--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พลิกกฎหมาย ฟันธง!"จารุวรรณ"พ้นเก้าอี้ผู้ว่า สตง.แล้ว ประกาศ คปค.เป็นแค่ข้ออ้างอยากอยู่ในตำแหน่งต่อ?

"คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วหรือยัง?"
เป็นคำถามที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตั้งคำถามด้วยความสับสน

ทั้งๆที่คุณหญิงจารุวรรณ อายุครบ 65 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2553 ต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 34(2) กำหนดไว้ว่า ผู้ว่าการฯพ้นตำแหน่งเมื่อ "มีอายุครบ หกสิบห้าปีบริบูรณ์"

แต่เมื่อไม่อยากลุกจากเก้าอี้(ด้วยเหตุใดก็ตาม) คุณหญิงจารุวรรณก็หาข้ออ้างว่า ยังมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่ดูจากบันทึกเวียนของคุณหญิงจารุวรรณที่ทำถึงเจ้าหน้าที่ สตง.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 มีใจความว่า

"เนื่องจากยังมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบกับขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ....อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ในการบริหารราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 75/2552 เรื่อง แต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่ยุติเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน"

แต่ปรากฏว่า ในระหว่างนี้ มีกระแสข่าวว่า คุณหญิงจารุวรรณ ยังคงเข้าไปทำงานที่ สตง.ทุกวัน นั่งที่ห้องทำงานเดิม และใช้รถประจำตำแหน่งคันเดิม แม้จะมีรองผู้ว่าการ สตง.รักษาการอยู่

ทำให้เงาร่างของคุณหญิงจารุวรรณ ก็ทอดทะมึนเหนือสำนักงานแห่งนี้

มาดูกันว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 เขียนว่าอย่างไร คุณหญิงจารุวรรณ จึงหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมลงจากตำแหน่ง

"ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง(ผู้ว่าฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550)ยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน"

จากข้อความในประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว ที่ระบุว่า "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่การตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน"

น่าจะหมายความว่า "ผู้ที่"ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องมีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วย เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ห้ามเป็น ส.ส. ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ห้ามถูกคุมขังโดยหมายของศาล อยู่ในระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นบุคคลล้มละลาย วิกลจริตฟั่นเฟือน ตาย ลาออก อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ฯลฯ(ดูมาตรา 34 ประกอบมาตรา 28, มาตรา 29,มาตรา 32 และมาตรา 7)

มิได้หมายความสามารถทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ แม้บุคคลผู้นั้นจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างไรก็ได้ เช่น ถ้าคุณหญิงจารุวรรณเกิดโอนสัญชาติไปเป็นต่างด้าว ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกศาลสั่งจำคุกและไม่ได้รับการประกันตัวหรือถูกคดีถึงที่สุด แม้กระทั่งตายหรือลาออก ก็ต้องพ้นจากการทำหน้าที่อยู่ดี

เช่นเดียวกันเมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าการตำรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ก็เท่ากับการขาดคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะเป็นขาดคุณสมบัติพื้นฐานหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเสียแล้ว

ดังนั้นการอ้างประกาศ คปค.ที่ระบุว่า "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน"เพื่อจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำหน้าที่ต่อไปอาจจะมีความผิดฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นเรื่องน่าหัวร่อที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า คนๆหนึ่งมีความสำนึกในการทำหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองถึงขนาดนี้เชียวหรือ

ถ้ากลัวเช่นนั้น ก็มีวิธีแก้ง่ายนิดเดียวคือ ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งก็หมดเรื่องแล้ว เพราะคงไม่มีใครมาบังคับให้คนที่ขอลาออกจากตำแหน่งทำหน้าที่ต่อไปได้เหมือนกับการหนีทหารในยามสงคราม

แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิอของคนบางคน ที่ไม่ยอมจบ ไม่ยอมเลิกโดยไม่ได้พินิจดูอายุขัยของตัวเองว่า ร่างกาย สัญญา ย่อมเสื่อมไปตามสภาพที่เป็นจริง

หรืออาจเสื่อมจนสติฟั่นเพื่อนคิดว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า

ที่มา. มติชนออนไลน์
**************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น