--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คนเสื้อแดงสิ้นหวังลากตัวผู้กระทำให้ประชาชนเจ็บ-ตายขึ้นศาลโลก

ศปช.-นักวิชาการชี้โอกาสที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมีน้อยเพราะสถานการณ์ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์หลายข้อ ระบุการที่หวังพึ่งองค์กรระหว่างประเทศเพราะประชาชนหมดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศ แนะรัฐเร่งฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมด้วยการทำทุกเรื่องให้ปรากฏตามข้อเท็จจริง รักษาการประธาน นปช. ยันได้เห็นสำนวนสอบทหารลั่นไกยิง 6 ศพในวัดปทุมฯและช่างภาพญี่ปุ่น จี้รัฐบาลและกองทัพแสดงความรับผิดชอบ เตรียมนำกรรมการ นปช.ชุดใหม่เข้าพบ “คณิต” เพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้ คอป. เร่งทำงานเพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสายตาประชาชน พร้อมขอให้ช่วยกดดันให้คนเสื้อแดงและแกนนำได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ภรรยาของ นพ.เหวง โตจิราการ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลสอบการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 6 ราย ในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และกรณีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่น โดยอ้างอิงผลสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ระบุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ได้เห็นหลักฐานที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เอามาให้ดูแล้ว และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยอมรับว่ารายงานที่นายจตุพรนำออกมาเผยแพร่เป็นความจริง แม้จะบอกว่าเป็นเพียงบางส่วนก็ตาม และการที่สำนักข่าวรอยเตอร์นำรายงานดังกล่าวออกมาเผยแพร่ไม่ใช่ว่าเขาจะอยู่ข้างคนเสื้อแดง แต่รอยเตอร์มีจุดยืนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด

ลุ้นรอยเตอร์ช่วยแฉความจริง

“เท่าที่ประเมินการออกมาเคลื่อนไหวของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า เขาต้องรับผิดชอบการตายของช่างภาพของเขาและรับผิดชอบต่อความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์มีความกระหายและต้องการที่จะให้ความจริงปรากฏ เพื่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าอำนาจรัฐทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บต่อคนที่ทำงานในฐานะสื่อจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นภารกิจในการปฏิบัติตามหน้าที่” นางธิดากล่าว

เป็นภาระหน้าที่ในทางสากล

รักษาการประธาน นปช. กล่าวว่า หากไม่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างเท่ากับว่าสำนักข่าวรอยเตอร์ไม่รับผิดชอบต่อคนของเขา ยังถือว่าไม่รับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของนักข่าว และจะทำให้อำนาจรัฐอื่นๆกระทำต่อนักข่าวที่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้อีก ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่เพราะว่าคนของเขามีค่ากว่าชีวิตคนไทย แต่หมายถึงภาระหน้าที่ของนักข่าวในทางสากลด้วยที่จะต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กระทำการคุกคามถึงชีวิต เพราะฉะนั้นสำนักข่าวรอยเตอร์จึงต้องทำให้การตายของนักข่าวของเขาไม่ไร้ค่า

ชี้เป็นบทเรียนของผู้กุมอำนาจรัฐ

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของผู้ที่กุมอำนาจรัฐ ในทุกประเทศจะกระทำแบบนี้กับนักข่าวอีกไม่ได้ ไม่เช่นนั้นต่อไปจะไม่มีหลักประกันอะไรสำหรับนักข่าวในการปฏิบัติหน้าที่ แม้แต่ช่างภาพจากเนชั่นที่ต้องทุพลภาพก็พูดชัดว่าทหารยิง” นางธิดากล่าวและว่า รัฐบาลและกองทัพจะปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ถึงไม่รับผิดชอบก็เชื่อว่าชาวโลกจะไม่ยอม เพราะกรณีนี้เป็นการคุกคามยิ่งกว่าสิทธิมนุษยชนทั่วไป เป็นการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามที่ใช้กระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งไม่มีที่ไหนยอมรับ

กรรมการ นปช.ชุดใหม่เข้าพบ “คณิต”

นางธิดากล่าวว่า คณะกรรมการบริหาร นปช.ชุดใหม่จะเดินทางเข้าพบ ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจที่ คอป. พยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณชน รวมทั้งจะเรียกร้องให้ คอป. ช่วยเร่งดำเนินการเพื่อให้คนเสื้อแดงและแกนนำได้รับการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

“เราจะพยายามผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตสังคมไทยจะไม่สามารถทำนายได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นถ้าหากถูกปิดบังความเป็นจริงและขาดความยุติธรรมในสังคมไทย” รักษาการประธาน นปช. กล่าว

ชี้ปัญหาในไทยไม่เข้าเกณฑ์ศาลโลก

น.ส.ขวัญระวี วังอุดม เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) และนักสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่ นปช. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศว่า ศาลดังกล่าวสามารถนำบุคคลที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในประเทศที่เป็นภาคีกับอนุสัญญากรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นศาลได้ แต่ขึ้นอยู่คำนิยามเหมือนกันว่าความรุนแรงถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ และเป็นสงครามต่อมวลมนุษยชาติหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้คือการกระทำที่เป็นระบบและเป็นรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเห็นว่าการที่จะให้ประเด็นของประเทศไทยขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีความเป็นไปได้น้อย เพราะการเอาเรื่องเข้าศาลอาญาระหว่างประเทศจะต้องเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นภาคี ตรงนี้ต้องใช้หลักดินแดนเพื่อดูขอบเขตอำนาจของศาล และผู้ที่กระทำละเมิดมีสัญชาติที่เป็นภาคีของประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาหรือไม่ ถ้าดูประเด็นนี้ของเรายังไม่ใช่

สิ้นหวังกระบวนการยุติธรรมภายใน

ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ นปช. หรือญาติผู้เสียบางส่วนต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นว่าคนเหล่านี้หมดความหวังจากกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศแล้ว และถ้าประชาชนหมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศ สิ่งหนึ่งที่รัฐจะต้องรีบทำคือการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบความยุติธรรมภายในประเทศขึ้นมา

ยังห่างไกลให้องค์กรต่างชาติแทรกแซง

“องค์กรระหว่างประเทศสามารถเข้ามาช่วยได้แค่ไหน โดยหลักการถ้าเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศจะพบว่าปัญหาของไทยเป็นความขัดแย้งอย่างชัดเจนระหว่างประชาชนกลุ่มหนึ่งกับรัฐ กรณีอย่างนี้องค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามาช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก” ดร.ยุกติกล่าวและว่า ในกรณีที่องค์กรระหว่างประเทศเข้ามายุ่ง เช่น กรณีของกัมพูชา เพราะสังคมไม่สามารถจัดการได้เองและไม่รับรู้ว่ารัฐเป็นใคร ประเทศนั้นไม่มีสถาบันหลักใดที่จะดำเนินการต่อไปได้ และจะต้องมีกระบวนการที่จะมาสืบสวนสอบสวนในทางระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าการยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมเสื่อมและถดถอยลงมาก ดังนั้น รัฐจะต้องเร่งฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาด้วยการแสดงความยุติธรรมให้ปรากฏอย่างแท้จริง และช่องทางที่เราหวังอยู่คือการดำเนินคดีภายในประเทศจะต้องเกิดขึ้นให้ได้

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น