--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ค่าแรงและการเมือง

บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการไตรภาคีขานรับแนวทางของรัฐบาลด้วยการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2554 ขึ้นอีกวันละ 9-17 บาททั่วประเทศ ตามแต่สภาพค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ โดยจำนวนจังหวัดที่ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น 10-11 บาท/วันมากที่สุด

ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้อัตราคาแรงพุ่งไปถึงระดับวันละ 250 บาท ดังที่นายกรัฐมนตรีเคยแสดงเจตนาไว้ แต่ก็อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเห็นว่า

เหมาะสม โดยมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่าน่าจะปรับเพิ่มมากขึ้นกว่านี้

ประเด็นว่าอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใด

เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงมานานนับสิบปี และมีปัจจัยที่แปรผันไปตามสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน ตั้งแต่มาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมของประชาชน ไปจนกระทั่งถึงต้นทุนการประกอบการของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งประเภทเดียวกันใน

ต่างประเทศ

ซึ่งจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้การตกลงและการต่อรองผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย เป็นไปอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมให้มากที่สุด เพื่อให้ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการสันติ

แต่สิ่งที่เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ซึ่งติดตามมาพร้อมกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับเงินเดือนของข้าราชการ ที่อยู่ในระดับไม่เกินอัตราร้อยละ 5-6 ก็คือเพิ่มค่าตอบแทนของ ส.ส. และวุฒิสมาชิกขึ้นไปอีกเกือบร้อยละ 15

ประการหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. มิได้พิสูจน์ตนเองให้สังคมเห็นว่าได้ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ในทางตรงข้ามกลับมี

ภาพของความย่อหย่อน ความไม่เอาใจใส่ และความไร้ประสิทธิภาพเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ยังไม่นับข้อครหาเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบหรือกระทำการทุจริต ซึ่งจากผลสำรวจทั้งภายในประเทศและโดยการประเมินเปรียบเทียบชี้ว่า ระดับการทุจริตโครงการภาครัฐในเมืองไทย อันมีนักการเมืองและข้าราชการเป็นต้นตอนั้น สูงถึงร้อยละ 25-30 ของมูลค่าโครงการ และถูกจัดเป็นประเทศที่มีการทุจริตติดอันดับต้น ๆ ของโลก

ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเสนอให้ขึ้นค่าตอบแทนกับนักการเมืองระดับชาติ อ้างเหตุผลแต่ว่าที่ผ่านมา ส.ส.และ ส.ว.มิได้รับการปรับค่าตอบแทนมาเป็นเวลานาน หรือมีภาระทางสังคมอื่น ๆ ที่ทำให้เงินเดือนในปัจจุบันไม่พอกับค่าใช้จ่าย

แต่กลับไม่ได้พูดถึงประเด็นของความสุจริต ความรับผิดชอบ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ ให้สมกับที่นำเงินภาษีอากรของประชาชนมาเพิ่มค่าตอบแทนให้ตนเองหรือพวกพ้อง

จึงยากที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองจะหลีกเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์ และการต่อต้านจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประสงค์ที่จะเห็นเงินของชาวบ้านได้รับการใช้จ่ายไปในทางที่เหมาะควรกว่านี้

รัฐบาลและนักการเมืองพึงน้อมรับคำวิจารณ์ และนำสาระที่อยู่ในนั้นไปปรับปรุงตน ให้สมกับความประสงค์ของเจ้าของเงิน และเจ้าของอำนาจที่ตนเองหยิบยืมมา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น