--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ท่องคาถา ความกลัวทำให้เสื่อม!

นักศึกษาเรียกร้อง 3 ข้อ
ปล่อยนักโทษการเมือง!
เสียงเพรียกหาประชาธิปไตย จริงๆแล้วไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก

หากว่าคนในสังคมนั้นมองว่า ประเทศของตนยังไร้ซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง
อย่างเช่นในประเทศพม่า การต่อสู้เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” จากรัฐบาลทหาร ก็มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้กระทั่งว่า นางอองซาน ซูจี จะถูกปล่อยตัวแล้วก็ตาม แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ยังคงไม่จบสิ้น

เช่นเดียวกับในประเทศไทย วันนี้แม้ว่ารัฐบาลจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีกำลังทหาร-กำลังกองทัพให้การสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยมสุดลิ่มทิ่มประตู จนสามารถที่จะจับใครต่อใครใส่ตะกร้าล้างน้ำอย่างได้ผลเสมอ
แต่ลึกๆแล้วการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่แม้จริงยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ไม่ใช่แค่เฉพาะสีเหลือง หรือแค่เฉพาะสีแดง ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามที่จะป่าวประกาศตลอดเวลาว่า เป็นมวลชนที่มีกระบวนการจัดตั้ง

แต่ในความเป็นจริง ถึงวันนี้หากรัฐบาลยอมรับความเป็นจริง จะรู้ว่า ยิ่งรัฐบาลได้รับการเกื้อหนุนจากทหาร จากขั้วอำนาจพิเศษต่างๆ แม้แต่กระทั่ง “อำนาจในระบบยุติธรรม” รวมไปถึงแม้กระทั่งนักการเมืองหลายแก๊งหลายก๊วนที่เอื้ออำนาจและผลประโยชน์ร่วมกันคอยค้ำยันอย่างเต็มที่
จนดูราวกับว่ารัฐบาลชุดนี้แข็งแกร่งเอามากๆก็ตาม

แต่ลึกๆแล้ว อาจจะไม่เป็นเช่นที่บรรดากลุ่มอำนาจวาดฝันไว้ก็เป็นได้......??
เพราะขณะนี้ “พลังบริสุทธิ์” หลายภาคส่วนเริ่มที่จะตื่นขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการทั้งหลาย ที่ทนเห็นปรากฏการณ์ลำเอียงที่แปลกพิศดารมากขึ้นเรื่อยๆไม่ไหวแล้ว

อย่างล่าสุด กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ และกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน ได้มีการไปอ่านแถลงการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อหน้ากลุ่มคนเสื้อแดงที่มารวมตัวกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำ

ซึ่งข้อเรียกร้องของทั้ง 2 ประชาคม มีเนื้อหาดังนี้

1. ต้องเร่งให้ดำเนินการตั้ง”สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่ เพื่อออกกฎหมายใหม่ เพื่อออกกฎหมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยผู้แทนที่ชอบธรรมจากประชาชนทั้งประเทศ โดยมีเนื้อหาอยู่บนบรรทัดฐานแห่งเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แทนฉบับปัจจุบันที่ไม่มีความชอบธรรมในที่มาและกระบวนการร่างทั้งฉบับ

2.รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจากการสลายการชุมนุม โดยการเร่งดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม
3.รัฐบาลต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และหยุดคุกคามผู้มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาลด้วยการยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักสิทธิมนุษยชน

น.ส.รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด นักศึกษา ปี 1 สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดชัดเจนว่า เป็นการมาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและามาเพื่อหาผู้รับผิดชอบจากการสลายการชุมนุม และยกเลิกรัฐธรรมนูญบนกองเลือด

"กลุ่มของพวกเราดำเนินงานตั้งแต่การจัดงาน "รำลึก19 กันยา ประเทศชาติไม่ดีขึ้น" งาน "6 ตุลา ใครฆ่าพี่เราไม่ลืม" นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวใน social network กับเครือข่าวนักศึกษาทั่วประเทศ เพียงแต่ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับจุฬาฯ เป็นแกนหลัก

เรามาแสดงออกในเรื่องสิทธิทางการเมืองที่พวกเราพึงมี พวกเราเข้ามาเพื่อจุดประเด็นให้เพื่อนนักศึกษาคนอื่นที่ยังไม่กล้าได้เห็นว่า ยังมีคนที่คิดเหมือนเขานะเรายังกล้าออกมาทำและเชื่อว่าถ้าเราเป็นจุดเริ่มต้นให้เขา เขาก็จะกล้าออกมาเหมือนกับเรา" นักศึกษารัฐศาสตร์กล่าว

ทั้งนี้เพราะ ผ่านไป 8 เดือนแล้วยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบกับโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ทางกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องกันมากี่ครั้งก็ยังถูกเมินเฉย และไม่มีผู้ออกมารับผิดชอบ แต่ก็จะเรียกร้องต่อไป เพราะไม่ว่าจะเรียกร้อง 1 ครั้ง 10 ครั้ง 100 ครั้ง หรือ 1000 ครั้ง ก็ต้องทำเพื่อคนที่ตายไป

"เราเชื่อว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ตายไปเรื่องแค่นี้มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงของพวกเรา เราต้องพูดซ้ำๆให้เขาได้ยินว่าพวกเราไม่ลืมเหตุการณ์ในครั้งนี้ จนกว่าฆาตกรตัวจริงจะออกมาแสดงความรับผิดชอบ ถึงแม้ใครจะเมินเฉยต่อโชคชะตาของพวกเราต่อการเสียชีวิตของพวกเราจะเย็นชาไม่ดูดำดูดี แต่ตอนนี้พวกเราชาวไพร่ที่กำลังต่อสู้เป็นพลเมืองจะไม่ขอเรียกร้องให้ผู้ใดมากำหนดโชคชะตาของพวกเรา เพราะพวกเราทุก

คนจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง" น.ส.รวิวรรณ กล่าว
น่าทึ่งที่กลุ่มนักศึกษามีการประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า........
"ขอให้พี่น้องทุกคนสู้ต่อไป อย่ายอมแพ้ นักศึกษาทุกคนยืนอยู่ข้างความยุติธรรมเสมอ เพราะพลังต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่นักศึกษา ไม่ใช่ชนชั้นกลาง ที่เมินเฉยต่ออำนาจรัฐที่เข่นฆ่าประชาชน แต่พลังที่แท้จริง คือ พลังของพี่น้องทุกคนที่อยู่ที่แห่งนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ"

นอกจากนี้นักศึกษาชายที่มาร่วมทำกิจกรรมในกลุ่ม ฝากไปถึงเพื่อนๆนักศึกษาว่า อยากให้เพื่อนนักศึกษาเข้าใจโลก เข้าใจสังคม เปิดใจให้กับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในสังคม สังคมนี้ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ถ้าไม่มีพลังจากพวกคุณ

"กิจกรรมของพวกเราจะมีเรื่อยๆ ไหนๆก็ต้องออกจากบ้านมาเพื่อเรียกร้องอยู่แล้ว และคิดว่าเราคงไม่กลับไปตราบใดที่ยังไม่มีความรับผิดชอบจากตรงนี้......

ไม่กลัว ไม่มีอะไรต้องกลัว!! เราแค่ยืนอยู่บนความถูกต้อง สิทธิเสรีภาพในการพูด หลักประชาธิปไตยที่ต้องไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าอยู่สีไหน แค่ยืนอยู่บนหลักความถูกต้องแล้วต้องออกมา ไม่มีอะไรต้องกลัว

ความกลัวทำให้เสื่อม ความกลัวไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเขาปกครองเราด้วยความกลัวและถ้าเรากลัวเขา เราก็แพ้ครับ"

นักศึกษากลุ่มนี้บอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาทั่วไปจะได้แนวร่วมเพิ่มครั้งละ 3-4 คน จากวงสัมมนาเล็กๆ ที่จัดกันเอง แม้จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจพยายามออกมาคัดค้านกิจกรรมดังกล่าว แต่พวกเขาก็จะยังคงสู้ต่อไปในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน รวมพลทีละนิดเพื่อเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

ในขณะที่ นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “เว็บไซต์ นิติราษฎร์” ก็มีการให้สัมภาษณ์ ในรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว คลื่น FM 100.5 อสมท. โดยให้ความเห็นว่า

จริงๆแล้วรัฐธรรมนูญ ปี2550 มีคำถามทั้งทางวิชาการ ทั้งทางการเมือง สองสามเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และในตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ว่าทั้งสามเรื่องเป็นคำถามที่บางเวลา บางปี จะมีความเข้มข้มตามสถานการณ์ทางการเมือง หรือน้อยลง แต่ถึงอย่างไรคำถามก็ยังมี

เพราะว่า ตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2549 ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจาก คณะรัฐประหาร แม้จะมีการลงประชามติก็ตาม ก็ยังมีคำถามจากกลุ่มในสังคม ทั้งในกลุ่มวิชาการ ทั้งกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะเหล่าเสื้อแดงก็ยังมีคำถามอยู่เรื่อยๆ

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังถือเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าหากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนุญจริงๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ควรจะยกร่างแบบเดิมๆ มีเนื้อหาแบบเดิมไม่ได้ เพราะในความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้เห็นว่า ในวันนี้รัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ได้อีกแล้ว และถ้าจะมีการแก้ไขก็ยืนยันหลักการมีอำนาจสูงสุดของประชาชน ให้ได้รับการปฏิบัติ

ฉะนั้น ถ้าแก้ไขเพียงเล็กๆน้อยๆก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือที่นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ ถ้าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงสองข้อ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แก้ไขไปก็ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้

ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้สนใจข้อนี้เลย เพราะถ้ารากของปัญหาจริง อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ก็ควรแก้ไขครั้งใหญ่ และแก้ไขบนพื้นฐานของความคิดทางการเมืองที่สอดรับประชาธิปไตยจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็แก้ไขอะไรไม่ได้
และเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง การสลายม็อบเสื้อแดง เมษายน-พฤษภาคม 2552 นายธีระ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว กระบวนการสอบสวนที่ล่าช้า ไม่ใช่แค่ประชาชนในประเทศเท่านั้นที่รู้สึก ในต่างประเทศเองก็รู้สึกเช่นกัน

ก็ต้องจับตาดูผลสืบสวนสอบสวน มาจะออกมาอย่างไร เพราะตอนนี้เริ่มมีหลักฐานบางส่วนเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ว่า เจ้าหน้าของรัฐทำเกินกว่าเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะทำ ซึ่งจริงๆแล้วทำรึเปล่า ส่วนนี้ก็ต้องมีส่วนรับผิดบ้าง หลังจากนี้ไปหลายคนคงจะคอยดูผลสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร หากเจ้าหน้ารัฐไม่มีความผิดเลย ทั้งที่มีหลักฐาน ตรงนี้ก็อาจเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ได้

ก็ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป เจ้าหน้าของรัฐจะรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดต่อการสลายการชุมนุมในช่วงเมษายน พฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคดี กลุ่มนิติราษฏร์จะมีคำแถลงการณ์ออกมาเมื่อใดนั้น

“ผมได้คำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และได้มีการนัดพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆในกลุ่ม ภายในวันจันทร์นี้ จะเอาคำวินิจฉัยมาดู เมื่อเจอสิ่งที่น่าสนใจก็จะทำเป็นบทวิเคราะห์ออกมา อาจใช้เวลาเขียนประมาณสามสี่วัน หากไม่มีสิ่งได้คลาดเคลื่อน วันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ก็จะมีบทวิเคราะห์ออกมาอย่างเป็นทางการ”

ความรู้สึก การแสดงออก และกระบวนการตรวจสอบเรียกร้องความจริง ของกลุ่มปัญญาชนอย่างนักศึกษา และอาจารย์ ที่ต้องถือว่าเป็นพลังบริสุทธิ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลและขั้วอำนาจพิเศษต่างๆไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด

เพราะแม้จะมีอำนาจมากล้นในเวลานี้ จนอาจจะรู้สึกมั่นคงเหลือล้น แต่อย่าลืมว่าแม้แต่กิ้งกือร้อยขา ก็สามารถที่จะหกล้มได้เหมือนกัน หากหลงในอำนาจขืนประมาทพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น