--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

‘มาร์ค วี 11’สอน‘มาร์ค ม.7’

วันนี้ผู้เขียนขอฝากคำกล่าวของ “ลุงโฮจิมินห์” นักต่อสู้ของชาวเวียดนาม ถึง “พลตรีจำลอง ศรีเมือง” หรือลูกจีนรักชาติว่า

“ข้าพเจ้ามีความปรารถนาสูงสุดอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือทำอย่างไรให้ประเทศของเราได้รับอิสรภาพ และประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริง เพื่อนร่วมชาติทุกคนมีข้าวกิน มีเสื้อผ้าใส่ และมีโอกาสได้ศึกษาร่ำเรียน”

นี่เป็นเสรีภาพและประชาชนมีการศึกษา ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องเรียนหนังสือมากๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับพลตรีจำลอง จาก “ไพร่คนไทยชาวอีสาน”

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวของเด็กที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงพอสมควร และอาจจะมากกว่านี้หากเด็กคนนั้นไม่รีบขอจบการเป็นข่าวเสียก่อน

ข่าวที่ว่าคือข่าวของ “มาร์ค วี 11” นายวิทวัส ท้าวคำลือ จากรายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย ขอลาออกจากการเข้าร่วมกิจกรรมในบ้านเอเอฟ เพราะถูกวิพากษ์อย่างหนักจากสังคมออนไลน์ เนื่องจาก “มาร์ค วี 11” ไปโพสต์ข้อความโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพถึงขั้นหยาบคายในเฟซบุ๊คของตัวเอง

บิดามารดาของ “มาร์ค วี 11” คงเล็งเห็นแล้วว่าหากจะให้ลูกชายอยู่ในบ้านเอเอฟต่อไปก็มีแต่จะตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้ที่ไม่ชอบ จึงให้ “มาร์ค วี 11” ลาออก ซึ่งคงต้องใช้เวลาทำใจอยู่พอสมควรจึงยอมละทิ้งความฝันของตัวเองลาออกจากบ้านเอเอฟ และในวันแถลงข่าวนอกจาก “มาร์ค วี 11” จะยกมือไหว้ขอโทษนายกฯผ่านสื่อแล้วยังบอกว่าหากเป็นไปได้อยากขอโอกาสพบนายกฯเพื่อขอโทษด้วยตัวเองอีก

การใช้ถ้อยคำไม่สุภาพผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต แม้คิดว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แต่การแสดงออกในที่สาธารณะซึ่งมีชื่อของตนเองปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค อาจกลายเป็นการประจานตนเองได้

ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นตามกระทู้ต่างๆที่ใช้นามแฝง หรือการขีดเขียนข้อความตามรั้วกำแพงหรือในห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สามารถทราบตัวคนเขียนได้ แต่นั่นก็ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกเศร้าใจกับพื้นฐานอารมณ์ ความคิด และการศึกษาของผู้ที่แสดงความคิดเห็นฝากไว้

อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ทั้งหลายว่า การจะพูดจาด้วยถ้อยคำไม่สุภาพอาจทำให้ผู้อื่นที่พบเห็นในเวลานั้นรู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่ได้ยิน แต่ก็เพียงชั่วครู่ เมื่อพูดจบก็จบกัน แต่การขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจะเป็นการประจานตัวตนของตนเองให้สังคมได้รับรู้รับทราบไปอีกนาน และอาจกระเทือนไปถึงครอบครัวอย่างกรณีของ “มาร์ค วี 11”

ขอเน้นย้ำว่าไม่ได้สนับสนุนให้เด็กทั้งหลายพูดจากันด้วยคำไม่สุภาพ เพียงแต่บอกว่าไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชม “มาร์ค วี 11” ที่กล้ายอมรับความจริง โดยไม่สนใจคะแนนเสียงที่จะโหวตให้จากการแข่งขัน และยอมทิ้งความฝันในการเป็นนักร้องเพื่อลดกระแสกดดัน

แม้นายกฯอภิสิทธิ์จะให้สัมภาษณ์ว่าไม่ถือโทษ และผู้บริหารบริษัททรูฯให้สัมภาษณ์เช่นกันว่าไม่ได้กดดัน “มาร์ค วี 11” ทั้งยังเปิดโอกาสให้อยู่ในบ้านเอเอฟต่อก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติมีหลายทางที่สามารถกดดันให้ “มาร์ค วี 11” ต้องออกอย่างนิ่มนวลได้ ไม่ว่าจะเป็นการโหวต หรือการปฏิบัติจากเพื่อนในบ้านเอเอฟ

การลาออกของ “มาร์ค วี 11” จึงเป็นการแสดงสปิริตของเด็กรุ่นใหม่ที่พึงมีและเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆได้จดจำ

ขณะที่หันมามองดูนายกรัฐมนตรี “มาร์ค ม.7” บ้าง แม้จนบัดนี้การชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ผ่านพ้นมาแล้วเนื่องจากการ “ขอพื้นที่คืน” และ “กระชับวงล้อม” ที่มีคนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน และล้มตายเกือบร้อยรายนั้น นายกฯมาร์คก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของสังคมให้ลาออก โดยที่ยังกอดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการคุ้มครองของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อย่างเข้มแข็ง

ถามว่ากรณีของ “มาร์ค วี 11” ให้ข้อคิดอะไรกับนายกรัฐมนตรีบ้างหรือไม่

คำตอบคือ คงต้องถามท่านในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” กันเอง และรออ่านคำตอบในหนังสือพิมพ์ ต้องรอให้ท่านไปเรียบเรียงคำพูดก่อน เรื่องนี้จะให้ตอบปัจจุบันทันด่วนคงไม่ได้

ที่ตอบไม่ได้เพราะคงต้องถามต่อไปอีกว่าก่อนหน้านี้เคยมีกรณีเด็กรุ่นใหม่โพสต์ข้อความโจมตีสถาบันจนถูกมหาวิทยาลัยถอดถอนจากการเป็นนิสิตของสถาบันแล้วถึง 2 รายเป็นอย่างน้อยคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวถึงมาแล้ว

ไม่ใช่จะมาประจานมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้เคยถามไปแล้วแต่ยังไม่ได้คำตอบจากผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การไล่ออกเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เป็นการเกาถูกที่คันแล้วหรือไม่?

เพราะการแสดงความคิดเห็นผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการสะท้อนความคิดของประชาชนได้ส่วนหนึ่งที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและในวงกว้าง

รัฐบาลจะใช้กระแสกดดันทางสังคมสร้างพ่อมดแม่มดออนไลน์ติดตามประณามคนเหล่านั้นทางสื่ออินเทอร์เน็ตแล้วจบกันเท่านั้นหรือ?

แล้วความเข้าใจผิดของคนในสังคม นายกฯจะแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องได้อย่างไร?

การปิดสื่อของฝ่ายตรงข้าม การให้ข่าวแต่ฟากฝั่งรัฐบาลโดยไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การแก้ปัญหาข่าวลือหรือลดความแตกแยก และช่วยการสร้างความปรองดองได้

หันหน้ามาเผชิญกับความจริงเหมือน “มาร์ค วี 11” แล้วจะพบว่าสังคมไทยยังพร้อมให้อภัยและมีทางออกให้เสมอ

บทเรียนของเด็กครั้งนี้สอนผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 269 วันที่ 24-30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์
******************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น