ข้าราชการประจำ ต้องมีระบบที่ดีเพื่อดึงคนดีมีความสามารถให้อยู่นานๆ จึงใช้บำเหน็จบำนาญเป็นเครื่องล่อใจ ส่วนขรก.การเมืองคืองาน"อาสา" วาระสั้นๆ
เหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ 1.นักการเมืองส่วนมากไม่ทำหน้าที่ของตัว และส่วนหนึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายทำความเสียหายให้แก่บ้านเมืองมากที่สุด ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ควรหาทางลดหรือตัดเงินเดือนของผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในคราบนักการเมืองดีกว่า
2.นักการเมืองที่ดีมีไม่ถึง 20% ของทั้งหมด ผมเชื่อว่าพวกนี้ไม่สนใจดอกว่ามีเงินดือนมากหรือน้อย ผลตอบแทนที่พวกนี้ได้รับคือความรัก-เคารพจากประชาชน ชื่อเสียง-คุณความดีคงอยู่ในประวัติศาสตร์ถึงชั้นลูกหลาน มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง กินใช้ไม่หมดตลอดกาล
3.ข้าราชการ พนักงานอื่น ๆ ที่มีเงินเดือนต่ำควรเพิ่มมาก ๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลดน้อยลงตามลำดับตามขั้นเงินเดือนที่สูงขึ้น ระงับการขึ้นเงินเดือนสำหรับคนมีเงินเดือนสูงตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป
4.ผมเคยคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.อัปยศขึ้นเงินเดือนข้าราชการการเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณมาแล้ว
5.ผมไม่อยากเห็น อภิสิทธิ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ทำอัปยศอย่างทักษิณกับพรรคพวก
ต่อไปนี้ เป็นบทความของอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ ที่เคยแสดงเหตุผลหนักแน่นต่อต้านการขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนข้าราชการการเมือง น่าจะสกิดใจพวกอย่างหนาบ้าง
O ผมตกใจจริง ๆ เมื่อได้อ่านคำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ลงในมติชนรายวัน(14 กรกฎาคม 2548, น.11) เกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.การให้บำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมือง ท่านว่า “การให้บำนาญ ส.ส. เพิ่งเกิดขึ้นตามความคิดในรัฐธรรมนูญปี 2540...”
เข้าใจว่าเหตุผลข้อนี้คงจะถูกนำไปอ้างใน พ.ร.ฎ.ที่จะออกตามมาด้วย ผมตกใจเพราะเกรงว่ารัฐธรรมนูญกำลังถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือนอย่างจงใจหรือไม่จงใจก็ไม่ทราบ ผมรีบไปเปิดรัฐธรรมนูญดู มีมาตราเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติว่า
"เงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
บำเหน็จบำนาญหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา"
ผมสลดใจอย่างสุดซึ้ง เมื่ออ่านทบทวนหลายจบ ที่เศร้าใจก็เพราะตัวเองเป็นหนึ่งใน 99 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างและกรรมาธิการวิชาการของสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ทำไมปล่อยให้มาตรานี้หลุดออกมาได้ ผมขาดความรับผิดชอบปานนี้เชียวหรือ เมื่อได้อ่านบทความคุณนฤตย์ เสกธีระใน มติชนรายวัน (26 กรกฎาคม 2548) ซึ่งกล่าวไว้อย่างสมเหตุผล ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเดือดร้อนมากขึ้น
ผมพยายามรื้อฟื้นความจำว่าอะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น เรื่องทำงานลวกๆ ให้ผ่านไปโดยไม่อ่านร่างนั้นคงไม่มี แต่การขาดความรอบคอบนั้นมี ความปรารถนาอยากเห็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพทำงานเร็วนั้นมี ความหวาดระแวงนักการเมืองชั่วครองเมืองนั้นมี แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีขนาดที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้ การฉวยโอกาสใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์และอำนาจของพรรคพวก เป็นเรื่องที่ผมและ ส.ส.ร. จำนวนมากคาดไม่ถึงจริง ๆ
ในที่สุด ผมได้คำตอบว่า เรามีปัญหาอยู่ที่การตีความ ผมกับรองนายกฯ วิษณุ ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 229 ไม่เหมือนกัน สำหรับผมนั้น ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปัจจุบันยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 229 มิได้กำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจออก พ.ร.ฎ.ให้บำเหน็จบำนาญ ส.ส. และ ส.ว. ได้ ทั้งนี้ จะต้องดูรัฐธรรมนูญมาตรานี้ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และปรัชญาในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยประกอบกัน
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น การใช้เงินภาษีอากรของราษฎรทุกบาททุกสตางค์ จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมี พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ในกรณีบำเหน็จบำนาญ เรายังต้องมี พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 เป็นกฎหมายหลักรองรับ (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 22 ครั้ง) เราไม่มี (และไม่ควรมี) พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมือง การที่ข้าราชการการเมืองในระดับ นรม. และ รมต. ได้รับบำเหน็จบำนาญนั้นผมไม่เห็นด้วย แต่พวกเขาก็ได้สิทธินั้นโดยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ไม่ใช่ในรูป พ.ร.ฎ. ดังที่กำลังจะทำกัน
ถ้าอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 229 วรรคสองให้ดีแล้ว จะเห็นว่าข้อความนำในประโยคแรกใช้คำว่า "หรือ" ไม่ใช่ "และ" ถ้าใช้คำว่า "และ" เราไม่มีทางเลือก จะต้องตีความตามตัวบทกฎหมายดังที่รองนายกฯ วิษณุแนะนำไว้ คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับให้นักการเมืองออก พ.ร.ฎ. เพิ่มประโยชน์ให้ตัวเองและพรรคพวก โดยไม่ต้องทำเป็น พ.ร.บ.
คำว่า "หรือ" มีความหมายสำคัญ ผมตีความตามตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าในบรรดาองคมนตรีและนักการเมืองที่กล่าวไว้ในวรรคนั้น (มี 10 ตำแหน่ง รวมทั้งองคมนตรี) ตำแหน่งใดที่มี พ.ร.บ. รองรับที่จะให้ผลประโยชน์ในรูปบำเหน็จบำนาญก็ตราเป็น พ.ร.ฎ. ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็อาจให้ผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น (ซึ่งมักจะเป็นรายจ่ายเล็กน้อย) ไม่จำเป็นต้องให้บำเหน็จบำนาญครบทั้ง 10 ตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ คณาธิปไตย เท่านั้น ไม่ใช่ ประชาธิปไตย ที่จะให้อำนาจนักการเมืองกำหนดบำเหน็จบำนาญให้ตัวเองโดยทำเป็น พ.ร.ฎ.ในขณะที่ข้าราชการอื่นๆ ทุกหมู่เหล่าต้องทำเป็น พ.ร.บ. กล่าวโดยสรุป
(1) การออก พ.ร.ฎ. กำหนดบำเหน็จบำนาญองคมนตรีนั้นย่อมทำได้ (ใช้ในกรณีที่องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งโดยการลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ ม. 16)
(2) การออก พ.ร.ฎ. กำหนดบำเหน็จบำนาญ (ฉบับใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมของเก่า) ให้แก่ นรม. และรมต.ที่ปฏิบัติกันมาแล้ว (โดยอาศัย พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494) นั้นย่อมทำได้
(3) สำหรับการออก พ.ร.ฎ กำหนดบำเหน็จบำนาญให้ ส.ส.- ส.ว. และตำแหน่งอื่นๆ อีก 5 ตำแหน่งนั้นทำไม่ได้ แต่ให้ประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ หลังจากพ้นตำแหน่งแล้วย่อมได้ ฉะนั้น ถ้าแจกจ่ายคอมพิวเตอร์ให้ไปใช้ในระหว่างมีตำแหน่ง จะยกให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวก็ดี ต่อไปถ้ามีบ้านพักให้ ส.ส. และ ส.ว. เช่าในราคาถูก จะให้สิทธิอยู่ต่อได้สัก 2 ปีหลังจากพ้นจากตำแหน่งก็ดี หรือจะให้นักการเมืองตำแหน่งดังกล่าวได้สิทธิประกันสุขภาพ หลังพ้นจากตำแหน่งไปจนตายก็ดี ย่อมออกเป็น พ.ร.ฎ. ได้
ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อบัญญัติที่สร้างปัญหาให้ต้องตีความมาก และเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจฉวยโอกาสนำไปใช้เพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวกได้ง่าย
ผมไม่เห็นด้วยกับการให้บำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการการเมือง เหตุผลสำคัญอยู่ที่หลักการมากกว่าจำนวนเงิน (ภายใน 15-20 ปีข้างหน้า ถ้าฐานเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งคงที่ งบประมาณเพื่อการนี้คงอยู่ในราว 200 ล้านบาทต่อปี)
ประการแรก นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีต้นกำเนิดมาจากชาวกรีกตั้งแต่ 2000 ปีเศษที่ผ่านมาแล้ว สมัยนั้นนักการเมืองเป็นอาสาสมัคร ได้รับยกย่องจากชุมชนอย่างสูง อริสโตเติลก็มองนักการเมืองในแง่ดี เพราะพวกเขาทำงานที่ต้องใช้ศาสตร์หลากหลายสาขา เป็นศาสตร์สูงสุดของมนุษย์เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีชีวิตดีขึ้น งานนี้เหมาะเฉพาะคนที่มีคุณธรรม (virtue) ซึ่งพอใจในการได้รับเกียรติ (honors) ไม่เหมาะสำหรับพ่อค้าที่มุ่งแต่จะแสวงหากำไร ถ้าเอาคนบูชาเงิน แสวงหาสายสะพาย หรือค่าตอบแทนมากๆ การเมืองก็จะเสื่อม ผลก็คือคนไม่ศรัทธานักการเมือง ชีวิตของคนในชุมชนก็จะไม่ดีขึ้น แต่จะใกล้เคียงกับสัตว์ป่ามากกว่า
ประการที่สอง คุณนฤตย์ เสกธีระ กล่าวไว้ในมติชนรายวัน (19 กรกฎาคม 2548, น.6) อย่างน่าฟังว่า ความคิดจะให้บำเหน็จบำนาญ ส.ส. - ส.ว. เหมือนข้าราชการนั้นไม่ถูก เพราะข้าราชการนั้นทำราชการเป็นอาชีพ ประเทศชาติต้องการได้ข้าราชการดีๆ มีความสามารถอยู่ในระบบนานๆ จึงใช้บำเหน็จบำนาญเป็นเครื่องล่อใจ แต่ ส.ส. - ส.ว.นั้น "อาสาเข้ามาทำงาน" โดยมีกำหนดวาระครั้งละ 4 ปี (ส.ส.) หรือครั้งเดียว 6 ปี (ส.ว. ต้องห้ามมิให้เป็น 2 วาระต่อเนื่องกัน) ส.ส.-ส.ว. มีอาชีพอื่นเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ต้องให้บำเหน็จบำนาญเป็นเครื่องล่อใจก็แย่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้น
ผมขอขยายความเล็กน้อย ข้าราชการนั้นเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนต่ำมากๆ คนที่มีวุฒิการศึกษาเท่ากับ ส.ส.- ส.ว.- ร.ม.ต. และนักการเมืองอื่นๆ ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นประมาณเศษหนึ่งส่วนสิบของนักการเมือง แล้วค่อยๆ เลื่อนเงินเดือนขึ้นปีละเล็กน้อย คนดีมีความสามารถเมื่อรับราชการผ่านพ้นไป 30-40 ปี อาจไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่งอธิบดีหรือปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ถ้าเป็นทหารก็มียศเป็น"นายพล" ประมาณ 1 ใน 40,000 คน ของคนในระบบราชการเท่านั้นที่มีโอกาสเช่นนั้น เงินเดือนที่ได้รับก็เพียง 50,000 - 60,000 บาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ ส.ส. - ส.ว. ซึ่งเริ่มเข้าไปฝึกงานหรือทำงานในปีแรก ขอให้เราเทียบปริมาณและความรับผิดชอบของข้าราชการระดับอธิบดี-ปลัดกระทรวง-นายพล กับส.ส.-ส.ว. ดูด้วยความเป็นธรรม
ส่วนข้าราชการอีก 99.99% ต้องเกษียณอายุราชการ หรือออกไปด้วยสาเหตุต่างๆ บ้างก็ไม่ได้บำเหน็จบำนาญเลย (ถ้ารับราชการไม่ครบ 10 ปี) บ้างก็ได้แต่บำเหน็จ (ถ้ารับราชการไม่ครบ 25 ปี) คนที่รับราชการครบ 25 ปีเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ (มีข้อยกเว้นในกรณีพิเศษอยู่บ้างเล็กน้อย) ในกรณีที่รับบำนาญนั้น โดยมากฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณบำนาญนั้นต่ำมาก เป็นบำเหน็จเล็กน้อยที่ประชาชนผู้เสียภาษีมอบให้เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่จนวันตาย ระบบการให้บำเหน็จบำนาญนี่เองที่มีส่วนส่งเสริมให้ข้าราชการที่ดีมีความรู้ความสามารถอยู่ในระบบราชการนานๆ มิเช่นนั้นคนดีมีความสามารถจะถูก “ซื้อตัว” ไปหมด
เหตุผลดังกล่าวเอามาใช้ไม่ได้กับนักการเมือง จริงหรือไม่
ประการที่สาม นักการเมืองของไทยในปัจจุบันเกือบ 100% มีฐานะร่ำรวย ถ้าไม่รวยมาก่อนเล่นการเมือง ก็รวยขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง บางคนรวยขึ้นรวดเร็วจนกระทั่งต้องซุกๆซ่อนๆ นักการเมืองที่มีคุณธรรม (ซึ่งมีน้อย) อาจจะไม่รวยขึ้น แต่พวกเขาก็คงพอใจและภูมิใจในฐานะและผลประโยชน์ที่ตนได้รับ ปัจจุบันข้าราชการการเมืองได้รับอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ตอบแทนมากมายอยู่แล้วในขณะดำรงตำแหน่ง (นอกจากเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม เบี้ยประชุมแล้ว ยังมีสิทธิขึ้นเครื่องบิน และนั่งรถไฟได้ฟรี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ง่ายมาก ฯลฯ) จึงไม่สมควรที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญหลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว
ควรศึกษาดูก่อนว่า มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่ข้าราชการการเมืองมีอภิสิทธิ์และค่าตอบแทนเท่ากับของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการฝ่ายอื่นๆ และรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ มีประเทศใดบ้างที่ข้าราชการการเมืองมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ และมีประเทศใดบ้างที่เป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกำหนดผลประโยชน์ให้แก่พวกตัวเองโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา
ประการที่สี่ อย่าคิดว่าเมื่อประชาชนเลือกพรรคการเมืองใดให้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว เท่ากับมอบอำนาจให้รัฐบาลทำอะไรก็ได้ เมื่อตอนเลือกตั้งเรื่องบำเหน็จบำนาญ ส.ส. - ส.ว. ไม่เป็นประเด็นนะครับ ถ้าท่านอยากได้สิทธิอันนี้ ลองไปขอให้ประชาชนลงประชามติดู ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนมากไม่อนุมัติแน่นอน ทุกวันนี้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อนักการเมืองมากๆ เคยถามตัวเองกันบ้างหรือเปล่าว่าในโลกนี้ยังมีสมาชิกรัฐสภาที่ไหนอีกที่ “โดดร่ม” ในเวลาประชุมเท่ากับของไทย มีประเทศไหนอีกที่รัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยๆ (เหมือนเปลี่ยนกางเกงใน) เท่ากับของไทย
ประการที่ห้า เมื่อนักการเมืองให้บำเหน็จบำนาญแก่พวกตัวทั้ง 9 ตำแหน่งแล้ว ผมเชื่อว่า อีกไม่นานก็คงจะมี พ.ร.ฎ.ให้บำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่น (อีกประมาณ 20 ตำแหน่ง) ตามมา ในจำนวนนั้นจะมีนายหน้าวิ่งเต้นหาเงินเข้าพรรคโดยมิชอบด้วยกฎหมายแฝงอยู่ในตำแหน่งการเมืองอัน “ทรงเกียรติ” นั้นด้วย นักการเมืองและคนไทยที่มีมโนธรรมคงจะไม่อยากเห็นประชาธิปไตยไทยที่ตกต่ำลึกลงไปถึงก้นเหวขนาดนั้น
ประการสุดท้าย ในขณะที่ข้าราชการประจำที่มีคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถและมีส่วนอุทิศให้แก่สังคมสูงสุด ต้องใช้เวลา 30-40 ปี กว่าจะมีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดชั้น ม.ป.ช. ในขณะที่ นรม. รองนรม. รมว. และ รมช. มีสิทธิได้ในเวลา 2-4 ปี เลขาธิการ นรม. ใช้เวลา 3 ปี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านฯ อาจได้ในเวลา 2 ปีเหมือน นรม. ส.ส.- ส.ว. เริ่มได้ ท.ม. และเมื่อครบ 9 ปีจะได้ ม.ป.ช. สิทธิที่จะได้รับเครื่องราชฯ ยังขยายไปถึงภรรยาของ นรม. รองนรม. รมว. รมช. ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองประธานฯ ส.ส. และ ส.ว. ด้วย ในระดับลดหลั่นลงมา รวมทั้งตำแหน่งการเมืองอื่นๆ ที่แต่งตั้งโดย “ผู้มีอิทธิพล” ในพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจ (ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วย กรรมการและอื่นๆ อีกมากมาย) แจกกันได้ทั้งครอบครัว และพวกพ้องของนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ
ถ้าคณะรัฐมนตรีจะออก พ.ร.ฎ. ใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 229 ย่อมทำได้ ถ้าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ควรแก้จุดอ่อนต่างๆเสีย เช่นให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอิสระประเมินผลงานของข้าราชการการเมือง โดยพิจารณาถึงคุณธรรมและผลงาน (ที่ผ่านมาใครอยู่ในตำแหน่งครบเวลากำหนดก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ โดยอัตโนมัติ แม้จะมีความประพฤติเป็นข่าวอื้อฉาวก็ตาม)
โดยสรุป ข้าราชการการเมืองได้รับประโยชน์ตอบแทนในขณะดำรงตำแหน่งมากพอแล้ว (สำหรับคนดีมีความสามารถประมาณ 20%) หรือมากเกินไปแล้ว (สำหรับผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งและดำรงตำแหน่งอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งมีประมาณ 80%) กรุณาเลิกเสียเถอะที่จะให้พวกท่านเองรับบำเหน็จบำนาญเหมือนกับข้าราชการ ถ้าท่านยังดึงดันเข็นร่าง พ.ร.ฎ. อัปยศนี้ออกมา เราภาคเอกชนผู้เสียภาษีก็คงไม่มีอำนาจอะไรมาขัดขวาง แต่อย่าเอารัฐธรรมนูญมาใช้อย่างบิดเบือน ถ้าอยากได้สิทธินี้จริงๆ ก็ไปขอประชามติในการเลือกตั้งครั้งต่อไปดีกว่า พรรคการเมืองพรรคใดมีจุดยืนอย่างไรในเรื่องนี้ก็ขอให้ประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ โดย : เขียน ธีระวิทย์
-------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น