การอนุมัติให้ปรับขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. และข้าราชการฝ่ายการเมืองในอัตรา 14.3-14.7% ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 13,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากงบกลางและเป็นภาษีของประชาชนนั้น ยังมีกระแสต่อต้านอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะได้รับค่าตอบแทน
อย่างนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยให้เห็นผลว่า การขึ้นเงินเดือนดังกล่าวส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายในปีหน้า และถือว่าเสียวินัยทางการคลัง ซึ่งตนเองจะทำหนังสือแสดงเจตจำนงไม่รับเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้นางสาวรสนายังเห็นว่า การตั้งกรอบงบประมาณไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ภายหลังนำมาจัดสรรเป็นเงินเดือนให้ ส.ส. และ ส.ว. มีลักษณะเหมือนเซ็นเช็คเปล่าเพื่ออนุญาตให้ใช้เงินล่วงหน้าแล้วกรอกตัวเลขภายหลัง ประชาชนเจ้าของภาษีสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แม้การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่หากไม่ถูกต้องก็สามารถเพิกถอนได้เช่นกัน อย่างที่นางสาวรสนาเคยฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของรัฐบาลก่อนหน้านี้ และสุดท้ายศาลปกครองก็ให้เพิกถอน
ขณะที่รัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและเตรียมทุ่มงบประมาณที่อ้างว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนนั้น ก็มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าที่ผ่านมารัฐบาล ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีการโครงการลักษณะประชานิยมหรือกึ่งรัฐสวัสดิการมากมาย ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการสร้างงานหรือทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เป็นลักษณะการให้เปล่าหรือแจกฟรีกว่า 200,000 ล้านบาทแล้ว ไม่ใช่เฉพาะคนรากหญ้าเมืองและชนบท แต่ยังเอาใจทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง เหมือนการหาเสียงล่วงหน้าหรือ “ตกเขียว” ซึ่งอาจกระทบต่อเงินคงคลังและวินัยการคลัง
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคก็มีการจัดสรรเงินงบประมาณในลักษณะต่างๆลงในพื้นที่ของตน ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากในอดีตที่ฝ่ายการเมืองจะเอาเงินงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนไปหาเสียง โดยเฉพาะระยะใกล้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และยังมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระหนี้สินใน 10 ปีข้างหน้าที่จะเพิ่มเป็น 3.3 ล้านล้านบาท ยังไม่เห็นรัฐบาลวางนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเลย นอกจากใช้งบประมาณในลักษณะหาเสียงทางการเมืองล่วงหน้า ทั้งที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยที่จะทำนโยบายประชานิยมหรือรัฐสวัสดิการให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มได้ รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจพื้นฐานให้มั่นคงก่อน อาทิ การศึกษา การรักษาพยาบาล คนชรา และแรงงานนอกระบบ ฯลฯ
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น