--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

The Social Network กับความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคม

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
นักวิชาการอิสระ

เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, 17 ธันวาคม 2553

เมื่อต้นเดือนธันวาคม มีภาพยนตร์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งได้เข้าฉายในบ้านเรา นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง “The Social Network” ที่มีเนื้อหาเกือบทั้งหมดอิงอยู่กับเรื่องราว “ชีวิตจริง” ของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง “FACEBOOK”

เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธนะครับว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา facebook เป็นเวบไซด์อันหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงและความสนใจมากที่สุดทั้งในสังคมไทย และอาจรวมถึงสังคมจำนวนมากในโลก โดยประเด็นการพูดถึงเจ้า facebook นี้ดูจะมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัวหรือการ “gossip” เนื้อหาสาระที่ปรากฏในหน้าเวบไซด์อันมีลักษณะเป็น “Social Network” จนถึงประเด็นผลกระทบที่ facebook มีแต่สภาพความสัมพันธ์ในสังคม ดังจะเห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่ว่า (การใช้) facebook เป็นต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่าร้างในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีรายงานจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะและเวลาการใช้ facebook ของคนชาติต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของแต่ละชาติ

ในมุมหนึ่งของข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นจึงดูราวกับว่า facebook เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาสังคม ครอบครัว รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากการใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ไปกับการเล่น facebook อันไม่เกิดประโยชน์แห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายบริษัทมีกฎหรือวางมาตรการห้ามพนักงานเล่น facebook ในเวลาทำงานกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายหันมามอง facebook ในอีกมุมมองหนึ่ง อันอาจมิใช่การตัดสินว่าดี/ไม่ดี มี/ไม่มีประโยชน์ หรือถูก/ผิด หากแต่เป็นการมองในแง่ของส่วนหนึ่งแห่ง “ยุคสมัย” หรือในฐานะ “เทคโนโลยี” อันหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคม “จริง” เฉกเช่นเดียวกับ แบบแผนทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถยนต์ ไฟฟ้า นาฬิกา หรือโทรทัศน์ ที่ต่างล้วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม และประสบกับแรงต้านมากบ้างน้อยบ้างมาแล้วทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญอันเนื่องมาจากการปรากฏตัวของ facebook หรือเวบไซด์จำพวก Social Network ก็คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ขึ้น (อย่างที่หลายคนคงทราบกันดี) บนโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีตลอด 10 ปีแห่งยุคอินเตอร์เน็ตดูจะทำให้ facebook สามารถกระทำการไม่แต่เพียงการตอบโต้ระหว่าง “เจ้าของ” กับ “ผู้เยี่ยมชม” เท่านั้น หากแต่ผู้ใช้ยังสามารถสร้าง application จำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ แบบสอบถาม กลุ่มสังคม หรือการจัดงาน (Event) ต่าง ๆ

และเมื่อมีลักษณะเป็นพื้นที่ออนไลน์หรือพื้นที่เสมือนจริง ผู้ใช้งานจึงสามารถ “เข้าถึง” facebook ได้ทุกพื้นที่ (ที่ระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึง) ผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานออนไลน์ ในแง่นี้จึงดูจะทำให้เกิดผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การกลับมาพบเจอ (กันอีกครั้ง) ของบรรดา “เพื่อน” หรือ “คนรู้จัก” ในโลกจริง ที่ห่างหายไปนานแสนนาน ซึ่งเราจะไม่พบเหตุการณ์นี้เลยในโลกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เพื่อนซึ่งมิได้ติดต่อก็จะหายหน้ากันไปเลย ในขณะที่เพื่อนใน facebook แม้จะมิได้ติดต่อแต่อย่างน้อยก็ยังรู้ถึงความเคลื่อนไหวและช่องทางในการติดต่อ

นอกจากการกลับมาพบเจอกับบรรดา “เพื่อนเก่า” แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง facebook ดูจะทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นไปอย่างแนบแน่นและรวดเร็วขึ้นอีกเช่นกัน การติดต่อพูดคุยผ่านโลกออนไลน์ รวมถึงการติดต่อผ่านโลก “จริง” ที่สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและวงกว้าง – การนัดสังสรรค์ระหว่างเพื่อนสามารถบอกกล่าวในโลกออนไลน์ได้ในวงกว้างและมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้

ในทางเดียวกัน โลกเสมือนจริงที่ facebook สร้างขึ้น ยังได้นำไปสู่การสร้าง “กลุ่มความสนใจ” จำนวนหนึ่งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้คลั่งไคล้นักร้อง/ศิลปิน (ที่มีสมาชิกจากหลายมุมของโลก) กลุ่มช่วยเหลือสังคม กลุ่มผู้สนในด้านอาหารและการกิน และกลุ่มผู้สนใจทางด้านหนังสือ เป็นต้น (นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองด้วย หากแต่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้) โดยกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะมิได้ดำรงอยู่แต่บนโลกออนไลน์เท่านั้น สมาชิกหรือคนในกลุ่มเหล่านี้ยังได้มาพบปะสังสรรค์กันในโลกจริงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หนุ่มน้อยผู้ศรัทธาในการกินอาหารอร่อยคนหนึ่งได้เป็นตัวตั้งในการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายผู้รักการกินอาหารอร่อยขึ้นและได้จัด “ทริป” การกินอยู่เนือง ๆ โดยแต่ละทริปก็จะมีผู้ที่เข้าร่วมทั้งโดยรู้จักและไม่รู้จักกันมาก่อน อันทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมบนโลกจริงขึ้นใหม่จากทริปการกินที่มีจุดเริ่มในโลกออนไลน์ หรือในกลุ่มผู้สนใจในการช่วยเหลือสังคมก็ได้มีการนัดแนะกันไปทำงานเพื่อสังคมต่าง ๆ นานากันอยู่เนือง ๆ

ในแง่นี้จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า facebook (และอาจรวมถึงเวบไซด์ Social Network อื่นๆ ด้วยนั้น) เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ บนโลกแห่งความเป็นจริง โลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะทำให้คนเป็นปัจเจกชนเก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งได้สร้างกลุ่ม (ความสนใจ) ทางสังคมอันหลากหลายขึ้นมานับไม่ถ้วน ลักษณะหรือสภาพที่ราวกับเป็นไปด้วยกันมิได้นี้ดูจะตรงกับสิ่งที่นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเรียกว่า “Rhizome” อันเป็นสภาวะแห่งโลกสมัยใหม่หรือโลกแห่งยุคเทคโนโลยีที่ผู้คนมีลักษณะคล้าย “จุด” ที่เชื่อมโยงกับ “จุดอื่น ๆ” (สามารถมีได้มากกว่าหนึ่ง) ผ่านความสนใจที่อยู่นอกเหนือขอบเขตทางกายภาพของชุมชนหรือสังคม

นี่คือ ยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะต้องยอมรับและมองในฐานะปรากฏการหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะยินดี ชื่นชอบ หรือไม่ก็ตาม

ที่มา.ประชาไท
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น