--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รายงานเอ็กซ์คลูซีฟจากรอยเตอร์: หลักฐานบ่งชี้ว่าทหารไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในความตายของพลเรือน

ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจาก Jason Szep and Ambika Ahuja, “Exclusive: Probe reveals Thai troops' role in civilian deaths,” Reuters; http://www.reuters.com/article/idUSTRE6B90OR20101210?pageNumber=1

กรุงเทพฯ (รอยเตอร์) – รอยเตอร์ได้เห็นเอกสารทางการไทยที่รั่วไหลออกมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กองทัพไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารชีวิตพลเรือนระหว่างเกิดความไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อกลางปีนี้ ถึงแม้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ยอมรับก็ตาม

การสอบสวนเบื้องต้นของรัฐต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ได้ข้อสรุปว่า กองกำลังพิเศษของไทย ซึ่งวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ ได้ยิงลงไปในบริเวณวัดที่มีผู้ประท้วงหลายพันคนเข้าไปหลบภัยในวันที่ 19 พฤษภาคม

การสอบสวนนี้พบว่า ประชาชน 3 ใน 6 คนที่ถูกยิงตายในวัดน่าจะเสียชีวิตจากกระสุนของกองทหาร ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับแถลงการณ์ของกองทัพไทย ซึ่งออกมาปฏิเสธว่าทหารไม่มีส่วนรับผิดชอบในการสังหารที่วัด

รายงานนี้กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสรุปว่า ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของประชาชนอีกสามคนในวัดนั้น แต่รายงานระบุว่า เหยื่อทั้งหกรายถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง

“มีข้อเท็จจริง หลักฐานและปากคำพยานมากเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า การเสียชีวิต (ทั้งสามราย) เป็นผลมาจากปฏิบัติการของกองกำลังด้านความมั่นคงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่” ผู้สอบสวนระบุไว้เช่นนี้ โดยแนะนำให้ตำรวจสืบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตต่อไป

เมื่อรอยเตอร์ตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกสารที่รั่วไหลออกมานี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้ปฏิเสธว่าเอกสารนี้ไม่ใช่เอกสารจริง แต่กล่าวว่า การสอบสวนยังไม่สมบูรณ์และกำลังพยายามเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น

“ขั้นตอนต่อไปจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล ดังนั้น เราจึงไม่ควรตื่นตูมไปกับข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์” เขากล่าว

ผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (ดีเอสไอ) น่าจะยิ่งกระตุ้นขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ “คนเสื้อแดง” ที่ท้าทายความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกมากล่าวโทษเมื่อเดือนมิถุนายนว่า การเสียชีวิตในวัดเกิดจากกลุ่มคนติดอาวุธในหมู่ผู้ประท้วงด้วยกันเอง

วัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนา ถูกประกาศให้เป็น “เขตอภัยทาน” สำหรับผู้หญิง เด็ก คนชราและผู้พิการ ประชาชนหลายพันคนหนีเข้าไปหลบในวัดในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อกองทัพใช้กำลังเข้าสลายผู้ประท้วงที่ยึดพื้นที่ในย่านการค้าใกล้เคียง

จากการสอบสวนของดีเอสไอ พยานหลายคนรายงานถึงสภาพปั่นป่วนนอกวัด เมื่อเสียงปืนดังรัวขึ้นและพลเรือนพากันหนีออกจากย่านช้อปปิ้ง

พยานคนหนึ่งกล่าวว่า เขาเห็นทหารยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้าด้านบน และยิงลงไปในเต๊นท์พยาบาลภายในบริเวณวัด ซึ่งพยาบาลอาสากำลังดูแลพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บ มีพยาบาลอาสาสองคนเสียชีวิต

มีประชาชนถูกฆ่าตาย 91 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,800 ราย ระหว่างเกิดความไม่สงบในเดือนเมษายนและพฤษภาคม อาคารกว่า 30 แห่งถูกไฟไหม้ นี่เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่างภาพของรอยเตอร์น่าจะถูกทหารยิงเสียชีวิต

ดีเอสไอกำลังสอบสวนการตายทั้งหมด 89 รายที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยผลการสอบสวนใด ๆ ต่อสาธารณะ แม้จะมีแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม

ผลการสอบสวนที่ตกมาถึงรอยเตอร์มีอยู่ในรายงานสองฉบับของดีเอสไอ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการยิงที่วัดและอีกฉบับเกี่ยวกับการตายของช่างภาพรอยเตอร์ นายฮิโระ มุราโมโตะ ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

มุราโมโตะ ชาวญี่ปุ่นวัย 43 ปีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในโตเกียว ถูกสังหารด้วยกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่หน้าอก ขณะกำลังทำข่าวการประท้วงในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ

รายงานอ้างพยานคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า มุราโมโตะล้มลงพร้อมกับกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางของทหาร รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการตายของเขาต่อสาธารณะ ถึงแม้มีแรงกดดันทางการทูตจากญี่ปุ่นอย่างมาก

หัวหน้าบรรณาธิการของรอยเตอร์ นายเดวิด ชเลซิงเงอร์ เรียกร้องให้เผยแพร่รายงานฉบับเต็มต่อสาธารณะทันที

“รัฐบาลไทยยังติดค้างครอบครัวของฮิโระ รัฐบาลไทยต้องเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไรและใครคือผู้รับผิดชอบ” ชเลซิงเงอร์กล่าวในแถลงการณ์

รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ทหารยิงใส่พลเรือนอาจกระพือความโกรธแค้นของประชาชน และกระตุ้นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งถึงสองครั้งและปัจจุบันต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทักษิณ ชินวัตรเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปสอบสวนความรุนแรงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รวมทั้งความตายอันน่ากังขาในวัดด้วย

พยานคนหนึ่ง ซึ่งซ่อนอยู่ใต้รถยนต์ที่วัด ให้การว่า เขาถูกระดมยิงถึง 4 หรือ 5 ครั้งจากกลุ่มชายในชุดลายพราง ซึ่งยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้ายกระดับ

เขาถูกยิงนัดหนึ่งและได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง การชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนที่พบในศพ 4 รายจาก 6 รายในวัด เป็นลูกกระสุนชนิดเดียวกับที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าให้การว่าใช้เป็นอาวุธ มีประชาชนได้รับบาดเจ็บที่วัดเป็นจำนวนที่ไม่ทราบแน่นอน

“ความลับของทางการ”

คำให้การของทหารที่อ้างในรายงานของดีเอสไอระบุว่า พวกเขายิงเตือนไปที่วัดและถูกยิงตอบโต้จากกลุ่มชายชุดดำที่อยู่ข้างล่างและจากผู้มีอาวุธปืนอีกคนหนึ่งในวัด ทหารกล่าวว่า พวกเขายิงคุ้มกันให้กองทหารบนพื้นดิน ซึ่งร้องขอกำลังสนับสนุน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอได้สรุปผลการสอบสวนเบื้องต้นและส่งต่อผลการสอบสวนนี้ให้กรมตำรวจ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณชน

“รายงานการสอบสวนนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อการถกเถียงหรือการยืนยันความถูกต้อง” เขากล่าว “มันเป็นความลับของทางการ การยืนยันความถูกต้องของรายงานที่ส่งไปถึงกรมตำรวจอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่มีรายชื่ออยู่ในนั้น”

เขาไม่ยืนยันหรือปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารสองฉบับที่ตกมาถึงรอยเตอร์ แต่กล่าวว่า จากนี้ตำรวจจะสอบสวนคดีของประชาชนสามรายที่เชื่อว่าถูกทหารฆ่าตายในวัด รวมทั้งประชาชนคนอื่นอีกสามรายที่มีความเป็นไปได้ว่าถูกทหารยิงเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนายมุราโมโตะด้วย

ผลการสอบสวนของกรมตำรวจจะถูกส่งไปให้ดีเอสไอและสำนักงานอัยการ

ถ้าการสอบสวนพบว่าทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพลเรือน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่รัฐบาลก็สามารถอ้างได้ว่า การยิงนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

(รายงานข่าวเพิ่มเติมโดย Andrew Marshall จากสิงคโปร์; บรรณาธิกรณ์โดย Andrew Marshall และ John Chalmers)

หมายเหตุผู้แปล: ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กที่แนะนำข่าวนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น