--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"อภิชาต"ตั้งทีม ก.ม.ศึกษาหาช่องยื่นยุบปชป.ใหม่

“อภิชาต”ตั้งทีมก.ม.ศึกษาคำวินิจฉัยศาลรธน.กรณียกคำร้องคดียุบปชป.หาช่องดำเนินการใหม่ ขีดเส้น 30 วันเสร็จ

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และนายทะเบียนพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กกต.ได้ให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจากกรณีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านและเงินบริจาค 258 ล้าน ไปศึกษาก่อนพิจารณาว่าสามารถที่จะยื่นเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งได้หรือไม่ ซึ่งกกต.ได้ส่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนเงินกองทุน 29 ล้านให้กับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายไปดูแล้ว แต่ในส่วนของคำวินิจฉัย 258 ล้านบาทนั้น กกต.ยังไม่ได้รับจากศาลรัฐธรรมนูญ หากได้รับเมื่อใดก็จะส่งให้กับคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ไปพิจารณาพร้อมๆ กัน

ขณะเดียวกันส่วนตัวก็ได้ให้คณะที่ปรึกษาของตนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปดูด้วยเช่นกัน เพราะการทำงานของตนเองมี 2 หน้าที่อยู่ในคนคนเดียว ดังนั้นก็ต้องดูให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายอภิชาต ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่า ประธานกกต.เป็นประมุของค์กร แต่เมื่อต้องกลายเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย ทำให้ต้องอยู่ตรงกลางระหว่าง กกต.ทั้ง 4 คน ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองควรเป็นบุคคลที่มีอำนาจเต็มของตัวเองด้วย ดังนั้นการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมาอยู่ภายใต้กกต. และเป็นบุคคลเดียวกับประธานกกต. มันสมควรหรือ โดยตนก็เห็นว่าควรจะปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองควรเป็นคนอื่น เพื่อจะได้ให้กกต.ทั้ง 5 คนคุมได้โดยอิสระไม่งั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองยังโดนกกต. 4 คนคุมอีก "

แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่กกต.มีมติเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมาให้ทำการศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบไปด้วย นายสุพล ยุติธาดา ประธานกรรมการ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายขวัญชัย สันตสว่าง นายเธียรชัย ณ นคร นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เป็นกรรมการ นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี เป็นเลขานุการ และผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย 1 เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยเบื้องต้นมติกกต.ให้เวลาในการศึกษา 30 วัน ซึ่งรวมไปถึงการมีข้อเสนอแนะให้กับกกต.ด้วยว่า จากคำวินิจฉัยดังกล่าว กกต.จะสามารถดำเนินการอย่างไรต่อไปได้ รวมถึงจะสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่อีกครั้งได้หรือไม่

สำหรับกรณีที่ประธานกกต.ไม่อยากจะเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยตำแหน่งนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการประชุมกกต.หลายครั้งที่ผ่านมา นายอภิชาต มักจะเอ่ยปากเป็นประจำว่าไม่อยากจะรับงานในหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมือง และจะมีวิธีการอย่างไรควรจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างไร เพื่อที่จะหาคนมาดูแลงานในหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยจะเป็นการจ้างมาทำงานคล้าย ๆ กับตำแหน่งเลขาธิการกกต.ได้หรือไม่ แต่ปรากฎว่า กกต.คนอื่น ๆ มองว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ประธานกกต.ต้องเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง

ดังนั้นจะไปแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าหากนายอภิชาต ไม่อยากทำหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ให้ลาออกจากการเป็นประธานกกต.ซึ่งก็จะทำให้พ้นจากตำแหน่งนายทะเบียนพรคการเมืองทันที แต่ก็เชื่อว่านายอภิชาต ไม่คิดที่ออกจากตำแหน่งประธานกกต.ซึ่งไม่ใช่ จริงเพราะติดปัญหาข้อกฎหมายที่กกต.ชุดนี้ได้รับแต่งตั้งจากคมช. และคำสั่งคมช.นั้นแต่งตั้งให้นายอภิชาต เป็นประธานกกต.เท่านั้น แต่คิดว่านายอภิชาต อยากจะอยู่ต่อเพื่อทำหน้าที่ในการสรรหาส.ว.ปีหน้ามากว่า เพราะเป็น 1 ใน 7 อรหันต์

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมกกต.ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกกต.โดยมีนักวิชาการและอัยการเข้าร่วมอยู่ในคณะทำงานเพื่อศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติให้ยกคำร้องในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากข้อกล่าวหาใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนพร้อมกับรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทจากศาลรัฐธรรมนูญด้วยที่คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกกต.จะศึกษาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองยังแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายทะเบียนพรรคการเมืองจำนวน 3 คนเพื่อศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นคู่ขนานพร้อมกับคณะกรรมการทีปรึกษากฎหมายของกกต.ด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น