"ณรงค์" เผยกรรมการปฏิรูปวิพากษ์ "ประชาวิวัฒน์" แค่หาเสียง หวังสร้างกระแสทางการเมือง เมินแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เตือนเสนอจัดลำดับก่อน-หลัง
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูป ในชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน วิเคราะห์ถึงโครงการ "ประชาวิวัฒน์" ของรัฐบาล ที่ออกมาว่านโยบายดังกล่าวไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายและหลักการดี แต่วิธีการต้องทบทวน เพราะเป็นการทำในเรื่องที่จะให้ได้คะแนนเสียงมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างในระยะยาว เช่น การแก้ปัญหา พ่อค้าแม่ค้า รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นนโยบายที่ออกมา เพื่อสร้างกระแสทางการเมืองมากเกินไป
"คำถามคือเมื่อออกมาตรการมาแล้ว เงินที่จะนำมาใช้ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ต้องตรงเป้าหมาย ประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด ที่สำคัญ คือ จะต้องดูความจำเป็นก่อนและหลังด้วย อย่างปัจจุบันมี ลูกจ้าง คนในภาคเกษตร จำนวนมากที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเร่รับจ้างไปเรื่อย ไม่มีทั้งประกันสังคม และนายจ้างที่แท้จริงก็ไม่มี ทำไมรัฐบาลไม่เข้าไปดูแลตรงนี้ก่อน"
เขากล่าวว่า การประชุมในคณะกรรมการปฏิรูปช่วงที่ผ่านมา มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การเสริมพลังให้คนตัวเล็กมีอำนาจต่อรอง โดยต้องติดอาวุธทางความคิดให้กับคนกลุ่มนี้ แต่นโยบายของทุกรัฐบาลที่ทำออกมากลับเป็นไปในลักษณะหวังผลทางการเมืองในทางหาเสียงมากเกินไป ไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืน ถ้าเป็นแบบนี้จะเอาเงินจากไหนมาใช้ เพราะภาษีรัฐบาลเองก็ไม่กล้าปฏิรูป
ชี้แจกอย่างเดียวคนไม่เข้าใจว่าต้องมีภาระ
เขากล่าวว่า การจัดทำนโยบายแต่ละครั้งก็ต้องมีงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนมาใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษีที่มาจากคนทำงานที่เป็นคนชั้นกลาง จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่คนชั้นกลางจะต้องลุกขึ้นมา เพราะคนจนส่วนใหญ่จ่ายภาษีทางเดียว คือ ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนชั้นกลางจ่ายทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ส่วนก็นักธุรกิจกลับได้รับการลดหย่อนภาษีหลายด้าน
"ถ้าพูดถึงระบบสวัสดิการแล้วสิ่งแรก คือ ประชาชนที่ต้องการได้สวัสดิการจากรัฐ ต้องพร้อมที่จะซื้อบริการที่รัฐจัดให้ผ่านระบบภาษี คือ จะต้องยอมจ่ายภาษีแพง อย่างในยุโรปหลายประเทศเก็บภาษีสูงมาก แต่ของไทยเราไม่ได้ทำอย่างนั้น ทำให้คนเข้าใจว่าระบบสวัสดิการ คือ การที่รัฐบาลจะแจกอะไร ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ" นายณรงค์กล่าว
เสนอรัฐหาช่องจัดเก็บภาษีใหม่
นายณรงค์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบชำระภาษีประมาณ 8 ล้านคน แต่มีคนที่ต้องจ่ายภาษีประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือน และคนกลุ่มนี้เอง คือ คนที่เลี้ยงคนกว่า 60 ล้านคนของประเทศ หากเราต้องการช่วยเหลือคนจน ก็จะต้องยุติธรรมกับคนชั้นกลางที่จ่ายภาษีด้วย เพราะอย่าลืมว่าเกษตรกรบางคน เช่น ชาวสวนยาง ชาวสวนทุเรียนมีรายได้มากกว่าคนชั้นกลางเสียอีก แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่รัฐบาลก็ไม่กล้าไปแตะในเรื่องภาษี
นายณรงค์ มองว่าปัจจุบันมีภาษีหลายตัวที่รัฐบาลสามารถเพิ่มการจัดเก็บได้ เช่น ค่าภาคหลวงที่รัฐบาลจัดเก็บจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามารับสัมปทานปิโตรเลียม ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7-8% และเหมืองแร่ทองคำที่จัดเก็บ 2.5% ถือว่าต่ำมาก ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศจะจัดเก็บในอัตรา 30% ถ้าเพิ่มการจัดเก็บตรงนี้ได้ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาทต่อปี แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ
ขณะเดียวกัน ก็ควรทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน เพราะนอกจากนักลงทุนต่างชาติได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ก็ยังอาศัยช่องว่างทางธุรกิจโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ซื้อวัตถุดิบจากบริษัทแม่เข้ามาผลิตในราคาสูง แล้วขายสินค้าที่ผลิตเสร็จให้บริษัทแม่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ อย่างเช่น ตู้เย็นบางยี่ห้อขายให้บริษัทแม่ในต่างประเทศเครื่องละ 10,000 บาท แต่ขายในไทยเครื่องละ 40,000 บาท
"เชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลหรือพรรคการเมืองไหนกล้าทำ เพราะนักการเมืองเองก็ต้องอาศัยเงินจากนักธุรกิจ ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนกล้าให้ความรู้กับประชาชน จะบอกอยู่อย่างเดียวนโยบายของตัวเองดีที่สุด เป็นแบบนี้เหมือนกันหมดทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะไม่กล้าที่จะให้ประชาชนเรียนรู้ เพราะกลัวว่าถ้าประชาชนรู้แล้วจะลุกขึ้นมาต่อสู้"
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น