--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รัฐทหาร

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ประจำปี 2553 ในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นการตอกย้ำสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่ายังมืดมนและน่าวิตกอย่างมากกับการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา

AHRC ระบุว่า ศอฉ. ใช้อำนาจราวกับประเทศไทยอยู่ในยุคของรัฐทหาร เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกบุคคลเข้าไปสอบสวนได้ตามต้องการ ผู้ที่ถูกเรียกต้องไปรายงานตัวในค่ายทหาร และถูกแยกสอบปากคำนานถึง 6 ชั่วโมงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงการแจ้งข้อหากับประชาชนโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนบางคนต้องรับโทษคุมขังจนถึงขณะนี้

AHRC ยังระบุถึงแผนผังล้มเจ้าที่ ศอฉ. นำมากล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ. ขณะนั้น ยืนยันว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับและห้ามบุคคลที่ถูกกล่าวหาเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่ไม่เคยนำหลักฐานดังกล่าวออกมาเปิดเผยเลย เช่นเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาลก็ถูกจับกุมด้วยการกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

AHRC จึงเห็นว่าอำนาจของ ศอฉ. ไม่ต่างกับการใช้อำนาจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือกฎหมายที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิจะโต้แย้งข้อกล่าวหาใดๆ ซึ่งขัดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ AHRC ยังระบุว่าเคยเรียกร้องให้สหประชาชาติลดความน่าเชื่อถือและเพิกถอนสิทธิการเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว เนื่องจากไม่ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการกรุงปารีสของสหประชาชาติ เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยขาดความเหมาะสมทั้งในเชิงองค์ประกอบและกระบวนการสรรหาบุคลากร โดยคณะกรรมการมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 1 คน นักการเมือง 2 คน และนักธุรกิจที่ติดบัญชีดำละเมิดสิทธิมนุษยชนจากคณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ ทั้งหมดไม่เคยมีประวัติอันเป็นสาธารณประโยชน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ยังได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

รายงานที่เผยแพร่ไปทั่วโลกยังถากถางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยว่าไม่น่าแปลกใจที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ผ่านมา

ที่มา. หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น