--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"วิกิลีกส์" เขย่าวงการทูตสะเทือนโลก ถึงคิวแฉ "ความลับธุรกิจ" ภารกิจถัดไป

การแฉข้อมูลทางราชการของวิกิลีกส์เท่ากับส่งสัญญาณเตือนไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ว่า "คุณอาจเป็นรายต่อไป"
ประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์นี้หนีไม่พ้นกรณีที่ "วิกิลีกส์" (Wikileaks) เว็บไซต์จอมแฉออกมาเขย่าแวดวงการทูตด้วยการเปิดเผยเอกสารลับที่เรียกว่า "เคเบิล" หรือข้อมูลลับทางการทูตระหว่างสถานทูตสหรัฐที่อยู่ทั่วโลกกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งรั่วไหลออกมาจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในของกองทัพมะกัน


 
ข้อมูลที่ปรากฏสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะได้เปลือยให้เห็นหลังฉากการทำงานด้านการทูตของสหรัฐ รวมถึงมุมมองแบบตรงไปตรงมาของบรรดานักการทูตอเมริกันที่มีต่อประเทศต่าง ๆ ทั้งมิตรและศัตรู ซึ่งบางครั้งก็ใช้ถ้อยคำแนวเสียดสีผู้นำของประเทศอื่น ไม่นับรวมคำสั่งที่ให้สอดแนมบุคคลระดับผู้นำและนักการทูต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงการดำเนินการของสหรัฐที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ

 ด้านหนึ่งปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า "ความลับ" อาจไม่เป็นความลับในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งประชาชนควรได้รู้ข้อมูลและการตัดสินใจด้านการต่างประเทศของรัฐบาล แต่อีกด้านหนึ่ง วิกิลีกส์อาจเป็นจุดเปลี่ยนวิถีทางการทูตไปจากเดิมที่ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานด้านการทูตที่ต้องการการเปิดกว้างและเชื่อถือได้

"จูเลียน แอสเซนจ์" ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์นำเสนอข้อมูลลับที่ได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดเผยการทำงานของกองทัพ ทั้งการเปิดปูมสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน จนมาถึงการแฉข้อมูลลับทางการทูต และล่าสุดมีข่าวว่าเว็บจอมแฉเตรียมจะเปิดโปงข้อมูลลับในภาคธุรกิจเป็นลำดับถัดไป

 แอสเซนจ์กล่าวกับ "ฟอร์บส" ว่า เขาเตรียมจะแฉเอกสารของธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐต้นปีหน้า ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลในระดับผู้บริหารของธนาคารที่จะนำไปสู่การตรวจสอบและปฏิรูป เหมือนที่เคยเกิดกับกรณีของ "เอนรอน" ยักษ์พลังงานที่ล้มไปแล้วจากการฉ้อโกงของผู้บริหาร

 หลายธนาคารหนาว ๆ ร้อน ๆ กับคำสัมภาษณ์ของแอสเซนจ์ที่ออกมา ขณะที่หุ้นของ "แบงก์ออฟอเมริกา" ร่วงลงกว่า 3% เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งนี้อาจเป็นเป้าหมายของวิกิลีกส์ เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วแอสเซนจ์เคยกล่าวว่า เขามีข้อมูลที่ได้จากฮาร์ดไดรฟ์ของผู้บริหารแบงก์ออฟอเมริกา

 ขณะที่ "เอพี" ระบุว่า การแฉข้อมูลทางราชการของวิกิลีกส์เท่ากับส่งสัญญาณเตือนไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ว่า "คุณอาจเป็นรายต่อไป"

 นอกจากนี้การกระทำของวิกิลีกส์ได้จุดให้เกิดความเร่งด่วนสำหรับบริษัทในการจัดหาระบบความปลอดภัยด้านข้อมูล รวมถึงจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของคนภายในองค์กรซึ่งอาจนำข้อมูลไปปูดเมื่อเกิดความไม่พอใจ

โดยความเสี่ยงของบริษัท ได้แก่ ข้อมูลความลับที่อยู่ภายในองค์กร อาทิ อีเมล์ เอกสารต่าง ๆ ฐานข้อมูล และอินทราเน็ต ซึ่งบริษัทคิดว่าได้ล็อกไม่ให้รั่วออกไปภายนอกแล้ว บริษัทจึงเก็บข้อมูลการตัดสินใจต่าง ๆ ทั้งการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ความสนใจที่จะควบรวมกิจการ กลยุทธ์ที่จะต่อกรกับคู่แข่ง หรือการให้ผู้บริหารขายหุ้น

  บริษัทมีทางเลือกที่จะปกป้องความลับทางธุรกิจเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเซิร์ฟเวอร์ในการส่งอีเมล์เพื่อจำกัดวงผู้ที่สามารถส่งเอกสารได้ การห้ามคัดลอกเอกสาร บล็อกการดาวน์โหลดลงซีดี-รอม และธัมบ์ไดรฟ์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ตรวจสอบว่าข้อความในอีเมล์ของผู้บริหารถูกเช็กบ่อยครั้งเกินไปหรือไม่ แต่การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลก็อาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการผลิตที่ลดลงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น