"กอร์ปศักดิ์" กล่อมบริษัทประกันยกสุดท้ายไร้ผล ลั่นให้กระทรวงยุติธรรมช่วยหนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากม็อบแดงฟ้องร้อง แถมช่วงคดีขึ้นศาล จะหาเงินกู้ให้เป็นทุนดำเนินการอีกก้อน เผยผู้ประกอบการ 45 ราย ทำประกันพันกรมธรรม์ มูลค่ากว่าสองแสนล้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านในเซ็นทรัลเวิลด์-บิ๊กซี ด้านสมาคมประกันฯ ยันจ่ายไม่ได้ ยืนกฎมาตรฐานเดียว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้บริหารบริษัทประกันภัยจำนวน 15 บริษัท หารือถึงความชัดเจนในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม แต่บริษัทประกันภัยยังคงยืนยันว่าไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประกอบการที่ทำเฉพาะประกันอัคคีภัยและการจลาจล แต่ไม่ได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย คณะกรรมการจึงจำเป็นต้องทำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้าช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการในการฟ้องร้องคดีกับบริษัทประกันเป็นกรณีๆ
นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนั้น ในระหว่างที่คดีอยู่ในช่วงฟ้องร้อง ซึ่งอาจใช้เวลา 4-5 ปี ก็จะเสนอให้ ครม.จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียหาย เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินงาน เมื่อผู้ชนะคดีแล้วก็จะได้นำเงินมาใช้คืน รวมทั้งจะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะทำอย่างไร โดยสัปดาห์หน้าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาพิจารณา จากนั้น ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ก็จะทำเรื่องเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยากจะเตือนนักธุรกิจและผู้บริโภคเวลาทำประกันควรดูความคุ้มครองให้ดี" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมีการทำประกันภัย 45 บริษัท จำนวน 1,005 กรมธรรม์ มูลค่าเงินเอาประกัน 190,822 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำประกันภัยที่มีวงเงินเอาประกันต่ำกว่า 5 ล้านบาท 614 กรมธรรม์ มูลค่าเงินเอาประกัน 1,057.98 ล้านบาท หากแยกตามพื้นที่ความเสียหายพบว่าผู้ประกอบการที่ทำประกันภัยไว้มากที่สุด คือผู้ประกอบการในเซ็นทรัลเวิลด์ บิ๊กซี และศูนย์การค้าเซน จำนวน 536 กรมธรรม์ คิดเป็นมูลค่าเงินเอาประกัน 91,965 ล้านบาท
"อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินเอาประกันทั้งหมด 190,822 ล้านบาท ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะผู้ประกอบการบางรายเสียหายเล็กน้อยบางรายเสียหายมาก จึงต้องมีการประเมินความเสียหายที่ชัดเจนอีกครั้ง"
ส่วนกรณีให้กรมสิทธิและเสรีภาพเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ทางกรมคุ้มครองสิทธิจะเข้าไปดูด้วยว่าสัญญาประกันภัยที่บริษัทประกันทำไว้กับลูกค้าเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากพบว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมก็จะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า สมาคมในฐานะตัวแทนบริษัทประกัน ยืนยันไม่สามารถจ่ายสินไหมได้ เพราะการดำเนินการของบริษัทประกันต้องให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหากรัฐบาลจะใช้ช่องทางศาลยุติธรรม และหากศาลชี้ขาดว่าต้องจ่าย บริษัทก็ไม่มีปัญหา ขึ้นกับดุลพินิจของศาล
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น