น่าแปลกที่กรณีตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องบิน “กริพเพน” ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วง 6 เดือนก่อนที่ “กริพเพน” จะเข้าประจำการในกองทัพอากาศ ตามภารกิจจัดหาเครื่องบินมาทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-5 ที่มีสภาพเก่าและล้าสมัย
น่าแปลกที่การตรวจสอบครั้งนี้ เป็นฝ่ายพลเรือน ทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และกรรมาธิการ(กมธ.) ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 เป็นผู้เรียก ผู้แทนจาก กองทัพอากาศเข้าชี้แจง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อเหมือนหนังเก่านำมาฉายซ้ำใหม่ เพราะการตรวจสอบทุกครั้งไม่สามารถชี้ให้เห็นว่าการจัดซื้อ “กริพเพน” มีการทุจริตจริงหรือไม่
กรณี “กริพเพน” แตกต่างจากกรณีจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางของ กองทัพบก ที่ยังติดหล่มไม่สามารถเข้าประจำการตามภารกิจจัดหาได้
ทั้งนี้ กรณีจัดซื้อ “กริพเพน”ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากกองทัพอากาศมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2550 หลังการลงนามจัดซื้อระหว่างไทยกับสวีเดน โดยกองทัพอากาศได้ชี้แจงเรื่องนี้ผ่านทั้งทางสื่อมวลชนไทยและต่างชาติ หรือแม้แต่การออกสมุดปกขาว เพื่อชี้แจงกับประชาชน
ทุกครั้งที่มีข้อสงสัยจัดซื้อ “กริพเพน” ทอ.ตอบข้อสงสัยได้หมด ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ ทอ.ต้องนั่งโต๊ะให้ ส.ส.ซักถามถึงข้อสงสัย
“เรื่องนี้เคยชี้แจงมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งกองทัพอากาศ ได้รับการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนประมาณเดือนตุลาคม 2550 ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2550 มีนิตยสารเสนอว่า ทอ.เสนอซื้อเครื่องบินกริพเพนราคาแพงกว่าปกติ ซึ่ง ทอ.ได้ให้สถานทูตสวีเดนทำหนังสือชี้แจงยืนยันราคากริพเพน มาให้เพื่อชี้แจงรายละเอียด” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. กล่าว
เป็นเหมือนการบอกให้ผู้ที่ทำการตรวจสอบและสงสัยในความไม่โปร่งใสได้เข้าใจว่าโครงการนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่อย่างที่ถูกต้องสงสัย
ขณะที่ในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอ.เข้าชี้แจง กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ซึ่งการชี้แจงครั้งนี้ ดูเหมือนจะถูกพลเรือนอย่าง ส.ส.ชำแหละงบจัดซื้อ จนบางครั้งถูกซักเข้ามากๆ ก็เล่นเอาทหารอากาศตอบคำถามไม่ได้
โดยเฉพาะการจัดซื้อ กริพเพน ในเฟส 2 อีก 6 เครื่อง ในปี 2554 ซึ่งผู้แทน ทอ.ระบุว่า การจัดซื้อครั้งหลังนี้ จะซื้อแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี (GtoG : government to government)โดยตรง ทำให้อนุ กมธ.ซีกพรรคเพื่อไทยซักว่า ที่อ้างว่าซื้อแบบรัฐต่อรัฐ มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการที่มีบริษัทนายหน้าคือบริษัท ซาบ อีกหรือไม่ ตัวแทนกองทัพอากาศไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนทำให้อนุ กมธ.ซีกพรรคเพื่อไทยหลายคนไม่พอใจ ยืนกรานคัดค้านการจัดซื้อในล็อตหลังและเสนอให้ยกเลิกทั้งหมดเพราะไม่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม อนุ กมธ.มีมติให้นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นผู้ประสานงานกับกองทัพอากาศเพื่อจัดทำข้อมูลรายละเอียดนำเสนอเพื่อเปรียบเทียบต่ออนุ กมธ.อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม
โดยกำหนดประเด็นการรวบรวมเพื่อนำเสนอ ได้แก่ 1.ประเทศไทยจำเป็นต้องซื้อเครื่องบินรบหรือไม่ ศักยภาพด้านการรบและการป้องกันประเทศในปัจจุบันของไทยเป็นอย่างไร มีความจำเป็น ต้องเสริมศักยภาพด้านการรบมากน้อยเพียงใด
2.หากจำเป็นต้องเสริมกำลังรบ จำเป็นต้องซื้อกริพเพนหรือไม่ ซื้อเพราะมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมอย่างไร ให้กองทัพอากาศจัดทำรูปแบบพัฒนาการของเครื่องบินขับไล่ เพื่ออธิบายเปรียบเทียบพัฒนาการการรบทางอากาศ และขยายรายละเอียดประสิทธิภาพของกริพเพน ตามที่กองทัพอากาศอ้างว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ทันสมัย กำลังพัฒนาให้เทียบชั้นเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-18 ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทางกองทัพอากาศอ้างว่าไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะสวีเดนเสนอถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การฝึกอบรมบุคลากรที่บริษัทแมคโดนัลด์ ดักกลาส แต่ผู้ผลิตเอฟ-18 ไม่มีให้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการฝึกอบรมบุคลากรนั้นตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการแล้ว 164 ล้านบาท
3.หากประเมินแล้วควรซื้อ จะซื้อในราคาเท่าไหร่จึงเหมาะสม หากเทียบกับที่สวีเดนเสนอขายให้แต่ละประเทศ ออปชั่นเสริมมีอะไรบ้าง ราคากลางในท้องตลาดจริงๆ ที่ไม่ใช่ราคาเสนอขายต่อประเทศต่างๆ อยู่ที่เท่าไหร่
งานนี้ต้องบอกว่า การทหารต้องแก้ด้วยการทหาร
ที่มา.บางกอกทูเดย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น