โดย : ประชุม ประทีป
ชาวบ้านคัดค้านสัมปทานเหมืองโปแตซใต้ดินอุดรฯ มานับ10ปี เผชิญการรุกล้ำสิทธิชุมชนของทุนใหญ่ โดยมีหน่วยงานรัฐทำตัวเป็นกลไกเครื่องมือของนายทุน
เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัดลดเหลือ 11 ประเภทโครงการ จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด พิจารณาจัดทำบัญชีประเภทโครงการรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง เสนอต่อรัฐบาล
นำไปสู่ภาคประชาชนยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงพี่น้องเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ซาบซึ้งกับนโยบาย"ประชาชนต้องมาก่อน" แม้จะโวยคอแหบแห้ง ประธานอานันท์ ปันยารชุน ก็ช่วยอะไรไม่ได้ รัฐบาลภายใต้อิทธิพลทุนยังทำให้ชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้านที่ต่อต้านการขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตซใต้ดินอุดรธานีมาร่วม 10 ปีต้องเสียความรู้สึกด้วย เพราะได้ “ประทับตรา ไม่รุนแรง”ให้โครงการนี้พ่วงไปด้วย จึงไม่ต้องประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(HIA) ไม่ต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบอีกด้วย
ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐกับบริษัททุนข้ามชาติก็พยายาม “ลักไก่”แทบทุกโอกาส เช่น ในปี 2543 บริษัทอ้างว่ารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของโครงการผ่านความเห็นชอบแล้ว ทั้งๆ ที่กฎหมายแร่ใต้ดินแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่งมีผลบังคับใช้ปี 2545 ชาวบ้านต้องกดดันกระทั่งต้องตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการชุดพิเศษ ศึกรายงาน EIA ฉบับนี้ และได้ข้อสรุปว่า ผิดขั้นตอนและไม่มีคุณภาพทางวิชาการ บกพร่องถึง 26 ประเด็น กระทั่งต้องยกเลิกฉบับนี้ไป
ถึงกระนั้น พ.ร.บ.แร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2545 ก็ผูกปมไว้เอื้อต่อกลุ่มทุนเหมืองโปแตซอุดรธานี สาระสำคัญคือ เหมืองใต้ดินลึกเกิน 100 เมตรถือว่าเลยแดนกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินบนดิน ลึกไปกว่านั้นเป็นของรัฐ
ซึ่งชั้นแร่โปแตซอุดรธานีอยู่ลึกลงไปประมาณ 300 เมตร ฉะนั้น จึงเหมาะเจาะกันพอดี
เรื่องนี้ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ ส.ว. สภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล
ประเด็นสัญญาสัมปทานเขียนให้รัฐเสียเปรียบก็อีก สภาทนายความได้ศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นสัญญาอัปยศ เสนอให้รัฐทบทวนสัญญาตั้งแต่ปี 2546 แต่เรื่องก็เงียบไป
ย้อนไปพ.ศ.2549 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5 คนถูกบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (หรือ เอพีพีซี) ฟ้องข้อหา "บุกรุกและทำลายทรัพย์สิน" จากการที่ชาวบ้านขัดขวางการ "ลักไก่" รังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โดยเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กับบริษัทฯ โดยชาวบ้านแย้งว่าไม่ถูกแจ้งให้ทราบก่อน คดีนี้ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.รวม 19 คนต้องใช้ตำแหน่งเป็นนายประกันแทนหลักทรัพย์มูลค่า 1,140,000 บาท กระทั่งศาลยกฟ้องปลายปี 2550 และให้เหตุผลว่าชาวบ้านทำถูกต้องชอบธรรมเพื่อปกป้องทรัพยากรชุมชน เป็นสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
ปี 2552 ชาวบ้านเสนอให้ศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) หลักคิดคือเอาพื้นที่อันมีศักยภาพเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโครงการเป็นตัวตั้ง ระหว่างจะนำเข้าคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง แต่แล้ว กพร.ก็ชิงเสนอทำ SEA เสียเอง โดยอ้างมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ปี 2549 เคยเสนอทำ SEA แร่โปแตซทั้งภาคอีสาน ถึงกระนั้นหลักคิดแตกต่างจากภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง
ปี 2553 ถกเถียงมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ก่อน และยังต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ
จากจุดนี้เองนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด ทำหน้าที่จัดทำบัญชีประเภทโครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2
กพร.เอาการประชุมเมื่อ 29 ต.ค.2553 ที่โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี ที่มีการเกณฑ์ชาวบ้านมาจำนวนมาก อ้างเป็นเวทีชี้แจงรังวัดปักหมุดกับประชาชนแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่โครงการยืนยันว่าไม่ใช่
วันถัด 30 ต.ค. ถึง 1 พ.ย. คนของ กพร.กับคนของบริษัท ก็ดอดเข้าพื้นที่ไปรังวัดปักหมุดขอบเขตแผนที่ ระหว่างนั้น 31 ต.ค. อธิบดี กพร.จัดแถลงข่าวให้ครบสูตรว่า ทำการรังวัดปักหมุดเขตพื้นที่ขอประทานบัตรในเขตอุดรใต้ 4 แปลง 26,446 ไร่ เสร็จแล้ว ไร้ปัญหา
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการไปลงชื่อรับเงินค่าลอดใต้ถุนบ้านไร่ละ 1,000 บาท หนำซ้ำสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ออกหนังสือราชการลงวันที่ 3 พฤศจิกายน ประชาสัมพันธ์ช่วยส่งไปยังนายอำเภอเมือง นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และผู้นำชุมชนในพื้นที่ดำเนินโครงการอีกด้วย
ตัวเงินนี้จะก่อความแตกแยกในชุมชนอีก และสร้างความชอบธรรมแก่บริษัท
ข่าวว่าตอนนี้ กพร.ก็กำลังระดมนักวิชาการฝ่ายตัวเองสรรหามาจัดทำ SEA เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ครบสูตร
สังคมมาตรฐานเดียวใครเขาจะเชื่อ เพราะเป็นมาตลอด ขบวนการ "ลีกไก่" ขบวนการ "ล็อบบี้" มีอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ระบบราชการแบบล้าหลังในโครงการอยุติธรรม ที่สวนทางกับแนวทางปฏิรูปประเทศไทย และจะเป็นเงื่อนไขเกิดความรุนแรงอีกในไม่ช้า
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น