--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลังยาวผลาญภาษี

หลังสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลประกาศตั้งฉายารัฐบาล ซึ่งถือเป็นฝ่ายบริหาร ล่าสุดสื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ประกาศตั้งฉายาของ ส.ส. และ ส.ว. ที่ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติประจำปี 2553 ดังนี้

“เสื้อแดงบุกสภา” เหตุการณ์แห่งปี

วันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดง นำผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในสภาเพื่อตามหาตัวคนที่โยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ทำให้บรรดา ส.ส. ต่างพากันหนีเอาชีวิตรอดด้วยการปีนกำแพงออกทางด้านข้าง นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ถืออาวุธสงครามอารักขาความปลอดภัยให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้สถานการณ์พัฒนาไปจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

วาทะแห่งปี “พูดเท็จซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตัวเองเชื่อคำโกหกตัวเอง”

เป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตอบโต้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ระหว่างการตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2553 ที่ถูกกล่าวหาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยต้องการให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด

“หลังยาวผลาญภาษี” ฉายาสภาผู้แทนราษฎร

จากการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานของ ส.ส. และความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้สภาล่มซ้ำซากเพราะองค์ประชุมไม่ครบ โดย ส.ส. รัฐบาลอ้างติดงานนอกสภา ขณะที่ฝ่ายค้านก็เล่นเกมนับองค์ประชุมโดยไม่ยึดประโยชน์การทำงานเพื่อส่วนรวม นอกจากนี้ยังมีการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การทะเลาะวิวาท การใช้คำหยาบในห้องประชุม และปัญหาการตั้งที่ปรึกษา ส.ส. ที่อื้อฉาว แต่กลับได้ปรับการปรับเพิ่มเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน ขัดกับความรู้สึกสังคมที่เห็นว่า ส.ส. ทำงานไม่คุ้มค่า ผลงานแย่ ภาพลักษณ์ตกต่ำ ควรที่จะลดเงินเดือนตัวเองด้วยซ้ำ

“อัมพฤกษ์รับจ๊อบ” ฉายาวุฒิสภา

การที่ ส.ว. มีที่มาจาก 2 ส่วนคือ เลือกตั้ง และสรรหา ทำให้การทำงานของ ส.ว. ทั้ง 2 กลุ่มไม่สอดประสานกันเท่าที่ควรและมีความขัดแย้งค่อนข้างมาก ขณะที่การทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติกลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ การลงมติเรื่องสำคัญก็แสดงตนรับใช้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างชัดเจน ไม่มีอิสระในการลงมติ การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่มีประสิทธิภาพ

“เฒ่าเก๋า-เจ๊ง” ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร

การทำหน้าที่ควบคุมการประชุมสภาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร สามารถใช้ความเก๋าและลูกล่อลูกชน บวกกับความเป็นลูกทุ่งพูดจาโผงผางเอาตัวรอดมาได้ จนทำให้ ส.ส. รุ่นน้องยอมรับในความเก๋าเกม ในทางกลับกันการทำหน้าที่ของนายชัยบางครั้งก็ซ้ำเติมความขัดแย้งในห้องประชุมให้หนักขึ้นจนมีการประท้วงกันวุ่นวายหลายครั้ง

“ประสพสึก” ฉายาประธานวุฒิสภา

การทำงานของนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังถึงความเห็นกลางและความหนักแน่น เพราะมักทำหน้าที่โดยโอนอ่อนผ่อนตามไปตามแรงกดดันของฝ่ายต่างๆ ประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษายาวนานไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงทำให้ชื่อเสียงที่อุตส่าห์สะสมมานานต้องสึกหรอไปเพราะความไม่มั่นคงในจุดยืน

“ดาวเด่น” นายชวลิต วิชยสุทธิ์

ตลอดปีที่ผ่านมานายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้านได้อย่างโดดเด่น อภิปรายด้วยเหตุและผลไม่ใช้ถ้อยคำเสียดสี ไม่ก้าวร้าว ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของ ส.ส. จึงถูกโหวตให้เป็นดาวเด่นประจำปี
“ดาวดับ” กลุ่ม 40 ส.ว.

กลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหา ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในการทำหน้าที่ตรวจสอบมาก่อน เช่น นางรสนา โตสิตระกูล นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ทำให้ประชาชนคาดหวังว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างเข้มแข็งโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แต่การทำงานที่ผ่านมากลับไม่มีผลงานตรวจสอบเรื่องอะไรที่โดดเด่นและเป็นรูปธรรม แถมยังเพิกเฉยต่อการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ต่างจากกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อเหลืองที่หน้ารัฐสภาที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

“คู่กัดแห่งปี” พ.อ.อภิวันท์ VS บุญยอด

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จะมีปัญหากันทุกครั้งที่ พ.อ.อภิวันท์ขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยนายบุญยอดมักอภิปรายโจมตีการทำงานว่าไม่เป็นกลางเพราะเป็นคนเสื้อแดง พร้อม กับแถลงข่าวเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนับครั้งไม่ถ้วน และเคยขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้น พ.อ.อภิวันท์ใช้อำนาจประธานที่ประชุมสั่งให้นายบุญยอดออกจากห้องประชุมสภามาแล้ว

“คนดีศรีสภา” นายทิวา เงินยวง

นายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงแต่หากไม่จำเป็นจริงๆจะมาร่วมประชุมสภาทุกครั้งไม่เคยขาด ต่างจาก ส.ส. คนอื่นที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ การอภิปรายในสภาก็ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ และทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น