| ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
OCTOBER 09 ของ โอเพ่นบุ๊ค เล่มล่าสุด ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์ "ปราปต์ บุนปาน"
...ปราปต์ บุนปาน ผู้พยายามทำงานศิลปะควบคู่ไปกับงานข่าว ทั้งหนังสั้น เขียนบทความ และสถานะล่าสุดคือบรรณาธิการบริหารมติชนออนไลน์ ที่เขาต้องดูแลเกือบ 20 ชีวิต และเสาะหาที่ทางของตัวเอง เพื่อที่ความเชื่อส่วนตัวจะได้รับการถกเถียงแลกเปลี่ยน
ต่อไปนี้ คือ บทสัมภาษณ์ที่สะท้อนความคิดของคนทำสื่อรุ่นใหม่
คุณเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ แต่มาสนใจสื่อ ทั้งหนังสั้นและข่าว ทำไมจึงข้ามสายมาได้
กับมติชนออนไลน์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของครอบครัวที่อยากให้มาช่วยดูงาน แต่อีกส่วนหนึ่งผมเห็นว่าท้าทายดี เราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้หลาย ๆ อย่าง เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง คือเล่นการเมืองอีกแบบหนึ่ง พยายามนำเสนอความคิดทางการเมืองที่เราเชื่อ หรือพยายามเปิดพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย ในช่วงที่ผ่านมามันก็เห็นชัดขึ้นว่าสังคมไทยมีลักษณะอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความแตกต่างหลากหลายอาจเป็นพื้นฐานทางความคิดที่นำมาใช้ทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีกว่า
ส่วนภาพยนตร์นั้นผมสนใจมาตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์ รวมถึงวรรณกรรมด้วย จึงอยากลองทำดูด้วยมุมมองของเรา ถือเป็นวิธีคิดหรือการเข้าใจโลกอีกแบบหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ขยับเข้าประเด็นการเมือง ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ซึ่งสำหรับผม มันเป็นสถานการณ์ที่แหลมคมและสอดคล้องกับการทำหนังพอดี เพราะช่วงนั้นไม่มีช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้เราแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารดังกล่าว
พอมาเป็นเว็บไซต์ก็เป็นภารกิจส่วนตัวที่ผูกพันอยู่กับครอบครัว ตอนแรกผมยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง แต่พอเข้ามาแล้วก็เห็นว่าพอจะมีช่องทางอะไรบางอย่างที่สามารถทำได้ และมีผลกระทบต่อสาธารณะมากกว่า เพราะถ้าเป็นหนังที่ผมทำ คนดูจะอยู่แค่หลักร้อยหรือหลักพันเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของเรามีคนอ่านมากกว่านั้น และยืดหยุ่นได้มากกว่าหนังสือพิมพ์
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนรัฐประหาร ตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่
ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่ ก่อนหน้านั้นผมสนใจเรื่องวิชาการอย่างเดียว อ่านทฤษฎีใหญ่ ๆ โต ๆ อ่านวรรณกรรมทั่วไป แล้วก็ลองเริ่มทำหนัง รู้สึกว่าเป็นการทวนกระแสในแง่หนึ่ง
ทวนกระแสอะไร
ทวนกระแสการเมืองกระแสหลัก สมัยนั้นผมมักคิดว่าการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นการเมืองเชิงสถาบัน ซึ่งให้ความสำคัญเพียงแค่เรื่องของนายกรัฐมนตรี ส.ส. รัฐสภา หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนเท่านั้น แต่การเมืองแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันทุกมิติ รวมทั้งศิลปะ หนัง วรรณกรรม ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเป็นต้นมา สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคือช็อกว่าเมืองไทยมันกลับไปเป็นอย่างนี้อีกแล้วเหรอ หลังจากคิดว่าเหตุการณ์อย่างพฤษภาทมิฬ 2535 คงจบไปแล้ว คงจะไม่มีทหารออกมายึดอำนาจอีก แต่สุดท้ายก็กลับมา ผมก็เลยลองถามตัวเองถึงจุดยืนทางการเมืองที่เราคิดว่าเราทวนกระแสหลักอยู่ ทำให้พบว่าเราคงละเลยการเมืองเชิงสถาบันหรือเรื่องอำนาจรัฐไปไม่ได้ แต่เมื่อเราสนใจเรื่องศิลปะ ก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงศิลปะเข้าหาประเด็นหรือเหตุการณ์ที่เรากำลังช็อก จึงเริ่มทำหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น
ในช่วงที่มีกระแสเกลียดคุณทักษิณ ผมก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ ทั้งชายแดนใต้ ประชานิยมบางอย่าง และเรื่องฆ่าตัดตอน ตามกระแสสังคม แต่พอหลัง 19 กันยา มันน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กลายเป็นว่าคนใกล้ตัวเรากลับเป็นผู้สนับสนุนอำนาจที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นแค่กลไกหลักอันหนึ่งของเครือข่ายอำนาจดังกล่าว ขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างก็ดี คนชั้นล่างก็ดี พวกเขากลับพยายามท้าทายต่อต้านอำนาจที่มาจากรัฐประหารอย่างชัดเจน
อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยตั้งคำถามว่า ไม่แน่ใจว่าคนชั้นกลางที่ไปทำความสะอาดกรุงเทพฯ จงใจจะลืมเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนพันธุ์ใหม่ ซึ่งเราน่าจะทำการศึกษาต่อไป หรือว่าคนพวกนี้ถูกปิดหูปิดตาจนไม่เห็นอะไรเลยกันแน่ คือมีชีวิตที่ดีในกรุงเทพฯ แต่อยู่ดี ๆ ก็มืดบอด มองไม่เห็นอะไรเลย ผมคิดว่าคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ สัมผัสปัญหาหรือเรื่องบางอย่างได้
พูดตรง ๆ เลยก็คือ อย่างพวกเราคนชั้นกลางก็รู้ว่าสังคมกำลังเปลี่ยน และในความเปลี่ยนแปลงนั้นมันคงไม่ราบรื่น ทุกคนสัมผัสกับบรรยากาศได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนจำนวนมากรู้ เริ่มจับอารมณ์ตรงนี้ได้ คาดการณ์ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับเขาว่าจะเลือกอะไร บางคนอาจมองเรื่องเฉพาะหน้าไปก่อนเพื่อความอยู่รอด แต่เท่าที่ผมสัมผัส ผมรู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้มืดบอดขนาดนั้น หรือไม่ได้งี่เง่าขนาดว่า "พี่ไก่อูรูปหล่อจังเลย" หรือไม่รู้ไม่เห็นถึงการตาย คืออาจจะเริ่มเห็น แต่วิถีชีวิตหรือวิธีคิดของเขาทำให้เขาไม่สามารถหลุดออกจากกรอบบางอย่างได้
บอกชัด ๆได้ไหมว่าจุดยืนทางการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีสื่อในมือแบบในตอนนี้เป็นอย่างไร
ผมวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณเหมือนคนอื่นทั่วไป โดยเฉพาะกรณีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ หรือเรื่องตากใบ ผมคิดว่าสุดท้ายคุณทักษิณก็ต้องหลุดออกไปด้วยการถูกกดดันไปตามระบบ ซึ่งก็เห็นชัดว่าคุณทักษิณเป๋ไปแล้ว และก็ลุ้นว่าสังคมต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง แต่พอมีการยึดอำนาจ ผมจึงถามตัวเองว่าจุดยืนคืออะไร ก็คือต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของสังคม ต้องฟังเสียงของชาวบ้านไม่ใช่เหรอ การตัดสินใจไม่น่าจะอยู่ที่ชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียว ผมคิดว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม
พอลองปล่อยเวลาผ่านไปจนมาถึงปัจจุบันจึงยิ่งชัดเจนขึ้นว่า การที่คุณเลือกเส้นทางยึดอำนาจ มันไม่ใช่ทางออก มันไม่มีพื้นที่ให้คนธรรมดาหรือคนเล็กคนน้อยได้แสดงความเห็นหรือกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แม้กระทั่งการเห็นต่างก็ยังถือว่าน้อย ไป ๆ มา ๆ ปัญหาตอนนี้มันยิ่งกว่าสมัยคุณทักษิณอีก คือไม่เห็นทางไป
ข้อจำกัดที่ว่าคืออะไร
ก็อย่าที่รู้ ๆ กัน คือสังคมไทยมันเปลี่ยนไป เช่น คนในสังคมชนบทเริ่มปรับตัว พวกเขาไม่ได้ยังชีพอยู่ในภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย พวกเขาอยากมีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศหรืออยากมีส่วนแบ่งจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากกว่านี้ ขณะที่ประเด็นการบริโภคก็มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเหมือนกับคนชั้นกลางในเมืองทั่วไป แต่ชนชั้นนำบางกลุ่มพยายามจะยื้อความเปลี่ยนแปลงไว้ หรือทำให้มันไม่เปลี่ยน ด้วยกรอบคิดของพวกเขา พูดอย่างรว ๆ ก็คือ ต้องอนุรักษ์หรือรักษาสถานะดั้งเดิมไว้
โดยส่วนตัว ผมไม่ได้คิดว่าจะทวนกระแสอนุรักษ์ดังกล่าวไหวหรือไม่ไหว แต่เชื่อมั่นว่ามันมีพื้นที่ เราสร้างพื้นที่ใหม่บางพื้นที่ได้ เอาความคิดแต่แนวมาปะทะกัน หรือแม้แต่ใน มติชน ก็ยังมีความคิดสองด้าน บางส่วนอาจเห็นว่าคุณทักษิณเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของประเทศ แต่บางส่วนไม่ได้เชื่อแบบนั้น และสุดท้าย สำหรับการปะทะกันทางความคิด ความคิดอันไหนที่แหลมคมกว่าก็จะเห็นชัดกว่า ว่ากันถึงที่สุด ผมอาจจะจริงจังกับการสร้างพื้นที่มากกว่าการสร้างประเด็นอะไรขึ้นมา
ที่ผ่านมามีคนบอกว่าทำไมเว็บไซต์มติชนออนไลน์มันแดงจัง แต่ความจริงก็คือ ในบรรดาคนทำงานทั้งหมด มีที่ติดตามเสื้อแดงน้อยมาก นับนิ้วมือได้ไม่ครบด้วยซ้ำ คือที่ผ่านมาข่าวของเสื้อแดงมีความแหลมคม หรือมีวิธีคิดที่แตกต่างจากวิธีคิดกระแสหลักของสังคม เพราะส่วนหนึ่งคือสื่อของเสื้อแดงถูกปิด พื้นที่ในมติชนออนไลน์ที่มีเรื่องคนเสื้อแดงอยู่แล้วจึงยิ่งชัดขึ้นไปอีก คนก็เลยมองเห็นว่ามันแดง
โดยส่วนตัว เคยอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ไหม ก่อนจะมาทำสื่อออนไลน์ที่มันกำลังเติบโตขึ้น วิธีคิดของการเป็นนักหนังสือพิมพ์อาจจะเป็นเบ้าหลอมบางอย่าง หรือมันเชยไปแล้ว
มันก็มีบางส่วน ทั้งผมหรือคนทำงานส่วนใหญ่ในมติชนออนไลน์ จริง ๆ แล้วเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เข้ามาทำงานข่าวในออฟฟิศตรงนี้เลย ยังไม่ได้เป็นนักข่าวภาคสนามกันเลย ตัวผมเคยเป็นนักข่าวอยู่ประมาณหนึ่งปีตอนปี 2547 ช่วงแรก ๆ ข่าวของเว็บก็จะดึงมาจากหนังสือพิมพ์ แต่ขณะนี้ก็พยายามเปลี่ยนให้กลับไปสู่ระบบที่นักข่าวอายุน้อย ๆ ควรจะออกไปทำงานภาคสนามบ้าง เพื่อจะได้พบปะผู้คน
ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับการมองโลกด้วย เช่น ทีมงานบางส่วนจะไม่ได้ออกไป แต่ผมคิดว่าพวกเขาก็อาจจะได้เห็นโลกอีกด้านมากกว่า เราสามารถหาบทความบางอย่างจากเว็บไซต์อื่นมาลงได้ แล้วมันก็ทำให้เห็นโลกต่างออกไป จนคนข้างนอกบางส่วนเขามองเห็นก็เริ่มส่งบทความเข้ามา อย่างคุณวิจักขณ์ พานิช เคยส่งบทสัมภาษณ์เข้ามาหลายชิ้น คนอ่านก็จะเห็นโลกอีกเฉดหนึ่ง ซึ่งถ้าเราทำงานในลักษณะของหนังสือพิมพ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า
ผมรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์หรือสื่อกระแสหลักทั้งหมดตอนนี้มันถูกดูดเข้าไปหาชนชั้นนำโดยอัตโนมัติ ทั้งชนชั้นนำในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ หรือชนชั้นนำในองค์กรทางการเมือง ทิศทางข่าวของเขาจะเป็นแบบนั้น ต้องตามสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองฝ่ายค้านคนดัง ๆ หรือแกนนำ นปช. พอเป็นภาคธุรกิจก็ต้องเข้าหาผู้บริหารองค์กร
ช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุม เรามีนักข่าวที่ค่อนข้างเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุม เราจับจุดนี้ได้ ก็เปิดโอกาสให้เขาไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม แล้วเขาก็ทำออกมาได้น่าสนใจ คนอ่านก็เยอะ แต่สำหรับหนังสือพิมพ์ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะมีข้อจำกัดอะไรบางอย่างหรือไม่ ถ้าจะนำเสนอประเด็นอย่างนี้ นี่ยังไม่นับปัจจัยเรื่องอายุ คือสมมติว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน นักหนังสือพิมพ์ที่รีไรต์ข่าวข้างในออฟฟิศก็อาจจะเป็นคนรุ่นอายุ 30-40 ปีขึ้นไป และเขาก็อาจจะมีมุมมองต่อโลกอีกแบบหนึ่งด้วย เช่น คนรุ่นเราอาจเชื่อและเข้าใจได้ว่าความจริงมันมีหลากหลาย แต่คนทำหนังสือพิมพ์ระดับอาวุโสจำนวนมากก็คงไม่สามารถทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดายหรอก สำหรับคนอายุ 40 ปลาย ๆ ถึง 50 มันอาจไม่ใช่เรื่องที่เขาจะเข้าใจได้
เข้าใจว่า ?
ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้สมัยใหม่บางอย่างที่สามารถนำมาใช้อธิบายหลาย ๆ ปรากฏการณ์ในสังคมไทยยุคปัจจุบันได้ เท่าที่สัมผัสมา ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สำหรับคนในอีกรุ่นอายุหนึ่ง เราอ่านหนังสือหรือเรียนหนังสือมา แม้เราเองจะรู้สึกว่าพอจะเข้าใจในเรื่องนี้ แต่การอธิบายก็ยังต้องไปค้นหาหรืออ้างอิงกับหนังสือหรือหนังจากตะวันตก
ผมคิดว่าความจริงอันหลากหลายหรือชาติไม่ได้มีหนึ่งเดียว ไม่ได้เป็นสิ่งจริงแท้ตามธรรมชาติ แต่เป็นประดิษฐกรรมของสังคมสมัยใหม่ มันเพิ่งมาอธิบายได้ในสังคมไทยเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ด้วยกรณีตัวอย่างในสังคมไทยเอง ทั้งในแง่การเมืองหลัง 19 กันยา การเกิดขึ้นของเว็บบอร์ดทางการเมืองต่างๆ การแพร่กระจายของคลิปวิดีโอจำนวนมากท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เราสามารถนำแนวคิดสมัยใหม่พวกนั้นมาอธิบายได้หรือกรณีสามจังหวัดภาคใต้ คนรุ่นผมสามารถทำความเข้าใจกับมันได้
ด้วยคู่มือบางอย่าง ขณะที่คนรุ่นก่อนหน้านี้เขาอาจไม่มีเครื่องมือนี้ แต่จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาก็โตมาในอีกสภาพหนึ่ง ข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ หลายคนก็ยังติดความเป็นชาตินิยมอยู่ ยังพาดหัวสรรเสริญทหารกล้าและประณามโจรใต้อยู่ เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่เราจะค่อย ๆ เข้าไปแลกเปลี่ยน คือยังไม่ต้องถึงกับเปลี่ยน แค่เข้าไปแลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ยิ่งสภาวะปัจจุบันยิ่งค่อนข้างยาก
เครื่องมือที่คนรุ่นคุณค้นพบและสามารถนำไปใช้ได้ในบางกรณีคืออะไร
คือการทำความเข้าใจโลก สุดท้ายแล้วผมคิดว่าอย่างน้อยการเชื่อในเรื่องความหลากหลาย ทำให้เราไม่ฝากความหวังไว้กับคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว ไม่เชื่อว่าสังคมจะอยู่ได้โดยมีอำนาจนำโด่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถแตะต้องได้เลย ซึ่งในปัจจุบันผมคิดว่าความเชื่อแบบนั้นมันไปไม่รอด โดยเฉพาะคนที่เป็นสื่อ ถ้าคุณเชื่อแบบนั้น มันจะทำให้อำนาจนำยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น และสังคมไทยก็ไม่เปลี่ยนไปไหน
ผมยังเห็นความหวังอยู่ หากมองไปที่คนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีที่ทางเป็นของตัวเอง แม้จะไม่มีสื่อในมือ แต่การตั้งคำถามของเขาเท่าที่ผมเห็นในเว็บบอร์ดหรือในเฟซบุ๊ก มันทำให้เห็นว่ามีคนที่รู้เท่าทันและกำลังต่อสู้ในสิ่งที่เขาเชื่ออยู่จำนวนมาก
คุณพูดถึงนักหนังสือพิมพ์รุ่นอายุ 40-50 ขึ้นไปบางส่วน ซึ่งวิธีการมองโลกอาจจะเป็นเรื่องชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พวกเขาอยู่ในองค์กรสื่อกระแสหลักที่เป็นทุนนิยม ก็น่าจะเชื่อในความหลากหลายมากกว่าไม่ใช่เหรอ
มันคล้าย ๆ กับว่าสังคมไทยมีสภาวะอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ด้านหนึ่งเป็นทุนนิยม ดูเหมือนจะก้าวหน้า มีการสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ต แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็เห็นอยู่ตลอดในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ในขณะนี้มันอาจจะป็อปปูลาร์ก็จริง แต่มันก็มีการล่าแม่มดในนั้นด้วย หรือกรณีมาร์ค V11 ในอะคาเดมี แฟนเทเชีย ก็เป็นประเด็นที่โบราณมาก
ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับมติชน ในช่วงเหตุการณ์ตึงเครียดก็คือ เรานำเสนอเนื้อหาของคนเสื้อแดงบางส่วน ทั้งทางเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็นข่าวสด ในทางธุรกิจ ปรากฏว่ายอดขายหนังสือพิมพ์ของเราเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าพอใจ ขณะที่เว็บไซต์ก็มีคนอ่านเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่กลายเป็นว่ามีเสียงสะท้อนมาจากฝ่ายโฆษณาว่าเขามีปัญหา บริษัทเอเจนซี่ก็บ่นว่าทางเราแดง แต่ถ้าเราลองตั้งคำถามกลับไป โลกของโฆษณา โลกของทุนนิยม คุณให้ความสำคัญกับผู้บริโภคไม่ใช่เหรือ เมื่อเรามีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น คุณก็ควรจะให้โฆษณาตรรกะมันควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เขามองว่าเราเป็นแดง ก็เลยลังเลใจที่จะลงโฆษณา ซึ่งมันแปลกดี และเป็นเฉพาะในเมืองไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้
คุณทำความเข้าใจกับเรื่องแบบนี้อย่างไร
ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ ยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับมันได้มากนัก หรือว่าสุดท้ายเราต้องไปทำความเข้าใจกับเอเจนซีโฆษณา ว่าเราพยายามนำเสนอเนื้อหาของทั้งสองฝ่าย หรือมีเนื้อหาที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่ถูกกระทำในช่วงเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาบ้าง ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เพราะยิ่งคุณพยายามจะตัดโฆษณา คุณก็จะยิ่งไม่เข้าใจเหตุผลที่เรานำเสนอข่าวเหล่านี้ คุณมองราวกับว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนนอกระบบสังคมนี้ นอกโครงสร้างสังคมนี้เป็นคนแปลกแยก ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ คนเสื้อแดงจำนวนมากก็มีกำลังซื้อ เป็นคนในระบบทุนนิยม พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ไม่ได้ต่อต้านระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้
คนเสื้อแดงจำนวนมากแยกไม่ออกจากภาคการผลิตสมัยใหม่ถึงแม้จะเป็นเกษตรกร แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบ Contract Farming หรือจำนวนมากก็อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ ส่วนนี้มันเชื่อมกับโฆษณาที่คุณจะลงทั้งนั้น ส่วนปัญญาชนที่ถูกมองว่าเป็นแดงเขาก็ใช้แอร์หรือใช้รถไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า เขาก็ใช้ชีวิตอย่างนี้ทั้งนั้น แต่นี่อาจเป็นลักษณะสองด้านของสังคมไทย ในด้านหนึ่งก็ทุนนิยม ในด้านหนึ่งก็มีหลักยึดดั้งเดิมอะไรบางอย่างอยู่
แต่เรื่องทำนองนี้ นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่เขาอาจจะมองมันทะลุแล้วก็ได้ ส่วนเราอาจเพิ่งทำความเข้าใจอยู่
ก็เป็นได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าพอเราโตขึ้นจะกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มองเรื่องพวกนี้ทะลุหรือเปล่า อย่างที่พูดไปแล้ว ผมรู้สึกว่าบางทีการทำหนังสือพิมพ์ไทยอาจหมกมุ่นกับชนชั้นนำมากเกินไป ยิ่งพอมาเป็นผู้บริหารหรือระดับคนข้างในแล้ว โลกของคุณก็จะยิ่งอยู่บ้างในออฟฟิศ รับข่าวจากข้างนอก วันดีคืนดีก็จะต้องเจอชนชั้นนำ เราก็รู้สึกเหมือนกันว่าโลกมันก็จะยิ่งเล็กลง ๆ วันหนึ่งคุณก็จะกลายเป็นชนชั้นนำเสียเอง
แน่นอนว่าการคบหากับชนชั้นนำหรือการขยับตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นนำมันมีประโยชน์ในบางแง่ ทั้งการเข้าถึงแหล่งข่าว ซึ่งเราไม่สามารถตัดชนชั้นนำออกจากวงจรการนำเสนอข่าวได้ การเข้าถึงแหล่งรายได้ทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่าสังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคตการเลือกเกาะเกี่ยวกับชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียวเป็นหลัก จะเพียงพอสำหรับการทำงานในฐานะสื่อมวลชนหรือไม่ แต่สักวันผมคงเป็นแบบนั้น ถึงแม้ว่าในวัย 20-30 ปี เราจะมีความคิดอะไรอย่างนี้ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความคิดของเราอาจจะแคบสำหรับเด็กอีกรุ่นอยู่ดี คงหลีกไม่พ้น
ในขณะที่คุณเชื่อในความแตกต่างหลากหลาย และไม่เชื่อในอำนาจนำ แต่คุณอยู่ในองค์กรสื่อที่จริงจังกับการเปิดโปงนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซึ่งอาจจะมองข้ามบางประเด็นที่คุณสนใจไป คุณเรียนรู้มันอย่างไร
ผมยังโอเคนะ ถ้าโจทย์เริ่มแรกของเราตอนที่เข้ามาคือการหาพื้นที่ที่มันแตกต่างหลากหลาย เราก็คิดว่าสภาพของคนที่เข้ามาทำงานออนไลน์มันมีทั้งชอบสืบสวน บางคนชอบข่าวทั่วไป หรือบางคนก็ถนัดบันเทิงไปเลย
โดยแนวคิดทางการเมืองก็ไม่ได้มีปัญหา ต่างคนต่างยอมรับในประเด็นเฉพาะที่แต่ละคนสนใจ ถึงแม้คุณจะมีเนื้อหาไปทางเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหากัน เราก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวน อย่างพี่เก๊ (ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์) เขาก็ต้องหาพื้นที่ที่เขาจะแสดงความเชื่อของตัวเองออกมาเหมือนกัน ตำแหน่งของพี่เก๊คือรองบรรณาธิการอำนวยการของมติชน และเป็นบรรณาธิการข่าวให้มติชนออนไลน์ ทำให้มติชนออนไลน์เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากขึ้น ส่วนเราก็เป็นพื้นที่อีกมุมหนึ่งหรืออีกเฉดหนึ่งมากกว่า ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันได้
ทีมมติชนออนไลน์มีทั้งหมดกี่คน แบ่งเป็นฝ่ายชัดเจนหรือช่วยกันดู
รวมผมด้วยก็มีทั้งหมด 17 คน แต่รูปแบบมันยังไม่ชัด มีผมกับพี่เก๊ที่โผล่ขึ้นมา แล้วก็จะมีคนระดับหัวหน้าข่าว ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว แต่เดิมเขาทำอยู่ที่ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งคนเหล่านี้และนักข่าวอาวุโสอีก 2-3 คน จะผลัดกันทำหน้าที่หัวหน้าข่าวในแต่ละวัน นอกจากนั้นก็จะมีนักข่าวที่หมุนกันมายิงข่าวที่นักกข่าวภาคสนามของหนังสือพิมพ์ส่งเข้ามา และทำสกุ๊ปต่าง ๆ ที่ตนเองถนัดและสนใจ ที่แยกชัดหน่อยก็จะมีนักข่าวไว้แปลข่าวต่างประเทศ นอกนั้นก็รวม ๆ กันไป แต่บางคนก็มีความสนใจพิเศษ เช่น บางคนทำเรื่องบันเทิงได้ บางคนทำเรื่องกีฬาได้
จุดเริ่มต้นของเว็บไซต์มติชนออนไลน์ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนคือดังข่าวมาจากหนังสือพิมพ์แล้วยิ่ง SMS คือมีหน้าที่สองส่วน ตอนที่รับนักข่าวกลุ่มใหญ่ของกอง บ.ก.เข้ามาทำงานเมื่อสองปีก่อน พวกเขาก็เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ ๆ ตอนนี้อายุก็เกือบ ๆ 25 พอเขาเข้ามางานก็คืออยู่กับคอมพิวเตอร์เลย แต่ผ่านมานักพักเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรมา 2-3 ปี และจะขยับขยายไปไหนต่อ พอได้พี่ ๆ ระดับหัวหน้าข่าวมาเราก็สามารถให้พี่พวกนั้นมอบหมายงานให้กับนักข่าวรุ่นน้องกลุ่มนี้ หรือทำให้พวกเขามีเวลาไปแสวงหาประเด็นที่ตัวเองสนใจอยากจะทำได้
สิ่งที่คุณทำอยู่ตอนนี้คิดว่าสร้างชุมชนของการแลกเปลี่ยนได้แค่ไหน
ลักษณะเด่นของอินเทอร์เน็ตคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่มติชนออนไลน์ยังทำได้ไม่ดี ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว ซึ่งบางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับข่าว แต่เป็นด่าพ่อล่อแม่อะไรกันไป บางคนเหมือนไม่ได้เข้ามาอ่านข่าวนั้น ๆ แต่หวังจะมาโพสต์ความคิดเห็นของตัวเองที่ไม่เกี่ยวกับข่าวเลย ที่ผ่านมาก็ปิดการแสดงความคิดเห็นไป เพราะ ศอฉ.แจ้งเตือนมาเรื่องการแสดงความคิดเห็นของคนอ่านในบางข้อความ เราก็ตัดสินใจระงับไปก่อน แต่คิดว่าต่อไปอาจจะเปิดเป็นลักษณะของกระดานแสดงความคิดเห็น ซึ่งมันก็ท้าทายเราเหมือนกันในการที่จะช่วยสนับสนุนพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง
จะเห็นว่าบางครั้งมติชนออนไลน์ลงบทความหรือความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งคนอ่านทั่วไปอาจไม่คุ้น และเขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแผนผังล้มเจ้าของ ศอฉ. กรณีนี้คุณเอามาลงเองหรือเปล่า
ใช่ ผมเห็นว่ามันน่าสนใจ คนบางส่วนอาจรู้สึกแปร่ง ๆ หรือไม่สบายใจด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายเราก็เลือกมา ที่เลือกมาเป็นบทความวิจารณ์ นปช. หรือวิจารณ์รัฐบาลตอนที่มีแนวโน้มว่าจะล้อมปราบ เราก็เลือกความคิดที่แหลมคม ซึ่งก็สองจิตสองใจว่าจะเอามาลงดีไหม แต่ถ้าเราไม่ทำคนจำนวนมากก็ไม่มีโอกาสได้อ่านเหมือนกัน ผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นหนึ่งที่ท้าทาย คือเราจะทำอย่างไรให้คนอ่านเปิดรับความเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งคนในองค์กรเอง ที่จะมีโอกาสได้อ่านความเห็นที่พวกเขาไม่คุ้นเคย
ผมมีเพื่อน ๆ ทำนิตยสารหนังอยู่ฉบับหนึ่ง ก็สงสัยว่าทำไมเนื้อหามันเข้มข้นจัง พอได้พูดคุยจึงรู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาจะเชิญนักวิชาการมาคุยกับกอง บ.ก. เป็นระยะ ทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ณ ช่วงนั้น ๆ ไปจนถึงเรื่องยาก ๆ หรือประเด็นความรู้ใหม่ ๆ ในทางวิชาการ ผมรู้สึกว่าเข้าท่าดี ทำให้คนที่เป็นสื่อได้เปิดรับแนวความคิดต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น หรือมีวิธีการมองโบกแบบใหม่ ๆ ในขณะที่สังคมไทยมันเปลี่ยนไปหลาย ๆ ด้าน
แต่นั่นเป็นกอง บ.ก.ของนิตยสารที่มีคนจำนวนไม่มาก ส่วนมติชนทั้งองค์กรมันใหญ่ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าจัดอย่างนี้จะเป็นไปได้ไหม คงมีบางคนที่พร้อมและไม่พร้อมจะรับความคิดใหม่ ๆ พวกนี้เหมือนกัน
วัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในมติชนบ้างไหม
ผมคิดว่ามันน่าจะมี ตอนที่ผมเริ่มมาทำข่าว ก็มีคนให้เอกสารมาเป็นเอกสารอบรมแนวคิดทางสังคมการเมือง โดยมีอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี คุณเสถียร จันทิมาธร และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาบรรยาย เอกสารนั้นตอนนี้คงเกือบสิบปีแล้ว แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ผมไม่เห็นว่ามีระบบงานหนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นมาก็คือ รับเด็กรุ่นใหม่เข้ามา แล้วก็ส่งลงสนามเลย ขณะเดียวกัน คนข้างในก็อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น วิธีคิด วิธีการอ่านหนังสือ วิธีการมองโลก อาจจะไม่สอดคล้องลงรอยกันกับเด็กรุ่นใหม่เสียทีเดียว ผมไม่แน่ใจว่าเขาสื่อสารกันอย่างไร
ตอนที่สถานการณ์ยอดขายหนังสือพิมพ์เริ่มแผ่วลง หลายคนมักโทษว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าไปดูบล็อกของแต่ละคน ผมก็เกิดคำถามว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้วจริงเหรอ หรือเพราะว่าสิ่งที่หนังสือพิมพ์นำเสนอเป็นสิ่งที่เขาไม่สนใจ ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องอ่าน ทั้งในแง่ของข้อมูลและวิธีการเล่าเรื่อง
สิ่งเหล่านี้ต้องถามว่าเวลานี้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวสารได้ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่แค่ไหน หรือเผลอ ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะอ่านอะไรมากกว่าคนทำหนังสือพิมพ์เองด้วยซ้ำ หรือเผลอ ๆ เขาอาจจะรู้อะไรมากกว่านักหนังสือพิมพ์หรือเปล่า เพราะช่องทางในการเข้าถึงเนื้อหาสาระมันไม่ต้องคาดหวังเอาจากหนังสือพิมพ์เหมือนเมื่อก่อน ปัญญาชนส่วนหนึ่งก็หันไปใช้สื่อใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น ผมสนใจการเมืองผ่านแง่มุมศิลปะบันเทิง ตอนที่ทำหนังสั้นก็พยายามขบคิดและนำเสนอประเด็นการเมืองให้แนบเนียนเราจะยิ่งเห็นว่าตัวหนังมันมีอะไรที่ลึกขึ้น
แม้แต่เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่ว่าผู้กำกับจะตระหนักหรือไม่ แต่ผมเห็นว่ามีประเด็นเรื่องความตาย ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมันเชื่อมกับสังคมไทยปัจจุบันได้ นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กับความทรงจำที่มันหลอกหลอนอย่างไร ซึ่งสำหรับผม มันก็เหมือนกับเป็นการรำลึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องคอมมิวนิสต์ที่ภาคอีสาน ตัวละคนลิงผีมันคืออะไร บางคนก็บอกว่ามันคือุปลักษณ์ของคนรุ่นลูกที่เข้าป่า ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการประมวลความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ในบางแง่ หนังสั้นจำนวนหนึ่งที่ผมได้ดูก็กล้าพูดถึงประเด็นเสี่ยง ๆ มากขึ้น ผมก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะโยงประเด็นเหล่านั้นมาในพื้นที่ข่าวของเรา
เป็นไปได้ไหมว่าหนังสั้นจะมาอยู่ในมติชนออนไลน์
น่าสนใจ เพราะมันมีลักษณะแหลมคมของมัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะลงสื่อสาธารณะได้เต็มที่แค่ไหน แต่อยากลองดู
เป็นต้นว่า หนังสั้นเรื่องหนึ่งมีประเด็นที่แหลมคมเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการรับรู้อีกแบบหนึ่ง คนที่ชื่นชมก็คลิกถูกใจหรือโพสต์ข้อความกันไป แต่ถ้าอยู่ในมติชนออนไลน์ อาจจะมีการเรียนรู้ที่เข้มข้นกว่า
เฟซบุ๊กมันออกแนวเป็นเครือข่ายพรรคพวกกัน ถ้าชอบก็มีแนวโน้มว่าจะชอบต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็คงจะล่าแม่มดกันไปเลย
กรณีหนังสั้นหรือคลิปวิดีโอทางอินเทอร์เน็ต มีอยู่คลิปหนึ่ง เป็นผลงานของคุณก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์ทางด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งถ่ายบรรยากาศในตลาดนัดสีขาว แต่เสียงในคลิปมันเป็นเสียงยิงปืนและเสียงกรีดร้องในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แบบนี้ผมคิดว่ามันอาจจะท้าทายคนดูพอสมควร และนี่อาจเป็นอีกลักษณะเฉพาะหนึ่งของสื่อออนไลน์
อนาคตของมติชนออนไลน์จะกลายเป็นสถาบันเหมือนอย่างหนังสือพิมพ์ไหม
ในแง่ของการเป็นสถาบันอาจไม่จำเป็น ในแง่ของการเป็นคนทำสื่อ คุณอาจไม่ต้องอยู่นานถึงจะกลายเป็นสถาบันหลักอันมั่นคงก็ได้ ขอแค่วิธีคิดของคุณมันยังมีชีวิตอยู่ อย่างคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ไปทำรายการ ตอบโจทย์ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหน่อเนื้อที่มาจากวิธีสัมภาษณ์แบบที่ open เป็น และสุดท้ายถามว่า open ตายไหม ผมคิดว่าไม่ตาย แม้ตัวนิตยสารจะไม่อยู่แล้ว เหลือเพียงแค่การออกพ็อกเก็ตบุ๊ก รวมถึงวารสารต่าง ๆ อย่างเช่น ฟ้าเดียวกัน อ่าน ผมก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน แต่สิ่งที่พวกคุณทำได้คือสามารถบ่มเพาะความคิดให้แก่คนบางกลุ่มได้ ผมคิดว่าตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ ที่น่าสนใจก็คือ กลายเป็นว่าสื่อรุ่นใหม่ ๆ สามารถทำตรงจุดนี้ได้อย่างมีพลัง
คือไม่ได้แข็งตัวทางด้านรูปลักษณ์ แต่วิธีคิดมันอาจซึมลึก
ใช่ วิธีคิดอย่างนั้นมันซึมลึก ผมคิดว่าถ้ามองในภาพรวมของการเกิดสื่อใหม่ ๆ หรือการเกิดขึ้นของนิตยสารทางเลือกต่าง ๆ ผมคิดว่าแค่ได้นำเสนอความคิดหรือจุดยืนที่คนทำเชื่อออกไปสู่สาธารณะก็ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนคนที่ได้รับอิทธิพลแล้วจะนำไปสานต่ออย่างไร นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ผมคิดว่าคนอ่านกลุ่มนี้คงเข้มแข็งระดับหนึ่ง
ถ้าพูดในแง่ของหนังสือ ก็คือคนที่อ่าน ฟ้าเดียวกัน อ่านปาจารยสาร เชื่อมโยงมาถึงเรื่องหนังสั้น ผมคิดว่าเป็นคนกลุ่มใกล้ ๆ กัน หรือมีการเชื่อมโยงกันอยู่บ้าง และมันก็น่าจะมีเยอะอยู่ ส่วนหนึ่งผมยอมรับว่าพอเข้ามาทำมติชนออนไลน์ก็คิดถึงคนกลุ่มนี้เหมือนกัน เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย และเท่าที่สัมผัสด้วยตัวเองก็คิดว่าพอมาเพิ่มเติมองค์ประกอบบางอย่างเข้าไปในมติชนออนไลน์ ก็มีกลุ่มคนอ่านใหม่ ๆ เข้ามาเหมือนกัน เช่น กลุ่มคนบางส่วนที่เคยรู้จักจากแวดวงหนังหรือหนังสือ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคมบางส่วน
บางคนอาจจะรู้สึกว่าพวกที่อ่านนิตยสารทางเลือกทั้งหลายมันไม่เยอะหรอก มีอยู่ไม่กี่ร้อยไม่กี่พัน แต่พอมารวม ๆ กันแล้วก็เยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเติบโตมาในลักษณะปัญญาชน เป็นคนที่อาจจะสามาถรคิดเขียนหรือทำงานด้านสังคมการเมืองอย่างจริงจังต่อไปได้ ก็มีคนกลุ่มนี้ที่ผมคิดว่ามีพลังพอสมควร
มองไม่เห็นจุดอ่อนเลยหรือ
ผมรู้สึกว่าจุดอ่อนของคนกลุ่มนี้ก็เหมือนกับคนอีกหลายกลุ่ม คือ การมีโลกของตัวเอง อย่างหนังสั้น ต่อให้ประเด็นดีแค่ไหน มันก็อยู่แค่นั้น มันจะซึมลึกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง อย่างมากก็หลักพัน มันไม่เคยหลุดไปถึงเวทีที่มีผลต่อคนในวงกว้างเลย หรือหากพูดถึงหนังยาว อย่างหนังของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผมก็ไม่เห็นว่าแวดวงอื่น ๆ จะมองมันอย่างไร รู้สึกกับมันอย่างไร แม้แต่งานวิจารณ์หนังของเขาก็ไม่หลากหลาย อาจจะมีงานดี ๆ สักชิ้นสองชิ้น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงคำวิจารณ์ในแง่ลบอย่างสมเหตุสมผล ที่ผ่านมา งานของคุณอภิชาติพงศ์ยังไม่ก่อให้เกิดงานวิจารณ์ดี ๆ มากเท่าไร
คุณเคยบอกว่าอารมณ์ขันและตลกร้ายจำเป็นสำหรับการสื่อสาร ประเด็นที่ยาก ๆ บางประเด็นมันหมายความว่าอย่างไร
มันเป็นวิธีการต่อสู้แบบหนึ่งของผม คือพูดตรง ๆ ไม่ได้โดยเฉพาะการเป็นสื่อกระแสหลัก ต้องหาวิธีต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ทำอยู่ แต่อาจเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่น ๆ หรือไม่ได้ทำเป็นประจำในเว็บไซต์
คือบางทีข่าวที่มติชนออนไลน์เลือกมาบางส่วน เช่น หลาย ๆ คอลัมน์เกี่ยวกับดารา ซุบซิบดาราฝรั่ง คนเขียนเขาก็มีธีมอะไรบางอย่าง ในงานแต่ละชิ้น เช่น ธีมการต่อต้านสังคมหรือต่อต้านบรรทัดฐานหลักของสังคม หากเราทำอะไรไม่ได้มาก ก็ต้องมาเล่นผ่านวิธีการเขียน วิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ถ้ามีก็มี หรือบางครั้งเราจะใช้ผ่านเพลง ผ่านคลิปวิดีโอก็ได้
ทำไมจึงเลือกที่จะใช้ comedy ทำไมจึงไม่ใช้ drama
หัวเราะใส่ผู้มีอำนาจมันได้ผลกว่าไปทำท่าอ้อนวอนเรียกร้องความเห็นใจ ถ้าใช้อย่างหลังมันอาจเข้าทาง ยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจมีอำนาจมากขึ้นไปอีก ถ้าเขาเกิดเล่นเป็น
สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา มติชนออนไลน์สรุปบทเรียนของตัวเองอย่างไรบ้าง
เท่าที่ผมได้ฟังจากเพื่อน ๆ คนอ่านบางคนเขาก็รู้สึกว่าแดงไป บางส่วนก็ไม่พอใจ แต่คนทำงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เอียงหรอก
ในแง่หนึ่ง สถานการณ์ช่วงนั้นทำให้เราได้เห็นคนทำงานชัดขึ้นว่า คนคนนั้นมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ต่อไปเราจะได้รับมือถูก ที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมืองมันก็อยู่แค่นั้น มันไม่ค่อยเกี่ยวกับชีวิตส่วนอื่นของเรา ไม่ค่อยเกี่ยวกับความเป็นเพื่อนของเรา แต่พอมันเข้มข้นขึ้นมามันก็เห็นผลเหมือนกัน บางคนแดงมาก บางคนไม่ชอบแดง เขาก็มีความรู้สึกว่าทำไมเพื่อนร่วมงานของเขาเป็นแบบนั้น แต่หลังจากนั้นแต่ละคนก็มีงานมีหน้าที่ของตัวเอง และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหากัน เช่น ใครอยากเขียนเรื่องแดง อยากพูดเรื่องแดง ก้ออกไปสัมภาษณ์ ก็ได้งานออกมาน่าพอใจ ส่วนใครที่เห็นใจทหาร เห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็ไปสัมภาษณ์ทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศการทำงานมันไม่คุกรุ่นเกินระดับ เพราะสามารถใช้งานมาปะทะกันได้
นอกจากนี้ เราก็ได้ทำหน้าที่ในส่วนที่หนังสือพิมพ์ไม่ค่อยได้ทำ คือในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์มีนักข่าวภาคสนามเยอะมาก แต่เรื่องของคนธรรมดาที่ไปร่วมชุมนุมกลับถูกพูดถึงน้อยมาก เราไม่ค่อยเห็นชีวิต ไม่ค่อยเห็นวิธีคิดของคนธรรมดาเท่าไร เพราะนักข่าวจะไปอยู่หลังเวทีเพื่อรอสัมภาษณ์แกนนำ นปช. กันเป็นส่วนใหญ่ มันก็นำมาสู่เรื่องของชาวบ้านผู้ร่วมชุมนุมที่นักข่าวมติชนออนไลน์ทำขึ้นเอง และอีกส่วนที่พยายามทำก็คือการแปลข่าวต่างประเทศหรือบทความที่น่าสนใจของนักวิชาการต่างชาติ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านักข่าวฝรั่งเขาจริงจังกว่าเรามาก แม้เหตุการณ์จะจบไปแล้ว แต่เขาก็ยังตามชาวบ้านไปถึงอุดรธานี ซึ่งเราไม่เห็นว่านักข่าวไทยจะทำอะไรตรงจุดนี้
ช่วงหนึ่งในแวดวงสื่อกลุ่มเล็ก ๆ มีการชูประเด็นเรื่องการทำข่าวในมิติทางชนชั้น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าสังคมไทยมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก แต่ในแง่หนึ่งอาจต้องมองวิถีชีวิตของคนแต่ละรุ่น อย่างคนทำสื่อในยุคนี้ที่กำลังเป็นบรรณาธิการของสื่อหลัก ๆ ทั้งหมด ก็เติบโตมาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา โตขึ้นมาในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เขาจะมีวิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งหลังจากป่าแตก แนวความคิดเรื่องชนชั้นอาจไม่มีพลังมากพอสำหรับพวกเขา แม้แต่คนที่เติบโตมาในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ภาพจำของพวกเขาก็อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ แต่เป็นจุดคลี่คลายมากกว่า
โดยรวมแล้ว คนทำสื่อรุ่นปัจจุบันเป็นคนชั้นกลาง เพราะองค์กรสื่อหลัก ๆ นั้นเป็นทุนนิยมหมดแล้ว คนทำงานในองค์กรจึงมีสิทธิที่จะขยับฐานะตัวเองขึ้นไปได้ และเผลอ ๆ อาจมีอภิสิทธิ์กว่าคนชั้นกลางทั่วไปด้วยซ้ำ และเมื่อทิศทางขององค์กรสื่อส่วนใหญ่มันมุ่งไปสู่ชนชั้นนำของทุก ๆ ภาคส่วน ข่าวที่มีมิติทางชนชั้นหรือการตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นธรรมของคนชั้นล่างก็ไม่มีน้ำหนักเท่ากับเรื่องของชนชั้นนำ
คุณสนใจศิลปะและอยู่ในโลกของข่าวสาร รวมทั้งยังต้องบริหารคนไปด้วย คุณรักษาสมดุลของตัวเองอย่างไร ไม่ให้กลายไปเป็นศิลปินสุดโต่ง หรือกลายเป็นนายทุนเต็มตัว หรืออาจกลายเป็นชนชั้นนำเสียเอง
ผมไม่ได้ชอบออกงานสังสรรค์กับใครมากมาย เพราะฉะนั้น มันระวังได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรร เช่น เวลาที่เจอกับคนทำงาน มันก็ได้เห็นความหลากหลายในตัวคนที่ไม่ได้คิดเหมือนกับเรา เราจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้ หรือกับเพื่อนก็ขึ้นอยู่กับประเด็น เพื่อนที่คุยกันจริง ๆ เป็นเพื่อนที่เจอกันด้วยเรื่องหนังมากกว่า หรือเป็นเพื่อนที่ติดพันมาตั้งแต่ตอนเรียน ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองมันก็มีผล แต่ไม่ถึงกับตัดขาดเพื่อน บางคนก็เข้าใจว่าต้องรักษาระยะห่างกันไว้บ้าง แต่ไม่ถึงกับตัดขาดกัน เราพยายามจะรักษาความสัมพันธ์กันไว้ และพยายามหาพื้นที่ให้ชีวิต หรือไม่ให้จมไปกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือจมอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากแสดงความคิดเห็น อาจจะอยากคุยเรื่องหนังสือหรือเรื่องหนัง เราก็ไปคุยกับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งได้เลย
นิสัยหรือความสนใจของคุณ ทำให้มีปัญหากับเครือญาตหรือรุ่นพี่อาวุโสบ้างไหม กระทั่งเคยตั้งคำถามกับพ่อ (ขรรค์ชัย บุนปาน) ในบางเรื่องที่คิดต่างกันบ้างไหม หรือว่าต่างคนต่างทำงาน
ต่างคนต่างทำงานมากกว่า เพราะโดยนิสัยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว หรือไม่ได้สุงสิงกับใครบ่อยนัก เรามีกรอบอยู่ส่วนหนึ่ง ก็ยืดหยุ่นบ้างเวลาเจอกับคนอื่น แต่ทัศนคติชัด ๆ ของผมมันอยู่ในงานเขียนอยู่แล้ว
ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับยังไม่กล้าเผชิญกับอะไรตรง ๆ เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าถ้าเราเลือกกล้าหาญเปิดตัว กล้าเผชิญอะไรไปเลย มันจะเป็นอย่างไร
ความท้าทายก็มีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง
มันก็มีอะไรอีกเยอะที่สามารถเดินต่อไปได้ หรือยังเดินไปไม่ถึงสุดทางที่ควรจะไป
ไม่จำเป็นต้องชนกับสิ่งที่ไม่จำเป็น
เท่าที่เห็นอนาคตของสังคมไทยอยู่ราง ๆ สุดท้ายแล้วคนรุ่นเราก็ต้องเลือกชนหรือเดินไปบนทางแยกสักทางในสักวันหนึ่งอยู่แล้ว
หรืออาจจะไปด้วยกัน
โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าเราจะต้องเจอกับภาวะปริแยกบางอย่างและที่ผ่านมา สังคมไทยในยุคปัจจุบันก็กำลังเผชิญหน้ากับภาวะนั้นอยู่แล้ว |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น