--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เทือกทวงสิทธิ์ นายกฯสำรอง

ข่าวสดรายวัน

หลังจากภาพของการอำลาชีวิตราชการ ทั้งตรวจแถวสวนสนาม งานเลี้ยงอำลา หลากหลายรูปแบบ

เข้าสู่เดือนตุลาคม ปีงบประมาณใหม่ แผงอำนาจของข้าราชการอีกชุด หลังจากชุดเดิมเกษียณราชการไป

ในแง่ของกองทัพ แม้หน้าตาของนายทหารจะเปลี่ยนไป แต่ฐานอำนาจของรัฐบาลคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

ปัญหาคือ ในแผงอำนาจทางการเมือง ที่เกิดความไม่แน่ไม่นอนขึ้นมา เมื่อพรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญศึกนอก คือ คดียุบพรรค ซึ่งอาจทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องโดนเว้นวรรค

ลุกลามกลายเป็นศึกใน เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค ประกาศลงสมัครซ่อม ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ว่างลง

เพื่อจะกลับมาเป็นส.ส.อีกครั้ง และมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ท่ามกลางเสียงเชียร์จากพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน

และเสียงฮึมฮำไม่เห็นด้วยจากบางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง



เป็นที่รู้ๆ กันว่า ความสัมพันธ์ของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์คู่นี้ คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไม่ได้ราบรื่นทีเดียว

นายสุเทพเคยประกาศไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จะผลักดันนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้

แต่นายสุเทพก็ล้มเหลว เพราะพรรคการเมืองคู่แข่งที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้มแข็งทั้งทุนและแนวนโยบายที่จับใจฐานเสียงกลุ่มใหญ่ที่ภาคเหนือและอีสาน

แต่สุดท้าย นายสุเทพก็ประสบความสำเร็จในการจับมือกับนายเนวิน ชิดชอบ ที่ผละจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะที่พรรคพลังประชาชนโดนยุบ

พลิกขั้ว ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ผลักดันนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จนได้

หลังจากเป็นนายกฯ จะพบว่ามีข่าวระหองระแหงระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพมาตลอด

เนื่องจากนายอภิสิทธิ์เกาะกลุ่มรวมตัวอยู่กับคนสนิทกลุ่มเล็กๆ และให้ความสำคัญกับนายสุเทพ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

โดยรวมแล้ว บทบาทผู้นำของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ อาจจะเป็นที่ประทับใจของบางกลุ่มในกองทัพ หรือแฟนคลับประเภทเสื้อสี ไปจนถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก

แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่รู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดี ผ่านการเล่นเกมการเมืองภายในรัฐบาลด้วยกันเอง และสัมผัสบุคลิกภาพของนายอภิสิทธิ์มาตลอดระยะที่ร่วมรัฐบาลกันมา กลับเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง

เมื่อโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง แม้จะยังไม่ชัดนัก แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ถือโอกาสส่งสัญญาณไปยังหัวหน้าพรรครัฐบาล

ด้วยการเคลื่อนไหวหลายอย่าง ทั้งการออกข่าวจะพลิกขั้วกลับไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมโดยที่พรรคแกนนำอย่างประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย

และการเตรียม "นายกฯสำรอง" จากคนในพรรคตัวเอง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ส่งสัญญาณกลับไปว่า ตัวเองมีนายกฯ สำรองหลายคนเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นนายชวน หลีกภัย นายกฯ สองสมัย หรือดาวรุ่งอย่างนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เพื่อนนักเรียนอังกฤษของนายอภิสิทธิ์

แต่ไม่มีการพูดถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลย

ทั้งที่นายสุเทพคือลูกหม้อของพรรค ผ่านงานสำคัญ ผ่านการอุทิศตัวให้พรรคมามาก

และยังมีความชอบธรรมในฐานะเบอร์สองของพรรค ด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรค

และเบอร์สองของรัฐบาล คือ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง



เมื่อนายสุเทพ ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม จึงส่งผลสะเทือนทันที

การรับลูกด้วยข่าวกระเซ้าเย้าแหย่จากภายในพรรค โดยเรียกนายสุเทพ ว่า "ท่านนายกฯ" ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปต่างประเทศ

การลงสมัครส.ส.ของนายสุเทพ หากมองในแง่ของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น

เนื่องจากนายสุเทพเป็นเลขาธิการพรรค จะต้องมีส่วนในการตัดสินใจของพรรคทุกขั้นตอน

หากไม่ได้เป็นส.ส. มีแต่ตำแหน่งทางการเมือง แล้วการเมืองพลิกผัน จะต้องมีการประชุมสภาผู้แทนฯ ประชุมรัฐสภา สถานะส.ส.ของนายสุเทพจะมีผลถึงระดับร่วมกำหนดตัวนายกฯ ได้

หรือแม้แต่เข้ารับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก็ได้เช่นกัน

นายสุเทพเป็นส.ส.อาวุโสหลายสมัย เป็นคนกว้างขวางในวงการเมือง ทั้งขั้วเดียวกันและต่างขั้ว ด้วยบุคลิกลูกทุ่งตรงไปตรงมา

การประกาศตัวลงสมัครและโยงไปถึงโอกาสเป็นนายกฯ จึงได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เข็ดเขี้ยวมาจากนายอภิสิทธิ์

และเห็นว่าวาระของสภาเหลืออีกเพียง 1 ปี ไม่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันหวือหวา

เมื่อนายสุเทพประกาศว่า พร้อมจะลงสมัครเลือกตั้งซ่อม โดยได้รับการสนับสนุนจากสาขาพรรคที่สุราษฎร์ธานี

จึงมีท่าทีไม่เห็นด้วยจากแกนนำพรรคบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม การหักหาญคนระดับเลขาธิการพรรค ย่อมไม่เป็นผลดีในภาพรวม มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคจึงต้องเปิดไฟเขียวให้นายสุเทพลงสมัคร

แต่กำหนดให้นายสุเทพ ลาออกจากรองนายกฯ ก่อน เพื่อป้องกันข้อครหาทางการเมืองและปัญหาทางกฎหมายที่จะตามมา

ในทางปฏิบัติ หลังเลือกตั้ง นายสุเทพจะได้กลับมาเป็นรองนายกฯ อย่างเดิม

มองในเชิงหลักการอาจจะเห็นว่าสวยหรู เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แสดงถึงความเคร่งครัดในหลักการมานานแล้ว ภาพที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนการเล่นแง่ชิงเหลี่ยมภายในพรรคมากกว่า

การลาออกจากรองนายกฯ ของนายสุเทพ จะส่งผลใหญ่หลวงต่องานประจำด้านความมั่นคงที่นายสุเทพนั่งหัวโต๊ะอยู่ ซึ่งมีทั้งเรื่องการดูแลสถานการณ์ การเบิกจ่ายงบฯ และการโยกย้ายแต่งตั้ง

และนายอภิสิทธิ์จะเป็นผู้ดูแลงานแทน ซึ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีบุคลิกและแนวคิดที่แตกต่างกัน แม้จะอยู่พรรคเดียวกันก็ตาม

การออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ของนายสุเทพ เพื่อไปลงเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ฟ้องถึงบรรยากาศแก่งแย่งช่วงชิงภายในพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนายอภิสิทธิ์จะไม่พูดจารับรองเกี่ยวกับการกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิมของนายสุเทพแล้ว

ยังมีมุขจากนายชวน หลีกภัย ที่กล่าวถึงโอกาสเป็นนายกฯ สำรองของนายสุเทพว่า "รอ ปชป.เป็นไข้หวัดนก ตายหมดพรรคก่อน" ซึ่งนายสุเทพคงจะขำไม่ออกแน่นอน

นับเป็นสถานการณ์ที่วังเวงทั้งสำหรับนายสุเทพ

และสำหรับรัฐบาลผสมโดยรวมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น