พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ยังเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ทั้งในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และในวงอำนาจ 7 พรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งโครงการการเมือง-โครงการเศรษฐกิจ และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ต่างฝ่ายต่างขัดแข้ง ขัดขา ข้องใจ
ทั้งโครงการเก่า-โครงการใหม่ ถูกดองอยู่นอกห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ค้างคา-ข้ามปี
โครงการในประเทศ-ระหว่างประเทศ ถูกเบียดแทรก-แซงคิด-แย่งซีน อลหม่าน
การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด มีมติเป็น "วาระแทรก" เพื่อ "รับทราบ" ผลการเยือนจีนและผลประชุม "World Congress on High Speed Rails" หรือการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องรถไฟความเร็วสูง มีนัยสำคัญเกี่ยวพันการลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.8 แสนล้าน
วาระนี้นำเสนอโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีภารกิจปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนร่วมกับ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีคู่ใจจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติแต่งตั้ง นายสุเทพ และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้เป็นกรรมการประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีข้อเสนอที่น่าสนใจ คือ นายสุเทพ-รายงานต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2553 ตามคำเชิญ ของกระทรวงรถไฟจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุม "7th World Congress on High Speed Rails" พร้อมด้วย นายวีระชัย วีระเมธีกุล
วาระที่ได้มีโอกาสพบปะหารือกับ นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รอง นรม.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นายหลิว จื้อจุน รมว.กระทรวงรถไฟจีน, นายหลู ชุนฝาง รมช.กระทรวงรถไฟจีน, นายอ้าย ผิง รมช.กระทรวงวิเทศสัมพันธ์ และ นายเฮ่อ จุน ผช.รมว.กระทรวงวิเทศสัมพันธ์ ถูกนายสุเทพรายงาน "ตรง" ต่อนายกรัฐมนตรี
การเจรจาเรื่อง "รถไฟ" ในกรุงปักกิ่ง กระทรวงรถไฟของจีนได้เชิญผู้แทนระดับสูงของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนากิจการรถไฟของประเทศ ต่าง ๆ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ด้านรถไฟ ผู้บริหารบริษัทรถไฟชั้นนำ ของโลก นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้าน รถไฟ
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมกันหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การก่อสร้าง และพัฒนากิจการรถไฟ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือและหุ้นส่วนความร่วมมือในแวดวงกิจการรถไฟ
นายสุเทพ-ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย แจ้งต่อฝ่ายจีนว่า ความสำคัญของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนการติดต่อไปมาหาสู่ของประชาชน การขยายตัวทางการค้า การลงทุน และด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาทางกายภาพในภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง
หัวหน้าคณะฝ่ายไทย "ได้แสดงความหวังว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากิจการรถไฟไทย-จีนได้ในเร็ววัน" เอกสารร้อนเรื่องรถไฟ-ที่รายงานต่อนายกรัฐมนตรีระบุ
คำถามของคณะรัฐมนตรีฝ่ายภูมิใจไทย ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม จึงเกิดขึ้น ว่า "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่ในโบกี้ใดของขบวนรถไฟสายร้อน
ข้อเสนอของ-สุเทพจึงระบุไว้กว้าง ๆ แต่เพียงว่า "คณะรัฐมนตรีน่าจะมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ประสานงานหลัก"
แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติแต่เพียง 2 ชื่อเท่านั้นให้เป็นผู้ประสานงานหลัก คือ นายสุเทพและนายกอร์ปศักดิ์
เพื่อดำเนินการตาม "สาระความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง" ดังนี้
ข้อแรก ไทย-จีน-ลาวเห็นชอบร่วมกันว่าเส้นทางรถไฟที่จะก่อสร้าง สร้างตามแนวคิด "ระบบรถไฟสายเอเชีย" คือ สร้างจากหนองคายผ่านกรุงเทพฯไปปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมไปมาเลเซียและสิงคโปร์
ข้อ 2 รูปแบบในการดำเนินงานจะ ยึดหลักเดียวกับที่จีนได้ตกลงกับลาว ทั้งลักษณะร่วมลงทุน การกู้เงินในอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และการบริหารจัดการแบบ BOT (Build Operate Transfer)
และ ข้อ 3 นายสุเทพได้เรียนเชิญ รมว.กระทรวงรถไฟจีน มาลงนามในข้อตกลง ณ ประเทศไทย ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 54 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีการลงนาม
การเจรจา "ผลประโยชน์ร่วม" ระบุว่า ในโครงการสร้างทางรถไฟจากหนองคายไป ปาดังเบซาร์ จะส่งผลให้ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของทางรถไฟ ซึ่งจะนำไปสู่ การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศกลุ่ม ASEAN
ข้อมูลเชิงชิงเล่ห์-ชิงเหลี่ยมกับประเทศเพื่อนบ้าน ถูกเสิร์ฟในวงการเจรจาเมื่อประเทศไทยถูกแจ้งว่า "มีการติดต่อเจรจาความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่าง กัมพูชาและจีน ซึ่งอาจเป็นช่องทางหนึ่งของไทยที่สามารถเชื่อมต่อทางรถไฟไปยังกัมพูชาได้"
โดยตัวแทนฝ่ายจีนยืนยันผ่าน นายสุเทพว่า "ตั้งใจที่จะก่อสร้างรถไฟ สายนี้ให้เสร็จภายใน 5 ปี และเร่งรัดให้ไทยจัดตั้งคณะทำงานที่สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในเชิงบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น"
ขณะที่ "การเมือง" ระหว่างไทย-จีน มีความพยายามที่จะ "แย่งซีน" จาก ฝ่ายค้าน โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และคณะ "นักการเมืองรุ่นใหม่" โดยเอ่ยชื่อ "จาตุรนต์ ฉายแสง" เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี
ฝ่ายรัฐบาลโดยนายสุเทพจึงต้องชิง ปูทางเข้าขบวนการทูตระหว่างประเทศ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนพบปะกันระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ ไทย-จีนไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
โดยนายสุเทพจะจัดขบวนนักการเมืองรุ่นใหม่ไปเยือนจีนในช่วงต้นปีหน้า และเตรียมเชิญผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการรถไฟไทย-จีน ณ ประเทศไทยด้วย
หลังรับทราบข้อหารือร้อนจากเมืองจีน คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 จึงมีมติ "ตั้งคณะกรรมการศึกษา รายละเอียดแผนร่วมทุนก่อสร้างโครงการพัฒนากิจการรถไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยและจีน มี "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เพื่อลงลึกรายละเอียดแผนร่วมลงทุน ทั้งเงื่อนไขการลงทุน (ทีโออาร์) รูปแบบการลงทุน ข้อปฏิบัติในแง่กฎหมาย การลงนามร่วมลงทุนกับจีน (MOU) นำเสนอเข้า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาต่อไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 เพื่อขออนุมัติกรอบสำหรับเจรจากับจีน ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร ที่รัฐสภาผ่านความเห็นชอบให้เกิดกรอบการเจรจาลงทุนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 นั้นประกอบด้วย
ตัวโครงการออกแบบก่อสร้างเป็น รางสแตนดาร์ดเก็จขนาด 1.435 เมตร เริ่มต้นที่สถานีบางซื่อผ่านสถานีพระนครศรีอยุธยา-สระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา-บัวใหญ่-บ้านไผ่-ขอนแก่น-เขาสวนกวาง-อุดรธานี และปลายทางที่สถานีหนองคายรวม 600 กิโลเมตร รวมเวลาวิ่ง 3 ชั่วโมง 8 นาที
โครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี งบฯลงทุน 181,369 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 156,934 ล้านบาท ค่าศึกษาออกแบบรายละเอียด 2,354 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 3,000 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 2,746 ล้านบาท ค่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 785 ล้านบาท ค่าขบวนรถ 15,550 ล้านบาท
อนึ่ง โครงการถไฟความเร็วสูงที่เคย ถูกเสนอเพื่อ "พิจารณา" ในช่วงต้น วาระรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ประกอบด้วย 4 สาย เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ลงทุน 209,396 ล้านบาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย 180,379 ล้านบาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ระยอง ลงทุน 56,601 ล้านบาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ ลงทุน 247,855 ล้านบาท
แต่เมื่อรัฐบาลไทยเชื่องช้า ผลการเจรจาจึงเหลือเพียงเส้นทางเดียว คือ หนองคาย-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์
โดยมีเจ้าภาพ-เจ้ามือฝ่ายไทยเป็น ฝ่ายประชาธิปัตย์ที่สปีดความเร็ว เบียดแทรกขบวนของภูมิใจไทยตกราง ไปในช่วงโค้งสุดท้ายของการเป็นรัฐบาล
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น