซึ่งเป็นการผสมผสานแนวคิดมาร์กซิสต์ กล่าวคือทฤษฎีที่ใช้เป็นการกำหนดว่าเป็นหมินฉูจะบอกด้วยเรื่อง ภาษา, เขตแดน, เศรษฐกิจ และจิตสำนึกทางวัฒนธรรมที่ใช้ร่วมกัน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มหมินฉูได้
เวลาที่จัดมีสามระยะ คือในช่วงปี 1949-1953 มี 38 กลุ่ม ระยะปี 1954-1964 มี 15 กลุ่ม และปี 1969-1979 มี 2 กลุ่มซึ่งยังคงมีความซับซ้อนอยู่ คือบางกลุ่มอาจไม่เคยสำนึกว่ากลุ่มตนเป็นอะไร ก็เริ่มเรียกตัวเอง การจัดสิ่งเหล่าเป็นเหมือนการสร้างความเข้มแข็ง หรือแม้แต่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดสำหรับบางกลุ่มที่อาจถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มย่อยไปด้วย ประการต่อมาคืออาจเกิดความพยายามนิยามตัวเองใหม่ ทั้งๆที่ตัวเองมีวัฒนธรรมของตัวเอง
ในกรณีพื้นที่ที่เข้าไปวิจัยภาคสนามนั้นเป็นเขตปกครองตนเอง ในบริเวณพื้้นที่เหล่านี้จ้วง แม้ว เหวินซาน มีการถกเถียงเรื่องนี้มาก ซึ่งการที่จะจัดแบ่งได้ก็ต้องมีการจัดแบ่งภาษาเพื่อใช้เป็นภาษาราชการ ส่วนในเชิงวัฒนธรรมเชื่อว่าฮั่นเข้าไปมีอิทธิพลมาก
เกณฑ์การแบ่งเรื่อง 56 ชนชาติแบบนี้อาจไม่ใช่เป็นเรื่องการบอกซะทีเดียวว่ากลุ่มแต่ละกลุ่มเป็นใคร แต่ก็มีกลุ่มประมาณกว่า 8 แสนกลุ่ม ที่รอการประกาศอยู่ เพราะฉะนั้น 56 ชนชาติที่ได้รับประกาศไปแล้ว นักวิชาการบางท่านในโลกตะวันตกเชื่อว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการสร้างชาติของจีน และอาจเป็นการยกระดับเป็นมาตรฐานเดียวกัน และได้รับการยอมรับทางวิชาการ ได้รับการพิจารณาทางภาษาและวัฒนธรรม
สุดท้ายแล้วเราจะตีความกฎเกณฑ์การชี้วัดเหล่านี้ไม่เท่ากับเกณฑ์ตะวันตก จีนใช้เกณฑ์บางเรื่องที่ตรงไปตรงมาแต่บางเรื่องก็อาจซ่อนเร้น และอีกด้านหนึ่งก็อาจมีการปะทะกันระหว่างสำนึกของคนในแต่ละพื้นที่อย่างเช่น ยูนนาน เรียกตัวเองต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ก็มีการถกเถียงกัน การจัดจำแนกอาจไม่ลงล็อคตามที่จัดก็ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ของจีนนั้นจะเห็นได้ว่าบางกลุ่มอาจเป็นเขตปกครองตนเอง หรือจังหวัดตนเอง แต่นักวิชาการจีนเชื่อว่าอย่างน้อยยังประกาศว่าตัวเองเป็นใคร สามารถยืนอยู่บนเวทีเอเชี่ยนเกมส์ได้ เป็นตัวแทนของกลุ่มตัวเอง แต่ว่าจะอยู่แค่ในกระดาษหรือจะสามารถเป็นในเชิงวัฒนธรรมก็อีกเรื่องหนึ่ง
เวียดนามกับความล้มเหลวเรื่องเขตปกครองตนเอง
ดร.ยุกติกล่าวว่า เขตปกครองในเวียดนามตอนนี้้ถูกยกเลิกไปแล้ว เขตปกครองตนเองนั้นเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆแต่มีเงื่อนไขคือความเป็น"รัฐพหุชาติพันธุ์" ซึ่งการเกิดเขตปกครองตนเองแก้ปัญหาบางประการได้แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการเช่นกัน
เวียดนามในช่วงปี 1890 เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ ต่อมาปี 1930 ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน แต่อีกสิบปีต่อมาก็ถูกญี่ปุ่นยึดครอง(ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ปี1945 ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกก็ออกไปจากเวียดนาม กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามก็ยึดพื้นที่ในเวียดนามเหนือ และหลายพื้นที่ และประกาศอิสรภาพ 1947 ฝรั่งเศสกลับมายึดครองโดยทางการ แต่หลายพื่้นที่กว่าครึ่งอยู่ในอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม พอหลัง 1954 จึงเป็นอิสระจากฝรั่งเศส จนตั้งเวียดนามเหนือซึ่งตั้งแต่ 1945 ก็พูดเรื่องเขตปกครองตนเองกันมาแล้ว
เมื่อดูข้อความในรัฐธรรมนูญปี 1945, 48 และ 55 ที่มีข้อความว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม(เวียดนามเหนือ)เป็นประเทศหนึ่งเดียวที่ประกอบกันหลายชนชาติ" ส่วนมาตราหนึ่งระบุว่า "พื้นที่ใดที่กลุ่มชาติพันธ์ส่วนน้อยอาศัยเป็นชุมชนเฉพาะก็สามารถก่อตั้งเป็นเขตปกครองตนเองได้"
ลักษณะเขตปกครองพิเศษ เตย บัค (ตะวันตกเฉียงเหนือ), เบียค บัค และลาว ฮา เอียน สามเขตนี้อยู่ล้อมกับฮานอย พื้นที่เหนือส่วนใหญ่ถูกประกาศเป็นเขตปกครองตนเอง ตั้งแต่ปี 1955-1975 ซึ่งนโยบายฝั่งเหนือกับใต้แตกต่างกันมาก ใต้ดำเนินนโยบายลักษณะต้องการกลืนกลายชาติพันธุ์ แต่ทางเหนือพยายามดำเนินนโยบายที่ให้สิทธิมากกว่า ที่น่าสนใจคือพื้นเขตปกครองตนเองที่กินพื้นที่เกินกว่าครึ่งของเวียดนามเหนือ โครงสร้างของเขตปกครองตนเองแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน แต่มาเพิ่มเป็น 4 ในช่วงหลัง คู (เขตปกครองตนเอง ) ทิน(จังหวัด) โจว (เมือง)
โครงสร้างการบริหารที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้สร้างขึ้นมาใหม่คือคณะกรรมการประชาชน เป็นฝ่ายบริหารมาจากการแต่งตั้ง และสภาประชาชนที่เป็นฝ่ายตรวจสอบมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกพรรคฯในท้องถิ่นระดับต่างๆ โครงสร้างสองอันนี้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้อยู่ใต้พรรคฯ โดยมีมวลชนระดับรากหญ้าประกอบด้วยสมาชิกพรรคในระดับต่างๆ จัดตั้งเป็นแนวหน้าคือ ปิตุภูมิ, สหภาพสตรี, ชมรมทหารผ่านศึก, สหภาพเกษตรกร และสหภาพเยาวชน (5 แฉกของดาวกลางธงชาติ)
แต่ที่สุดแล้วการมีเขตปกครองตนเองก็อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่เป็นคนที่ส่งมาจากส่วนกลาง แต่เป็นคนในท้องถิ่นเอง
สำหรับตัวสภาประชาชนแม้จะอยู่ใต้การดูแลของพรรคแต่ก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากท้องถิ่นเอง ที่น่าสนใจคือสภาประระชาชนควบคุมการปกครองระบบท้องถิ่นหลายๆด้าน ตรวจสอบถอดถอนผู้พิพากษาท้องถิ่น ยับยั้งกฎหมายฝ่ายยบริหารท้องถิ่น และกำหนดนโยายได้พอสมควร
นโยบายที่น่าสนใจคือเรื่องภาษา ที่ใช้ภาษาชาติพันธ์เป็นภาษาทางการ สอนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในโรงเรียนประถม ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดมีผลอย่างจริงจังที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีความหลากหลายในทางชาติพันธ์ซึ่งเกิดปัญหามากมาย
สาเหตุที่ต้องทำให้มีการปกครองตนเองคือ เรื่องนโยบายแบบ"มาร์กซ์และเลนิน" ที่เชื่อว่าความเป็นชาติพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ชนกลุ่มน้อยเองก็ครองพื้นที่กว่าครึ่งของชาติ พรรคก่อตั้งและเติบโตขึ้นมาในเขตกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย แสดงให้เห็นความเป็นรัฐพหุชนชาติ การจัดตั้งเขตปกครองตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวชนกลุ่มน้อย
อย่างไรก็ตาม มีปัญหาของเขตปกครองพิเศษเกิดขึ้น เมื่อแต่เดิมรัฐสัญญาว่าจะสืบทอดเขตปกครองตนเอง แต่เมื่อ 1962 รัฐได้ตั้งจังหวัดซ้อนเข้าไปในเขตปกครองตนเอง ทำให้นโยบายเรื่องภาษาเริ่มมีปัญหา ว่าจะเลือกภาษาไหนเป็นภาษากลาง รวมไปถึงปัญหาการใช้ตัวอักษร จึงนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังเกิดความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตฯเพราะมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดสรรทรัพยากรตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน จนนำไปสู่การยกเลิกเขตปกครองตนเองในที่สุด
ที่มา.มติชนออนไลน์
******************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น